30 ม.ค. 2020 เวลา 05:31 • การศึกษา
The Happiness Advantage
เขียนโดย Shawn Achor
7 หลักจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณพบกับความสำเร็จและความสุขที่แท้จริง ส่งตรงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
หนังสือเล่าถึงงานวิจัยที่ลบล้างความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ว่าคนเราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อเราประสบความสำเร็จ แท้จริงแล้วความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ของการประสบความสำเร็จ แต่มันคือต้นกำเนิดต่างหาก การที่เราเฝ้ารอความสุขจะจำกัดศักยภาพของสมองของเรา ซึ่งต่างจากการที่เราฝึกให้ตัวเองเป็นมองโลกในแง่บวกจะทำให้เรามีประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์และทำผลงานได้ดีมากกว่า
ผู้เขียนเล่าถึงสมัยที่เขาใช้ชีวิต 12 ปีของเขาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทั้งตอนที่เขาเรียนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และการเป็นอาจารย์พี่เลี้ยง ที่นี่เต็มไปด้วยคนที่ฉลาดหลักแหลมระดับหัวกะทิของอเมริกา (และของโลก) แต่ว่าในความเป็นจริงที่นี่ก็เต็มไปด้วยนักศึกษาที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถหาความสุขในชีวิตได้ ทุกคนเต็มไปด้วยความกดดันที่จะต้องประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่จะสร้างความเครียดและความอึดอัดให้กับตัวพวกเขาเอง
Shawn ได้ทำการวิจัยศึกษาโดยการพูดคุยสอบถามกับนักศึกษามาออกแบบการวิจัยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจำนวน 1,600 คน ซึ่งนับเป็นงานวิจัยด้านความสุขครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยทำกับนักศึกษาฮาร์วาร์ด โดยได้ข้อสรุปออกมาแบบที่น่าประหลาดใจว่าทำไมบางคนสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และบางคนกลับตกต่ำกว่าศักยภาพที่ตัวเขามี โดยที่หลักการทั้งหมดนี้สามารถนำเอาไปปรับใช้ได้กับการทำงานทุกอย่างบนโลกนี้ทั้งชีวิตส่วนตัวและในการทำงาน Shawn ยังได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบรรยายหลักการเหล่านี้ และยังคอยติดตามผลจากการบรรยาย ซึ่งในทุกครั้งเขาก็ค้นพบว่า ทุกคนที่ได้เข้ารับฟังการบรรยายของเขามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แม้กระทั่งผู้ที่ทำงานในด้านกฎหมายและภาษี ที่จัดอยู่ในกลุ่มคนทำงานที่มีเเนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าจากการทำงานมากที่สุดด้วย และ Shawn สามารถสรุปออกมาได้เป็น 7 ข้อดังนี้
1.กลยุทธ์สุขไว้ก่อน
จากผลการวิจัยเมื่อไม่นานนี้ได้แสดงให้เห็นถึง “ปรากฏการณ์การขยายขอบเขต” แต่ก่อนเราเชื่อกันว่าเวลาเราเผชิญหน้ากับปัญหาหรืออันตราย สมองของเรามันจะถูกออกแบบไปให้หนีหรือเอาตัวรอดอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เท่านั้น แต่ในงานวิจัยบอกว่าการที่เรามีความสุขนั้น ความรู้สึกเชิงบวกจะไม่ได้จำกัดตัวเลือกในการตอบสนองของเราให้เลือกแต่หนีหรือสู้กลับ แต่ความสุขจะกระตุ้นให้สมองของเราหลั่งฮอร์โมนที่จะช่วยให้เราได้เปรียบในการแข่งขันอย่างฮอร์โมนโดพามีนและเซโรโทนิน ฮอร์โมนทั้งสองนี้ยังช่วยให้เรารู้สึกดีและยังเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย แถมยังช่วยให้เราสามารถจัดระบบข้อมูลใหม่ๆ จดจำข้อมูลได้นานขึ้น วิเคราะห์เรื่องที่ซับซ้อนและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นด้วย และยังมีงานวิจัยที่บอกด้วยว่าเวลาที่เรามีความสุขเราจะมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งในหลายบริษัทก็มองเห็นจุดนี้ พวกเขาจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความสุขแก่พนักงานของเขา เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นเกิดความคิดสร้างสรรค์และพร้อมที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่นที่กูเกิลสนับสนุนให้ทีมวิศวกรของเขาเอาสุนัขมาที่ทำงาน หรือ Yahoo ที่มีห้องสำหรับนวดให้กับพนักงาน
ซึ่งในแต่ละบุคคลก็จะมีวิธีสร้างความสุขที่แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายก็คือเราต้องสร้างความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นและเป็นบวก วิธีสร้างความรู้สึกดีก็มีหลายวิธี เช่น
-การทำสมาธิ การทำสมาธิเพียงแค่วันละ 5 นาทีก็เห็นผลแล้ว เราทำได้โดยในระหว่างการทำสมาธิ ให้เราพยายามรักษาจิตใจให้สงบสุข และมันก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างความสุขแถมยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของเราให้ดีขึ้นอย่างถาวรด้วย
-ค้นหาสิ่งที่ตั้งตารอ และนึกถึงมันเวลาที่คุณต้องการจะเพิ่มความสุขให้ตัวเอง
-ทำความดีด้วยความตั้งใจ มีงานวิจัยบอกไว้ว่าการที่เราได้ช่วยเหลือเพื่อนหรือคนแปลกหน้าจะทำให้เราลดความเครียดและทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นด้วย
-เติมพลังด้านบวกเข้าไปในสภาพแวดล้อม และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันความรู้สึกเชิงลบ เช่น การรับฟังข่าวร้ายบ่อยๆ ก็จะทำให้เรามีความสุขน้อยลง
-ออกกำลังกาย เพราะร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุขนั่นเอง
-ใช้เงิน(แต่ไม่ใช่กับการซื้อของ) การใช้เงินไปเพื่อซื้อประสบการณ์ และโดยเฉพาะการทำสิ่งต่างๆร่วมกับคนอื่นจะสร้างความรู้สึกเชิงบวกที่มีความหมายและยั่งยืนมากกว่าด้วย
-หยิบคุณลักษณะเด่นของตัวเองมาใช้ในแต่ละวัน เราจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ทำอะไรสักอย่างโดยใช้ทักษะที่เรามี
2.คานและจุดหมุน
เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่เราเจอได้ แต่เราสามารถที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เรามีวิธีตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไป เช่น การทดลองที่ญี่ปุ่นที่ให้นักศึกษา 13 คน เข้าร่วมโดยที่แจ้งกับนักศึกษาว่าผู้ทำการทดลงจะถูพืชที่มีสารพิษกับแขนขวาของพวกเขา (โดยใช้พืชที่ไม่มีพิษในการถู) ปรากฎว่าแขนของนักศึกษาทั้ง 13 คนก็มีอาการบวมแดงขึ้นมาจริงๆ แต่ในทางกลับกันผู้ทำการทดลองได้เอาพืชที่มีพิษถูแขนด้านซ้ายพร้อมกับบอกว่ามันไม่มีพิษ ผลคือมีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่แสดงการอาการแพ้ออกมา หรือแม้กระทั่งการกินยาหลอกหรือผ่าตัดหลอก นักจิตวิทยาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ทฤษฎีว่าด้วยความหวัง” ซึ่งก็คือความคาดหวังของเราทำให้สมองสร้างรูปแบบการตอบสนองแบบเดียวกับตอนที่เราต้องเผชิญเหตุการณ์นั้นจริงๆ และนำไปสู่ปฏิกิริยาที่แสดงออกทางด้านร่างกาย รวมไปถึงความเชื่อในเรื่องความสามารถของตัวเองด้วย ถ้าเราเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จและเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง เราก็มีแนวโน้มมากว่าที่จะประสบความสําเร็จในแบบที่เราคิดไว้ และความเชื่อในเรื่องความสามารถของตัวเองนี้ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไปตามความคิดของเรา แครอล ดเวค นักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ดได้ทำการวิจัยและแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มคือ คนที่มีวิธีคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) กับคนที่มีวิธีคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) ผลการวิจัยบอกว่าคนที่มีวิธีคิดแบบตายตัวจะพลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองและทำผลงานได้แย่กว่าเสมอ เเละคนที่มีวิธีคิดแบบพัฒนาได้จะมีความกระตือรือร้นและทุ่มเทมากกว่า
1
3.ปรากฏการณ์เตตริส
โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดภาควิชาจิตเวชศาสตร์ได้มีการทดลองให้นักศึกษา 27 คนเล่นเกมส์ตัวต่อเตตริสต่อเนื่องวันละหลายชั่วโมงติดต่อกันสามวัน ผลปรากฏว่าหลังการทดลองเสร็จไปหลายวัน ผู้เข้าร่วมการทดลองบางคนยังคงฝันถึงภาพตัวต่อที่ตกลงมาทั้งจากท้องฟ้า และทุกหนทุกแห่งแม้กระทั่งตอนที่ตื่นอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการทำงานของร่างกายเมื่อพวกเขาเล่นเกมส์ซ้ำๆ จนเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ภาพติดตาที่ฝังอยู่ในความคิด” นั่นคือผู้เข้าร่วมจะถูกภาพจากการเล่นเกมส์ที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเกิดภาพติดตาที่บดบังการมองเห็น ซึ่งในที่นี้ทำให้พวกเขาเห็นทุกอย่างเป็นตัวต่อเตตริสโดยไม่ตั้งใจ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสมองซึ่งทำให้เราบิดเบือนการมองสถานการณ์ต่างๆในชีวิตจริง และยิ่งถ้าเป็นในเรื่องของงานที่เราต้องคอยมองหาข้อผิดพลาดย่างงานตรวจสอบบัญชีหรือทนายความ สมองของคนเหล่านี้จะเคยชินกับการมองหาข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องจนติดเป็นนิสัย และถ้าคนเหล่านั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ พวกเขาก็จะนำนิสัยเหล่านี้ไปใช้กับด้านอื่นๆของชีวิตพวกเขา
แต่นิสัยการมองภาพติดตานี้เราก็สามารถเอามาใช้ในทางที่เป็นบวกได้ โดยฝึกให้สมองของเรามองหาและสนใจแต่เรื่องดีๆ และหนึ่งในวิธีง่ายๆในการฝึกก็คือ “การเขียนสิ่งดีๆ 3 อย่างในแต่ละวัน” ยิ่งเราฝึกจนเราเป็นคนที่สามารถมองสิ่งดีต่างๆเพื่อนำไปเขียนได้ เราก็จะกลายเป็นคนที่มองอะไรต่างๆในเเง่ดีในทุกๆสถานการณ์ที่เราเจอ สิ่งที่เขียนไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงจังหรือใหญ่โต แค่เขียนให้เฉพาะเจาะจงก็พอ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นกิจวัตร การมองโลกในเเง่ดีไม่ได้หมายความว่าเราจะมองข้ามเรื่องที่เลวร้าย แต่เป็นเพียงการมองโดยให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงก่อนต่างหาก
4.การล้มเพื่อก้าวหน้า
มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเรามองความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเติบโต เราก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างที่เราคาดหวังไว้มากขึ้น งานวิจัยจำนวนมากยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า คนเราบางส่วนเมื่อผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมากๆในชีวิตมักจะถูกเหตุการณ์เหล่านั้นกระตุ้นให้เติบโตขึ้นแบบ ปรากฎการณ์การเติบโตหลังประสบเหตุการณ์เลวร้าย (Post-Traumatic Growth) ซึ่งสิ่งที่กระตุ้นเราไม่ใช่ผลจากเหตุการณ์ แต่เป็นผลจากการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นของแต่ละคน คนบางคนเจ็บป่วยจากโรคที่ร้ายแรง พอหายเขาก็เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์มากขึ้น แถมยังเข้มแข็งและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
หนึ่งในการพลิกมุมมองเกี่ยวกับความล้มเหลวให้เป็นโอกาสได้คือ การตีความแบบ ABCD ซึ่งคือ เหตุการณ์เลวร้าย (Adversity) ความเชื่อ (Belief) ผลลัพธ์ (Consequence) และการโต้แย้ง (Disputation) เหตุการณ์เลวร้ายคือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความเชื่อคือสิ่งที่เรามีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลวร้าย นั่นก็ทำให้เราสิ้นหวังและไม่ทำอะไรจนอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่ตามมา เราจึงต้องแก้ไขด้วยข้อโต้แย้ง โดยการบอกกับตัวเองว่าสิ่งที่เราเชื่อไม่ใช่ข้อเท็จจริงพร้อมกับการข้อมูลมาสนับสนุนสิ่งนั้น
5.วงกลมโซโร
เวลาที่เราต้องจัดการงานหรืออะไรหลายๆอย่างที่มีความเครียดพร้อมกัน จะทำให้เรารู้สึกว่าเราควบคุมอะไรได้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันการจัดการกับเป้าหมายเล็กๆที่เรารับมือได้เป็นอันดับแรก จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้อีกครั้ง และพอเราพยายามทำอะไรสำเร็จ เราก็จะเริ่มสะสมความรู้ ทรัพยากรและความมั่นใจขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การที่นักจิตวิทยาค้นพบว่า การที่เรามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น หรือมีความสุขมากขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีอำนาจในการควบคุมมากแค่ไหน แต่มันคือการที่เราคิดว่าตัวเองมีอำนาจในการควบคุมมากแค่ไหนต่างหาก คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวจำนวนมากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อว่าอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆอยู่ในตัวเรา” นั่นคือการเชื่อว่าการกระทำของเราจะส่งผลต่อผลลัพธ์โดยตรง ส่วนคนที่เชื่อว่าอำนาจไม่ได้อยู่ในตัวเราก็มักมองว่าเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก อย่างเช่นคนที่ไม่เชื่อเรื่องอำนาจภายใน ถ้าไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ก็จะคิดว่าที่องค์กรของตนไม่มีใครเห็นผลงาน จนทำให้หมดกำลังใจและบั่นทอน ส่วนคนที่เขื่อว่าอำนาจเกิดจากภายในก็จะมองหาสิ่งที่ตัวเองพัฒนาได้และลงมือทำ ซึ่งผลการวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีความสุขในการทำงานมากกว่า แถมยังเป็นคนที่กระตือรือร้น ทุ่มเทพยายามเพื่อองค์กร ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่าด้วย
และยิ่งเราตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป จนไม่สมเหตุสมผลในโลกความจริง เมื่อเราทำไม่สำเร็จความรู้สึกล้มเหลวจะเข้าครอบงำสมองของเราด้วย แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ง่ายจนเกินไปจนเราไม่เกิดความท้าทาย เป้าหมายที่ดีควรเป็นอะไรที่ยากระดับปานกลาง และเมื่อเราทำสำเร็จเราจะรู้สึกดีกับสิ่งนั้น
6.กฏ 20 วินาที
จากการวิจัยมากมายที่บอกว่ามนุษย์เรามักจะทำอะไรก็ตามตามความเคยชิน เช่น การตื่นนอนแล้วไปแปรงฟัน การใส่เสื้อผ้าหลังจากอาบน้ำเสร็จ เพราะแบบนี้ถ้าเราต้องการให้การเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกอยู่กับเราไปนานๆ เราจึงต้องทำให้นิสัยเหล่านั้นกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน เราจึงจะทำสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องผ่านการคิด ความพยายามและการตัดสินใจ และการจะทำอะไรสักอย่างให้กลายเป็นความเคยชิน ก็เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราทำสิ่งนั้นต่อเนื่องและสมองของเราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาก็พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกันเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้น
เเต่การที่เราคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตตามความเคยชิน สมองของเราก็มักจะเลือกให้เราทำอะไรที่สบายและลำบากน้อยกว่าถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะให้ประโยชน์ต่อตัวเราน้อยกว่า เช่น คนเรามักจะเลือกนอนดูทีวีหรือเล่นเฟสบุ๊คมากกว่าไปออกกำลังกาย เพราะการไปออกกำลังกายใช้พลังงานที่จะไปทำมากกว่า ทั้งที่ผลการวิจัยบอกไว้ว่าถ้าเราไปออกกำลังกายเราจะมีความสุขมากกว่าถึง 4 เท่า
นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้าเราต้องการสร้างนิสัยใหม่ๆให้กลายเป็นความเคยชิน เราจำเป็นต้องลดพลังงานในทำสิ่งนั้น และถ้าเราอยากกำจัดความเคยชินใดๆ เราก็ต้องเพิ่มพลังงานในการทำสิ่งนั้น อย่างเช่นในประเทศสเปนต้องการให้คนบริจาคอวัยวะมากขึ้น เขาจึงเปลี่ยนจากระบบใครที่อยากบริจาคต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากในการกรอกเอกสารเป็นทุกคนจะได้บริจาคแบบอัตโนมัติ และใครที่ไม่ประสงค์จะบริจาคก็ไปทำเรื่องยกเลิกได้ทีหลัง ผลปรากฏว่ามียอดบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นสูงถึง 2 เท่า หรือ การที่คนต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 20 วินาทีในการเปิดถังไอศกรีม ก็ส่งผลให้คนทานมันน้อยลงกว่าเดิม การลดพลังงานในที่นี้รวมไปถึงการลดตัวเลือกในการตัดสินใจอีกด้วย เพราะการมีตัวเลือกในชีวิตแม้กระทั่งในเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการเลือกรสชาติไอศกรีมก็ทำให้เราสูญเสียพลังงานที่เราจะเก็บไปทำสิ่งอื่นๆด้วย และก็คล้ายกับการที่เราตั้งใจว่าจะออกกำลังกาย แต่ต้องตัดสินใจว่าจะใส่ชุดไหน ออกส่วนไหน จนสุดท้ายเราก็จะไม่ได้ทำสิ่งนั้นเพราะเราหมดพลังไปกับการตัดสินใจเลือกหมดแล้ว วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำก็คือ การตัดสินใจสองชั้น (Second-order Decisions) หรือการตัดสินใจลดตัวเลือกโดยการตัดสินใจล่วงหน้าในเรื่องที่ต้องตัดสินใจในอนาคต เช่นก่อนนอนเราอาจจะกำหนดไปเลยว่า เราจะไปออกกำลังกายที่ไหน ใส่ชุดอะไร และออกอย่างไร วิธีนี้จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากตัวเลือกที่บั่นทอนพลังงานและพลังใจของเราและมันจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป
7.การลงทุนทางสังคม
นักจิตวิทยาด้านวิวัฒนาการได้อธิบายเอาไว้ว่า ความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและผูกพันกับคนอื่นเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาแต่เกิด และถ้าเรามีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นบวกกับคนอื่น ฮอร์โมนออกซิโทซินจะหลั่งสารที่ทำให้เกิดความสุข ซึ่งส่งผลให้เรากังวลน้อยลงและมีสมาธิมากขึ้นด้วย อีกทั้งการพูดคุยกับคนอื่นในแต่ละครั้งยังช่วยกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย การมีปฏิสัมพันธ์จึงส่งผลให้เราทำงานดีขึ้นได้ และยังผลการศึกษาที่ใช้เวลามากกว่า 30 ปีที่ชี้ให้เห็นด้วยว่าการขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นอันตรายถึงชีวิตเช่นเกียวกับโรคร้ายบางโรคด้วย
หลายๆองค์กรก็ได้ใช้แนวคิดด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเผื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคนในองค์กรเช่นกัน แต่ในบางครั้งนี่กลับเป็นส่วนแรกที่โดนตัดออกเมื่อบริษัทต้องการที่จะประหยัดงบ ทั้งๆที่ผลการศึกษามากมายก็รองรับความจริงที่ว่านี้ เมื่อบริษัทยูบีเอสที่ลงทุนสร้างรถเข็นเบียร์เพื่อให้พนักงานมาร่วมตัวพบปะกันในบ่ายวันศุกร์ พอเศรษฐกิจไม่ดีบริษัทจึงจำเป็นต้องตัดงบตรงนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วพนักงานก็บอกว่าหัวหน้าบางคนยอมลงทุนที่จะซื้อเบียร์เลี้ยงลูกน้องเพื่อรักษาวัฒนธรรมอันนี้และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานมีแรงในการทำงานต่อไปด้วย
และท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราและแผ่กระจายวงกว้างออกไป โดยการนำเอาหลักการทั้ง 7 ข้อมาใช้ร่วมกัน หลักการทั้งหมดที่จริงปล้วแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ การทำงานของหลักการทุกข้อจะสัมพันธ์และส่งเสริมกัน งานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์สามารถรับส่งพฤติกรรมให้กันได้ และไม่ได้ส่งไปเพียงแค่ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงเท่านั้น แต่คนที่ได้รับอิทธิพลจาหเราก็จะยังส่งต่ออิทธิพลนั้นต่อไปอีก 3 ทอด เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อเรายึดและปฏิบัติตามหลักการทั้ง 7 เพื่อเปลี่ยนแปลงต้วเราและพฤติกรรมของเรา ห็เท่ากับว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วย ราวกับการเหิดผลกระทบบนคลื่นผิวน้ำนั่นเอง
Credit photo : Google
โฆษณา