31 ม.ค. 2020 เวลา 05:00 • ครอบครัว & เด็ก
7 ขั้นตอนสอนคุณและลูกให้มั่นใจในทางที่ถูก
สร้างลูกของเราให้จิตใจเข้มแข็ง แต่ต้องไม่แข็งกระด้าง เป็นคนอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น มาเริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เลยเถอะ
ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่รักและใส่ใจลูกๆ ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับพวกเขาให้มาก บวกกับลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู เด็กๆ จะได้มีกำลังใจใช้ชีวิตบนโลกที่วุ่นวายนี้
1. ลูกต้องมาเป็นที่หนึ่ง แม้ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม
กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในวันที่ชีวิตมีอุปสรรค เพราะฉะนั้น คุณต้องสื่อสาร รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกเสมอ ให้เขารู้ว่าคุณสนใจและให้ความสำคัญกับเขา เพื่อให้รู้ว่าวันนั้นลูกพบเจออะไรมาบ้าง เพราะถ้ามันเป็นวันที่ร้ายกาจกับเขา อย่างน้อยเขาก็ยังมีคนที่รักและไว้ใจ คอยให้กำลังใจให้ผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้
ซึ่งคำถามก็ควรลงให้ลึก ถามต่อยอดจากสิ่งที่ลูกตอบมา เช่น วันนี้ลูกเล่นกับใคร เล่นอะไรกัน สนุกไหม เป็นต้น แล้วมันจะไม่ใช่แค่การพูดคุยด้วยความใส่ใจกับลูก แต่มันจะเพิ่มพัฒนาการ ทักษะการคิด การพูด และเป็นโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวของตัวเองในแต่ละวันด้วย มีแต่ได้กับได้
2. ปล่อยให้ลูกค้นพบ เผชิญหน้า และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
ให้ลูกได้เติบโตอย่างสมวัย อย่าคาดหวัง กดดัน หรือหาทางลัดให้ลูก หรือบังคับให้เขาเข้าใจโลกอย่างผู้ใหญ่ก่อนวัยของเขา เพราะมันจะลดทอนตัวตนและความเป็นเด็กของเขาลงไป และยังสร้างความเครียดจนลูกไม่กล้าแสดงออกในทางที่ตัวเองต้องการ
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจ และควบคุมการกระทำของตัวเองให้ได้ อยู่เคียงข้างเป็นแรงสนับสนุน แนะนำ หรือช่วยเหลืออยู่ห่างๆ ให้ลูกคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง
ถ้าคุณพ่อคุณแม่มัวแต่คอยตามแก้ทุกปัญหาให้ลูก เขาจะไม่ได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตเลย เพราะฉะนั้นลองให้เขาได้เผชิญปัญหาใหม่ๆ ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาลุกขึ้นมาสู้ หรือมุ่งพัฒนาไปในทางที่ใช่ของตัวเองจะดีกว่า
3. ชื่นชมในความพยายามของลูก ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
วิพากษ์วิจารณ์หรือลงโทษในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมเหตุผลที่ลูกจะเข้าใจ เพราะทุกการกระทำในทางลบจากคนที่เขารัก สามารถบั่นทอนจิตใจและความตั้งใจของเด็กๆ ได้
ดังนั้น ทำให้มันเป็นการ ‘ติเพื่อก่อ’ พูดอธิบายอย่างชัดเจนเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกอยากเรียนรู้หรือแก้ไขความผิดพลาดด้วยใจจริง และเมื่อเขาเติบโตขึ้น ประสบการณ์ระหว่างทางจะมีค่ามากกว่าปลายทางหรือผลลัพธ์ของมัน
สำหรับเด็กๆ แล้ว ความพยายามอย่างเต็มที่และการกระทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จะสร้างความมั่นใจให้เขาได้มากกว่าการทำได้ดีมาก แต่ทำๆ หยุดๆ เป็นครั้งคราว
ดังนั้น ขอเพียงแค่ลูกทำเต็มที่ เขาก็สมควรได้รับคำชื่นชมแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับใครทั้งสิ้น
4. สนับสนุนความขี้สงสัยของลูก
มีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดออกมาบอกว่า การที่ลูกขี้สงสัยเป็นเรื่องดี เพราะมันหมายความว่า ‘เขาตระหนักได้ว่าตัวเองยังไม่รู้จักสิ่งนี้ และพยายามเรียนรู้มัน’ เพราะฉะนั้น ตอบข้อสงสัยของลูกเถอะ เพราะพวกเขากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเติบโต และยิ่งได้ไปโรงเรียน ได้พบเจอผู้คน พวกเขาก็จะเรียนรู้ได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคำถามและคำตอบจะมาจากหลายทาง
และถ้าเขาสนใจหรือสงสัยอะไรเป็นพิเศษ คุณเองก็ต้องโฟกัสกับสิ่งนั้นด้วย ให้ข้อมูลหรืออย่างน้อยก็เสาะหาแหล่งข้อมูลที่ลูกจะไปต่อยอดได้ อย่าชี้แนะเขาไปทางที่ผิด หรือปิดประตูพัฒนาการของลูก เพียงเพราะคุณขี้เกียจหรือคุณไม่รู้
5. หาโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง
เวลาที่คุณมอบหน้าที่บางอย่างในบ้านให้ลูกรับผิดชอบเป็นประจำ เมื่อเขาได้รับคำชื่นชม เด็กๆ จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นนอกบ้าน เขาจะยิ่งรู้สึกเหมือนตัวเองได้สร้างความเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ แม้มันจะเป็นหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ อย่างการเอาขนมไปให้คุณครูแจกเพื่อนๆ ในชั้นเรียนก็ตาม เขาจะมีความสุขที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น ส่งต่อพลังงานและเรื่องราวดีๆ ให้คนรอบข้าง และยังได้รอยยิ้มจากคนรอบข้างกลับมาเติมกำลังใจให้ตัวเอง
เพราะฉะนั้น ถ้ามันยิ่งเป็นโพรเจกต์ผู้ใหญ่ๆ ของคุณ เช่น จัดของไปบริจาค เตรียมอาหารไปทำบุญ หรือเก็บขยะริมทะเล ก็บอกลูกไปเลยว่า “ลูกช่วยแม่ได้มากจริงๆ ขอบคุณนะคะ”
6. ให้ทางเลือกกับลูกเสมอ
พลังของการได้ตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง จะสร้างความมั่นใจให้ลูก โดยที่เขาจะไม่หลุดจากกรอบที่คุณแอบตั้งไว้นัก หรือหากลูกต้องการสิ่งอื่นนอกเหนือจากที่คุณยื่นข้อเสนอให้ มันก็จะไม่หนีไปไกลจากหัวข้อนั้นเท่าไรนัก นั่นแปลว่า ลูกจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าต่อรอง แต่ก็มีขอบเขต และเคารพการตัดสินใจเบื้องต้นของคุณเสมอ
ในเด็กเล็กอาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อาทิ มิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าใส่เอง เลือกหนังสือที่อยากอ่านเอง เป็นต้น แต่ถ้าโตขึ้นหน่อย อาจเปลี่ยนเป็นการถามว่า วันนี้จะช่วยคุณแม่ล้างจานหรือกวาดบ้านดูก็ได้ เพราะอย่างน้อยถ้าเขาไม่อยากทำทั้งสองอย่างนี้ เขาก็จะต้องเลือกงานบ้านอะไรสักอย่างที่ชอบที่สุดออกมาอยู่ดี แล้วจากตรงนี้… คุณแม่จะได้เห็นแววของลูกตัวเอง ทั้งวิธีการหลบหลีก ต่อรอง ไปจนถึงสิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบอีกด้วย
7. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เข้าใจ ยอมรับ ให้อภัย และปล่อยวาง
ในทุกเรื่องร้าย มีเรื่องดีๆ แฝงอยู่เสมอ คุณต้องสอนให้ลูกรู้จักตัวเอง โดยคุณก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกด้วย กล้าพูดและคิดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ อย่าหลอกตัวเองและคนอื่น สามารถยอมรับตัวตนของตัวเองได้ทั้งข้อดีและข้อบกพร่อง รักที่ตัวเองเป็นแบบนั้น จริงใจต่อตัวเอง ไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ และเมื่อเด็กๆ โตขึ้น เขาจะมีสติ รู้ตัว และควบคุมการกระทำของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำตามใจตัวเองไปเสียหมด
ส่วนเรื่องบางเรื่องก็ต้องปล่อยวาง ให้อภัย อย่าไปใส่ใจ และมองผ่านๆ ไป แค่ทำหน้าที่ของเราต่อไปให้ดีที่สุด ถ้ายอมรับและเข้าใจธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ เด็กๆ จะจัดการและผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจแนะนำในเชิงว่า อะไรที่เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้เป็นแบบอย่าง สิ่งที่ไม่ดีให้ระวังไว้ อย่าเลียนแบบ ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกมองโลกได้กว้างขึ้นแล้ว ลูกยังจะเรียนรู้การมีสติไปกับเราด้วย
โฆษณา