31 ม.ค. 2020 เวลา 14:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจที่สังเคราะห์ขึ้นจาก Stem cell ในห้องแลป ❤ 👍
เราอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งดวงแล้ว
1
เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า แห่งประเทศญี่ปุ่น นำโดย ศจ. Yoshiki Sawa ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องแลปไปยังผู้ป่วย
ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจที่สังเคราะห์ขึ้นมานี้จะเป็นแผ่นกล้ามเนื้อบาง ๆ กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและหนาเพียง 0.1 มิลลิเมตร
โดยกล้ามเนื้อที่ปลูกถ่ายใหม่นี้จะไปทำหน้าที่แทนกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายหรือเสียหายจากการขาดเลือดซึ่งปกติร่างกายไม่สามารถสร้างทดแทนได้
การปลูกถ่ายประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งผู้ป่วยกำลังพักฟื้นหลังรับการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจในโรงพยาบาล
ศจ. Yoshiki Sawa หัวหน้าทีมวิจัย
โดยกล้ามเนื้อหัวใจที่นำมาปลูกถ่ายนี้สังเคราะห์ขึ้นมาจากจาก stem cells ของผู้ป่วยเองที่เรียกว่า pluripotent stem cells หรือ iPS
ซึ่ง stem cell เหล่านี้สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ตามที่ร่างกายต้องการ ในที่นี้ทีมนักวิจัยได้เปลี่ยนพวกมันให้กลายเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจนั่นเอง
ทีมวิจัยยังคงต้องติดตามผลสุขภาพของผู้ป่วยหลังจากรับการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจใหม่นี้อีกอย่างน้อยอีก 1 ปี
หากผลเป็นที่น่าพอใจทีมวิจัยยังมีแผนในการปลูกถ่ายกล้ามเนื้อหัวใจให้กับผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอีก 10 เคสภายใน 3 ปี
ความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยสร้างความหวังในการรักษาโรคหัวใจให้กับผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหนักจากการขาดเลือด โดยไม่ต้องรอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งดวงจากผู้บริจาคอวัยวะ
ก็เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจอีกมากที่ยังรอคอยการรักษา 😊👍

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา