2 ก.พ. 2020 เวลา 15:56 • กีฬา
Legend's Talk - Version Uncut! 1
รศ.ดร.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร - ธรรมศาสตร์
M: ช่วยแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักหน่อยครับ
อัษฎางค์: ผมเข้าศึกษาธรรมศาสตร์ปี 2500 เขาเรียกรุ่น 500 ผมไปเรียนบัญชีเสียก่อนสองปี แล้วย้ายไปเรียนรัฐศาสตร์ จบรัฐศาสตร์มา แล้วผมก็เป็นประธานฟุตบอลของธรรมศาสตร์ (25)04 (25)05 (25)06 แต่ก่อนนี้เขาจะให้นักศึกษาเลือกนะ สมาชิกชมรมเลือกกัน เป็นกรรมการสโมสรมหาวิทยาลัย สโมสรนักศึกษาเนี่ย นักศึกษา 15 คน อาจารย์ 15 คนนะ ทุกคนต้องมีอาจารย์ประกบ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาด้วยกัน ไม่เหมือนสมัยใหม่
M: เริ่มเล่นฟุตบอลประเพณีตั้งแต่ช่วงประมาณปีไหนครับ
อัษฎางค์: (25)01 (25)01-(25)10 เล่น 11 ครั้ง กลับมาเล่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเรียนเมืองนอก อีก 5 ปี แล้วกลับมาเล่นอีกครั้งหนึ่ง (M: ในยุคที่ อ. เล่นบอลประเพณีมีได้แชมป์บ้างไหมครับ อ.) ประเพณีนี่เหรอ? ธรรมศาสตร์ชนะ สมัยผมเป็นประธานนี่ 7 ปีซ้อน นี่ฟุตบอลอุดมศึกษานะ และก็ผมเล่นได้แค่ 6 ปี อีกปีก็รู้สึก ให้วิชัย ชุ่มจินดา เป็นหัวหน้าทีม ปี (25)07 ปี 2502-2506 นี่ เราเป็นแชมป์
M: พูดถึงตัวผู้เล่นของทีมในช่วงที่ลงเล่นหน่อยครับ
อัษฎางค์: ธรรมศาสตร์เนี่ย ยกทีมมาเล่นแบงค์กรุงเทพ (สโมสรธนาคารกรุงเทพ-ผู้เขียน) เมื่อก่อนนี่อยู่ธรรมศาสตร์ เฉลิม โยนส์, โชคชัย สุวารี, ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ พวกนี้ ประสันต์ กับ โชคชัย เมื่อก่อน เขาเล่นด้วย (ทีม)มุสลิม เข้าธรรมศาสตร์ เมื่อก่อน มุสลิมก็เป็นทีมนึง ที่แย่งถ้วย ก แต่ไม่ชนะเลิศ แต่ที่นี้ก็สลายตัว เข้าเป็นทีมธรรมศาสตร์ ทาง (ทีม)ตำรวจ เขาอยากได้แบงค์กรุงเทพ เขาก็ตั้ง(สโมสร)ขึ้นมา คุณบุญชู(โรจนเสถียร) ก็เอาเต็มที่ พวกเราก็มองดูว่ายกทีมมาเข้าแบงค์กรุงเทพ ดีกว่า คือทีมตำรวจเขามาตามตัว(ไปเล่นฟุตบอล) แต่เห็นว่าคนเยอะอยู่แล้ว แล้วก็ ไม่อยากไปอยู่ในกรอบอะไรมาก ผมต้องเรียนหนังสือด้วยไง ก็เลยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย (M: ก็เลยคุยกะคุณบุญชูด้วยใช่ไหมครับ) ใช่ คุณบุญชูจะให้คนมาติดต่อ พวกเราก็ตัดสินใจไปม่ะ? ถ้าไม่ได้ปรึกษาหารือแก ทุกคนก็ถูกติดต่อ ก็เลยปรากฏว่า เข้ามาเล่นร่วมกัน วิชิต(แย้มบุญเรือง) ก็มาจากจุฬาฯ เข้ามาแล้วก็ ทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ฯ อะไรพวกนี้ ก็มาเล่นเป็นทีมแบงค์กรุงเทพ แบงค์กรุงเทพเลยแข็ง เพราะเราเล่นฟุตบอลกันแบบคลาสสิค เล่นฟุตบอลแบบชั้นเชิงอ่ะ ทหารอากาศเขาเล่นแรง เล่นยาว (บอลโยนกลางอากาศ-ผู้เขียน)
เฉลิม โยนส์ Cr.สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
โชคชัย สุวารี Cr.สูจิบัตรงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 40 (สนจ. เอื้อเฟื้อมา ณ ที่นี้)
ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ Cr.มติชน
สโมสรธนาคารกรุงเทพ Cr.สโมสรธนาคารกรุงเทพ
ภาพแรก - เฉลิม โยนส์ Cr.สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ภาพสอง - โชคชัย สุวารี Cr.สูจิบัตรงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 40 (สนจ. เอื้อเฟื้อมา ณ ที่นี้)
ภาพสาม - ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ Cr.มติชน
ภาพสี่ - สโมสรธนาคารกรุงเทพ Cr.สโมสรธนาคารกรุงเทพ
M: บรรยากาศในทีมช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ
อัษฎางค์: ดี พอเขาเริ่มมาตั้งสโมสรที่นี่เนี้ย (สโมสรธนาคารกรุงเทพ-ผู้เขียน) เขาก็มาเก็บตัว แต่พวกเราเก่ง อ่อ มาใหม่ ๆ ตกใจเลย ยุงมันเยอะ เปิดประตูไม่ได้เลย กลางคืนออกมานี่ก็ เงียบกริบเลย ก็มีโต๊ะบิลเลียด พวกเราก็ Relax ด้วยการ แทงบิลเลียด แต่ว่าต้องนอน สองสามทุ่ม เพราะตื่นเช้ามาก็ต้องพาวิ่งไปปากทาง ไปกลับก็เกือบ 10 โล (M: ในยุคนั้นมีใครเป็นโค้ชบ้างครับ) เราเล่นเกือบจะไม่โค้ช ทีมชาติน่ะไม่มีโค้ช เชื่อไหม แต่พอไปเล่นแบงค์ มีครูเหลียง (สมศักดิ์ กฤษณวานิช) ครูเหลียงนี่เป็น อ. ของพวก คริสเตียน (กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย-ผู้เขียน) ครูเหลียงแกก็มาดูแลให้ ธนาคารกรุงเทพจ้างแกมาดูแล ก็เหมือนโค้ชน่ะ แกแนะนำ แต่ส่วนมากเราก็ตกลงกันเองว่าเล่นอะไร แบบไหน จริงๆ แล้วอาวุโสกว่าผมมี เฉลิม โยนส์, ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ , โชคชัย สุวารี, อนุรักษ์ ณ นคร ก็มาจากทีมมุสลิม ผมไม่ใช่ ผมมาจากเทพศิรินทร์คนเดียวเลย
M: แล้วบรรยากาศฟุตบอลประเพณีในตอนนั้นเป็นอย่างไรครับ
อัษฎางค์: โห ตอนนั้นมันสนุก มันไม่น่าเชื่อนะ แห่คบเพลิงเนี่ย แห่คบเพลิงจากสนามกีฬาไปธรรมศาสตร์ ระยะทางเท่าไร คนเป็นหมื่นนะ ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย ไฟไหม้ ไม่มี เขาคุมกันดีมาก นักศึกษา และก็สนุก และก็มาร่วมกิน กับพวกจุฬาฯ มาแวะกินที่สนาม เพราะจุฬาฯ เป็นก็แห่ไปจุฬาฯ สั้นหน่อย ภายหลังตำรวจเขาขอร้องให้เลิก เพราะกลัว แต่นี่ไม่เคยเกิดเหตุนะ ตำรวจเขาขอร้องก็ต้องหยุด แต่ว่าถ้าจะมีก่อนเล่นเนี่ย เขาก็จะมีเหมือนงานของคนกรุงเทพฯเลย มันไม่เหมือนกับสมัยนี้ สมัยมีจิตสาธารณะนี่ทีหลัง แต่เมื่อก่อนเขาชอบนั่งรถไปเย้วๆ กันตามที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เป็นเหมือนคนกรุงเทพฯ เขาให้เกียรตินะ เขาก็ออกมาสนุกกันด้วย เมื่อก่อนกรุงเทพฯ มันเงียบไง
M: แล้วมีเกมฟุตบอลประเพณีปีไหนที่ประทับใจมากที่สุดครับ
อัษฎางค์: ส่วนมากมันก็ทุกครั้งอ่ะ คือเราชอบใจอย่างเดียว เออ เพื่อนมาเชียร์เยอะ มาแปรอักษรกัน มาเชียร์ นักฟุตบอลเนี่ยนะ อย่างผมเนี่ย ไม่เคยซ้อมเชียร์เลย แต่ผมร้องเพลงเชียร์ได้ (หัวเราะ) ก็เพราะไปฟังเขานี่ สนุก และบางทีก็ ตอนเช้าก็แอ๊ก ทำแอ๊ก ไปดูสาวๆ จุฬาฯ เช้ามากินข้าวเสร็จ แทนที่จะนั่งพัก ไปนั่งรถ เพื่อนชวนนั่งรถไปดูสาว จุฬาฯ เราก็ไป แต่ส่วนมาก ทีมส่วนใหญ่ เขาไม่ค่อยไป ส่วนมากไปไหว้พระ ถ้าธรรมศาสตร์ ก็วัดพระแก้ว ไหว้เจ้าแม่สิงห์ เป็นกำลังใจ นั่งกินข้าวกลางวันพร้อมกัน แล้วนั่งคุยเรื่องเล่น รุ่นพี่ เราไม่มีโค้ช แต่รุ่นก็จะนั่งมาคุยเป็นเพื่อน เช่น พล.ต.ต. วันชัย สุวารี พี่ตี๋เนี่ย หรือ น.อ. โสภณ สุวรรณรุจิ ที่ตอนหลังเป็นเลขาฯ ครม. ก็เป็นเพื่อนบิ๊กจิ๋ว (พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ-ผู้เขียน) เขาเป็นศูนย์หน้าทหารอากาศที่เล่นดีที่สุดเมื่อก่อนนี้ และเป็นธรรมศาสตร์ พวกนี้รุ่นพี่ๆ เขาก็จะมาดูเรา “เฮ้ย ทำไงวะ ทำไงถึงจะชนะได้” พี่เขาก็มาแนะนำ แต่ส่วนมากพวกเรา ผมในฐานะหัวหน้าทีมก็นั่งคุยกัน สี่ห้าคน “ทำงี้ ๆ” วิชิต(แย้มบุญเรือง) เขาเป็นคู่ต่อสู้ใช่ม่ะ พวกนั้นคือหน้าที่คุม ไม่ต้องกลัวให้วิชิตเลย ให้เขาจ่ายเลย ประกบตัวจ่าย เพราะเขาเขาฮาล์ฟซ้ายใช่ม่ะ ผมฮาร์ฟขวา ผมตรงกลางทางขวา เพราะฉะนั้น ผมจัดการไม่เหลือ ผมก็บอก “เฮ้ย หน้าที่กู มึงไม่ต้องห่วง” คือเราไม่ให้เขาเล่น เมื่อนี่ สุชาติ มุทุกัณท์ เขาเล่นกับเรา และก็ไปเล่น จุฬาฯ เขาย้ายไปเรียน ครุศาสตร์ เขาก็ไปเล่นให้จุฬาฯ ก็เรื่องของเขาไง แต่ สุชาตินี่ คือเรารู้กัน มึงจะโยกยังไงเร็วยังไง ผมไม่ให้เล่น เอาฟุตบอลออกไปล่ะกัน พอเจอบั้ป ก็เข้าสกัด บางทีผมให้แบ๊กปิด และคอยซ้อน พอสุชาติแหกมาก็เสร็จผม เอาจริงๆ แล้วธรรมศาสตร์มีสองคน โชคชัย กับผม จะคู่กัน “เฮ้ย เอ็งต้องประสาน” หรือคุณเฉลิม โยนส์ ที่ผมเรียกพี่ เขาเล่น เซ็นเตอร์ “พี่เหลิม ห้อยไว้ เดี่ยวผมเข้าให้ แล้วค่อยซ้อน” เพราะฉะนั้นแกไม่ต้องเดี่ยวไง ก็ช้า ผมก็แหก เราประกอบซะหน่อย
M: ความรู้สึกในการเล่นบอลประเพณีในแต่ละครั้ง รู้สึกอย่างไรบ้างครับ
อัษฎางค์: ภูมิใจ ภูมิใจเพราะเป็นตัวแทนของลูกแม่โดม เพราะเวลานั้นเราเรียนธรรมศาสตร์ มันเหมือนกับเป็นสถาบันแม่ ผมเรียกแม่เพราะมันอบอุ่น และเป็นนักฟุตบอลชุดแรกที่มานอนในธรรมศาสตร์เมื่อก่อนมันไม่มีที่พัก เวลาเก็บตัว ก็ไปเก็บตัวที่สโมสรบัณฑิตสตรี(ทางกฎหมาย) (ปัจจุบันคือโรงอาหารริมน้ำใน วิทยาเขตท่าพระจันทร์) เมื่อก่อนเป็นสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย เราก็อาศัยที่เขาไปนอน ประธานฟุตบอลก็ต้องทำงบประมาณ ของบประมาณจากแผนกฟุตบอล แผนกสโมสรว่าค่าอาหาร ค่าเสื้อยังไง ผมต้องเป็นคนดำเนินการ ต้องคอยดูว่ามื้อเช้าเท่าไร “เฮ้ย ไอ้พวกที่เอาบุหรี่น่ะ มึงอย่าให้มันนะ” บางคนมันขี้ยา เช้ามานี่ 8 บาทแล้วนะ เย็น 12 บาท รวมแล้วมีงบแค่ 20 บาท 2502 เนี่ย 20 บาท เนี่ยไม่ได้ จำไว้ อย่าให้มันนะ ไม่งั้น อั้วไม่จ่ายเงินลื้อ ไอ้พวกขี้ยาบางคนไม่กิน จะเอาบุหรี่ ผมต้องคอยดูขนาดนั้น ก็เนี่ยการเป็นหัวหน้าทีมไมใช่ง่าย ๆ บางทีมันก็ไปนั่งกินเหล้าอยู่ฝั่งท่าพรานนก ก็พูดถึงง่าย ๆ นะ เรามันเป็นแบบเล่น เล่นไม่ซีเรียสอ่ะ ไม่ได้เอาชนะ เล่นให้คิด เล่นให้ดีเว้ย เอ็งไม่มีแรงนะ กูเปลื่ยนมึงอย่าโกรธกัน ก็มีบางคนโกรธ ไม่ได้เล่นนี่โกรธ มาซ้อมน้อย หรือบางตัวต้องเอาคนฟิตเล่น อาจจะเล่นไม่เก่งแต่ว่า สั่งให้ทำอย่างนี้ มันทำ ผมอะไรเช่นว่า “มึงติดปีกนี่หนา เอาออกพอ เอ็งอย่าให้มันแหกเข้ามาด้านใน ปิดริมเส้นไว้ อย่าให้ด้านในเข้า” สอนมันทั้งนั้นวิธีเข้า ฮาร์ฟทั้งสองฝ่ายเขาเร็วไง บางทีเขาจะเจาะแบ๊คเราจะช้า บรรยากาศมันต้องอาศัยความสามัคคีในทีมเป็นหลัก ทีมยุคนั้นส่วนมากสปิริตดี และก็พอมันมีเครื่องการันตี คือชนะเลิศมหาวิทาลัยปั๊บ มันก็มีกำลัง ทีมเวิร์คดี
M: หลังจากที่เลิกเล่นฟุตบอลบอลประเพณี ได้มีโอกาสกลับไปช่วย หรือมีส่วนร่วมกับบอลประเพณีในส่วนอื่น ๆ ไหมครับ
อัษฎางค์: ไม่เลย เพราะว่ามันเป็นชีวิตที่จะต้องเริ่มต้นตั้งตัว พอกลับมาก็ไปเป็นอาจารย์ที่ (มหาวิทยาลัย)รามคำแหง ก็ไม่นึกว่าจะไปเป็นอาจารย์ ทีแรกอยากจะไปเป็นตำรวจ ทีนี้ ทีมตำรวจโยเย้ คือผมจบปริญญาโท ผมต้องได้ร้อยตำรวจเอก จะให้ผมบรรจุร้อยตำรวจตรีก่อน ผมเลยไม่เอา แล้วไปสมัครรามฯ เขารับเลย เพราะเขาขาดอาจารย์ที่ผมจบ ก็เลยลองดูดิ วิถีชีวิตเป็นอย่างไร เพราะตอนนั้นก็เอางานไว้ก่อน ไม่งั้นก็กลับ คือผมมีสิทธิเรียนปริญญาเอกที่โน่น (สหรัฐอเมริกา) คะแนนผมถึง (M: ก็คือหลังจากนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับบอลประเพณี?) เกี่ยว เขาเชิญไปพูดบ้างอะไรแค่นี้ แต่ว่า ฝากคำแนะนำไปว่า เฮ้ย มันต้องเล่นแบบนี้ อะไรต่ออะไร แต่ว่า คือเอาง่ายๆ ตอนหลังเนี่ย บอลประเพณีเนี่ย ความสามัคคีในทีมไม่มี มันจับแพะชนแกะ เอาคนโน้นมาเล่น คนนี้มาเตะ เมื่อก่อนนี้มันถูกหล่อหลอมมาเป็นนิสิตมาด้วยกัน มันไม่เหมือนกันนะ พวกที่ ตอนหลังมันไปเรียนแบบไม่เรียน ในตอนนั้น (นักฟุตบอลประเพณีฯ) มาเรียนจริง ประมาณ (25)01 – (25)15 เนี่ยแท้ พอหลังจาก 2512-13 เท่านั้นน่ะเริ่มแล้ว คือผมไม่อยู่เนี่ย ผมได้ข่าวมาว่า โอ้ย บางคนก็นักเรียนฝาก ช้างเผือกอะไรนี่ เพราะไม่เหมือนสปิริต สปริตที่เป็นลูกแม่โดม มีชีวิตอยู่ในนั้น
แม้จะไม่ได้ข้องเกี่ยว แต่ก็ยังรับเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการทีมให้กับทาง ธรรมศาสตร์ ในงานบอล ยุค 2520s Cr.สูจิบัตรงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 40 (สนจ. เอื้อเฟื้อมา ณ ที่นี้)
M: มองวันนี้ของฟุตบอลประเพณีอย่างไรบ้างครับ
อัษฎางค์: เป็นยุคหลังๆ นี่มุ่งชนะกันมากไป ไปเค้นตัวคนโน้นคนนี้มาเล่น โดยไม่รู้เรียนหนังสือหรือเปล่า ผมอยากให้เป็นนิสิตนักศึกษาแท้ เรียนหนังสือแบบชาวบ้านเขา ผมไม่อยากให้เอาชื่อมาพักไว้ เอาทีมชาติมาปะไว้ มันทำให้สปิริตของบอลประเพณีเนี่ย ถดถอยลง เมื่อก่อนนี่นิสิตนักศึกษาแท้ มีก็มีความรู้สึกไม่ด่ากัน และก็ จริงๆ เป้าหมายในใจคือชนะ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ได้เล่นทำลายกันให้ชนะ ไม่ได้เล่นแรง ไม่เคยมีใบแดง ไม่ได้เล่นหยาบ Fair Play มันมีกระแทกกระทั่งกันมั่ง อย่างมาก ก็เล่นทีมชาติด้วยกัน นอนด้วยกัน กินด้วยกันอยู่แล้ว
M: จะฝากอะไรไปถึงน้อง ๆ นักฟุตบอล และ น้อง ๆ ชาวธรรมศาสตร์ บ้างครับ
อัษฎางค์: ก็ธรรมศาสตร์เนี่ยนะ จริงๆ แล้วเนี่ย ประเพณีมันเป็นการแสดงสปิริตที่เก่าแก่ที่สุด สังคมไทยเริ่มมีสปิริตน้อยลง น้ำใจนักกีฬาน้อยลง อยากเห็นนักฟุตบอลประเพณีสร้างสปิริตเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าการแสดงออกในเรื่องเชียร์ ในเรื่องการล้อการเมืองหรืออะไร ขอให้เป็นสปิริตแท้ คล้ายๆ ว่า อย่ามุ่งหวังชนะไปจนเล่นแรง จนลืมอารยะ กติกามารยาท อยากเห็นแค่นี้ นักฟุตบอลมันมองออกว่า แกล้ง หรือ ไม่แกล้ง เจตนาเตะหรือไม่เจตนาเตะ ถ้าเล่นฟุตบอลแล้วมองออก ถ้าไม่ใช่นักกีฬาไม่รู้
M: จะฝากอะไรไปถึงจุฬาฯบ้างครับ
อัษฎางค์: จุฬาฯ ก็แบบธรรมดา มันเพื่อนกัน สมัยก่อนนี่นะ เสร็จแล้วกินเหล้าด้วยกัน สนิทกัน เจอข้างนอกก็ทักทายกัน เป็นเพื่อนกัน หรือคนที่มีอาชีพเดียวกัน เราก็ไม่คิดแยกสถาบัน แต่ส่วนจุฬาฯ คิดอย่างไรเราไปห้ามเขาไม่ได้ แต่ฝ่ายธรรมศาสตร์ ผมยืนยันว่า สปิริตในการที่ทำงานรับใช้ชาติด้วยกันนี่ ไม่แบ่งแยก
ถอดบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตนักฟุตบอลประเพณีของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2562
โฆษณา