26 ม.ค. 2020 เวลา 12:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หากใครเคยอ่านมังงะญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับการตกปลา อาจเคยเห็นการนำปลาที่จับได้ มาทาหมึกดำและพิมพ์ตัวปลาลงบนกระดาษ ก่อนจะปล่อยพวกมันกลับลงน้ำ สิ่งนี้คือศิลปะโบราณของญี่ปุ่นที่มีชื่อเรียกว่า "เกียวทาคุ" (Gyotaku)
เกียวทาคุ แปลเป็นไทยว่า "ภาพพิมพ์ปลา" ตามตำนานเล่าว่า เกิดขึ้นครั้งแรกโดยซามูไรที่ชอบตกปลาท่านหนึ่ง แต่จากหลักฐานที่พบ เกียวทาคุเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (สมัยเอโดะ) ซึ่งชาวประมงญี่ปุ่นจะนำปลาที่ตกได้ มาพิมพ์ด้วยหมึกดำลงบนกระดาษ เพื่อบันทึกลักษณะและขนาดของปลา โดยเป็นทั้งการเก็บข้อมูลและความประทับใจผลงานส่วนตัว
นอกจากการพิมพ์ภาพปลาลงบนกระดาษแล้ว มักจะมีการใส่ข้อมูลประกอบเข้าไปด้วย เช่น วันที่ พื้นที่ที่จับได้ สายพันธุ์ปลา (มักใช้ชื่อท้องถิ่น) รวมทั้งชื่อผู้เป็นพยาน ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำเกียวทาคุที่เก่าแก่ที่สุด พบว่าถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1839 ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดเมือง Tsuruoka (สึรุโอกะ)
รูปแบบดั้งเดิมของเกียวทาคุ จะถูกพิมพ์ด้วยหมึกสีดำ แต่ ณ ปัจจุบัน การทำเกียวทาคุถูกพัฒนาไปมาก ซึ่งผู้คนในสมัยนี้เริ่มกลับมานิยมเกียวทาคุอีกครั้งเพื่อการสร้างงานศิลปะครับ
โดยข้อมูลล่าสุดเผยว่า ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นำโดย Yasuke Miyazaki ได้ทำการสำรวจทั่วประเทศจนได้พบภาพพิมพ์เกียวทาคุ จำนวน 261 แผ่น จากจำนวน 325 ร้าน ซึ่งแต่ละภาพพิมพ์สะท้อนให้เห็นถึงชีวภูมิศาสตร์ของภูมิภาค รวมทั้งยังมีข้อมูลของปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า
"เกียวทาคุ เปรียบเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ของข้อมูลทางชีวภาพสุดล้ำค่ายังไงยังงั้น"
Miyazaki กล่าวว่า ในภาพรวมเกียวทาคุได้แสดงให้เห็นถึงสัตว์ท้องถิ่นในแต่ละชีวภูมิศาสตร์ ซึ่งทีมงานอยากจะแนะนำให้นักตกปลาชาวญี่ปุ่น ใช้วิธีเกียวทาคุ ร่วมกับการถ่ายภาพดิจิตอลต่อไป ทั้งเพื่อบันทึกความประทับใจในการจับปลา และยังเป็นประโยชน์ในแง่ของหลักฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตร่วมด้วย
#Fact
เทคนิคเกียวทาคุ แบ่งออกเป็น 3 วิธี
1.Chokusetsu-ho คือวิธีทั่วไปคือการพิมพ์ภาพปลา ด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษ
2.Kansetsu-ho คือการพิมพ์ด้วยผ้าไหมหรือผ้าอื่นๆ
ซึ่งจะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้น
3.Tensha-ho คือการพิมพ์ภาพปลาลงบนพื้นผิวที่แข็ง เช่น ไม้ หนัง หรือ พลาสติก ซึ่งทำได้ยาก และคนที่ทำเป็นก็มีจำนวนน้อย
อ้างอิง (Ref.)
โฆษณา