7 พ.ค. 2020 เวลา 01:43 • ปรัชญา
สวัสดีวันวิสาขบูชาปี 2563 ครับ
ก่อนอื่น วันวิสาขบูชาของบางประเทศจะไม่ตรงกับของไทยนะครับ โดยมากวันวิสาขบูชาของอินเดียจะห่างจากของไทยประมาณ 1 วัน นั่นเป็นเพราะว่าเป็นการนับจากจันทรคติ
เราคงได้เรียนมาตั้งแต่เด็กใช่ไหมครับว่าวันวิขาขบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันครบรอบเดียวกัน
ถ้าเทียบกับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ มันเหลือเชื่อนะครับที่คนๆ นึงจะสามารถเกิด เรียนจบปริญญา และตาย ในวันคล้ายวันเกิดได้
แล้วแบบนี้ สิ่งที่เราเรียนมาแต่เด็กมันจริงมากน้อยแค่ไหน เคยสงสัยไหมครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุมีคำตอบครับ
จากการบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสครั้งนึงได้เล่าถึงเรื่องนี้อย่างแยบยลครับ ท่านได้แสดงธรรมในวันวิสาขบูชา บนยอดเขาพุทธทอง สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2514
ท่านกล่าวว่า มีเฉพาะทางเถรวาทเท่านั้นที่เชื่อว่า วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นวันเดียวกัน ทางนิกายอื่นเช่นทางมหยานเค้าไม่ได้เห็นเป็นแบบนี้นะครับ
ท่านพุทธทาสได้คลายความสงสัยว่า แท้จริงแล้ววันทั้งสามวันนี้เป็นวันเดียวกันจริง แต่เป็นวันในเชิงปรัชญาในทางพุทธศาสนา
กล่าวคือ วันประสูติ หมายถึงวันที่กำเนิดเป็นพระพุทธเจ้า เพราะตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้นท่านยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้านะครับ ท่านเป็นพระพุทธิเจ้าทีหลัง
ส่วนเหตุการณ์ที่สองที่เกิดขึ้นในวันนี้คือการตรัสรู้ พูดง่ายๆ ว่าพอท่านตรัสรู้แล้วนั่นแหล่ะคือวันที่ได้เกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ย้อนกลับไปอ่านบล้อคด้านบนได้ครับ
ในเหตุการณ์ที่สาม คือ นิพพาน ก็ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เพราะว่านิพพานแปลว่าดับสนิท นิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะครับ สิ่งที่ดับสนิทในครั้งนี้คือกิเลสต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ละทิ้งแล้ว หากแต่สังขารและรูปขันธ์ยังคงอยู่แต่ท่านไม่ได้ยึดติดอีกต่อไป
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ทุกท่านพอเห็นไหมครับว่าคนโบราณท่านมีกุศโลบายและวิธีการมองธรรมะที่ลึกซึ้ง เราจึงได้เรียนและท่องกันปากต่อปากมาตลอดว่าวันวิสาขบูชาคือวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งก็ไม่ผิดเลยนะครับ เพียงแต่เราควรเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ถ้ากว่าถึงปรัชญาของศาสนาพุทธ การภาวนาเช่นการทำสมาธิได้รับบูญสูง สูงกว่าการให้ทานโดยทั่วไป
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังในคราวต่อไปครับ
ถ้าหากความรู้ของผมมีข้อผิดพลาดประการใด รบกวนช่วยเสนอแนะด้วยนะครับ
โฆษณา