1 ก.พ. 2020 เวลา 02:10 • ครอบครัว & เด็ก
เพราะลูกคือคนธรรมดา แม่จึงไม่ใช่พระในบ้าน : บทความจากแม่ผู้คิดมากสู่แม่ทุกคนที่กำลังเครียดกับการเลี้ยงลูก
'แม่คือเทวดาของลูก'
'แม่คือพระในบ้าน'
'แม่คือผู้เสียสละ'
'ค่าน้ำนม'
สารพัดคำจำกัดความของแม่ที่ดูแล้วช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของชาวเอเชียซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงคนไทย
เมื่อผู้เขียนยังเยาว์วัยผู้เขียนเติบโตมากับครอบครัวที่มีบิดา มารดาและบุตรเพียงคนเดียว (ซึ่งก็คือตัวผู้เขียนเอง) ฐานะทางครอบครัวค่อนข้างอยู่ในระดับปานกลางจนถึงดีเพราะบิดาของผู้เขียนเป็นเถ้าแก่ในแผนกหนึ่งของบริษัทที่ตระกูลของท่านทำเป็นระบบกงสี ส่วนมารดานั้นเป็นพนักงานตำแหน่งเสมียน
มารดาของผู้เขียนนั้นเป็นผู้ป่วยในโรคซึมเศร้าและตัวผู้เขียนเองก็เป็นผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น ทำให้ไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆจึงจัดได้ว่า เป็นเด็กที่เลี้ยงยากจนก่อให้เกิดความเครียดแก่ตัวมารดาของผู้เขียนไม่น้อย ท่านมักจะทำโทษผู้เขียนด้วยการทุบตี เฆี่ยน เวลาที่ผู้เขียนซนหรือทำในสิ่งที่ผิดพลาดเช่น การทำแก้ว จานแตก การกรี๊ด การพังข้าวของ
และเหตุการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้นเมื่อบิดาของผู้เขียนจากไปด้วยโรคมะเร็ง...
ความโศกเศร้ารวมถึงความเครียดที่จะต้องเป็นแม่ เลี้ยงเดี่ยวของมารดา ทำให้ท่านทุบตี ด่าทอผู้เขียนหนักขึ้นซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ความน้อยใจในตัวผู้เขียนเป็นอย่างมาก จนผู้เขียนเกิดภาวะการทำร้ายตัวเองจนเข้าขั้นเสพติด ทำอะไรผิดก็จะทำโทษตัวเอง โทษตัวเองซ้ำๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าโรงเรียน ทางครูบาอาจารย์ต่างก็ปลูกฝังนักเรียนทุกคนว่า
'แม่คือเทวดา แม่คือพระในบ้าน บุญคุณของท่านช่างยิ่งใหญ่ ชดใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด'
ซึ่งมันสร้างความย้อนแย้งในใจของผู้เขียนมากว่า
'เทวดาอะไรทำไมต้องทำร้ายร่างกายกัน ด่าทอกันขนาดนี้'
เมื่อผู้เขียนรู้สึกดีกับมารดาไม่ได้ ก็เลยมองว่าตัวเองคือคนไม่ดี คนบาป เป็นปมขัดแย้งในใจตัวเองที่มากโขและหล่อหลอมให้ผู้เขียนตั้งปฏิญาณในใจไว้ว่า
'ฉันจะต้องเป็นแม่ที่ดี เป็นพระในบ้าน เป็นเทวดาของลูก จะไม่ทำให้ลูกเป็นแบบฉันอีก'
จนเมื่อวันหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาเป็นมารดาเสียเอง..
การคาดหวังตั้งแต่ครั้งอดีตที่ส่งมาถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนนั้นค่อนข้างจะจริงจังกับการเลี้ยงลูก
'ห้ามป้อนกล้วยก่อน 6 เดือน'
'นมแม่ล้วน'
'อาหารต้องครบ 5 หมู่'
'ห้ามทะเลาะกัน ห้ามพูดคำหยาบต่อหน้าลูก'
แน่นอนว่าผู้เขียนทำไม่ได้เพราะแต่เดิมไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบและพูดคำหยาบคายจนติดเป็นนิสัยและหลายครั้งต้องมานั่งเสียใจว่า
'ทำไมฉันถึงเป็นแม่ที่ดีไม่ได้ ทำไมฉันถึงไม่เก่งเหมือนแม่คนนู้น คนนี้'
จนวันหนึ่งได้ลองอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกแบบชาวดัตช์ และได้เจอประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้ตกตะกอนออกมา ประโยคนั้นกล่าวไว้ว่า
'ลูกจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อผู้เป็นแม่มีความสุข'
ทำให้ผู้เขียนได้คลายความตึงลงได้บ้าง และเริ่มที่จะให้อภัยตัวเองและเริ่มหันกลับมามองหาความสุขของตัวให้มากขึ้น
จึงเริ่มคิดได้ได้ว่า
'ฉันคือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ใช่เทวดา ฉันเจ็บได้ เหนื่อยได้ ร้องไห้เป็น และฉันอยากจะเรียนเต้น Pole Dance ต่อด้วยการรับประทานเค้กช็อคโกแลตสักชิ้น'
ซึ่งแน่นอนว่า เทวดาคงไม่ต้องการเรียนเต้น Pole Dance หรือการรับประทานขนมหวานหรอก แต่ฉันเป็นมนุษย์ ฉันต้องการ..
ลูกจะรับประทานขนมบ้าง
ลูกจะนอนดึกบ้าง
แม่จะโมโหบ้าง
แม่จะแอบหนีเที่ยวบ้าง
แต่นั่นก็คือ สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปทำไม่ใช่หรือ..
เมื่อคิดได้ดังนั้นทำให้ผู้เขียนจึงได้มองย้อนไปถึงมารดาของผู้เขียนและเข้าใจ
ท่านเองคงอยากเป็นเทวดา อยากเป็นแม่ที่สังคมคาดหวังเช่นกันซึ่งแน่นอนว่า ท่านทำไม่ได้และท่านคงไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นที่เปลี่ยนทัศนคติของผู้เขียนให้รักและเข้าใจในตัวเองมากขึเน
ท่านเองก็ยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่รักลูกเช่นเดียวกับผู้เขียนในตอนนี้
วางความคาดหวังของสังคมลงเถอะนะแม่ แม่ไม่ใช่เทวดาและลูกก็เป็นเพียงคนธรรมดา แค่รักลูกในแบบที่มนุย์คนหนึ่งจะให้ได้ก็เพียงพอแล้ว
โฆษณา