3 ก.พ. 2020 เวลา 13:17 • ความคิดเห็น
👉ถอดบทเรียน👈ปัญหาฝุ่นจากเมืองใหญ่ในต่างแดน🇬🇧🇮🇳🇨🇳🇲🇽🏴 และ 5 บทสรุปต่อประเทศไทยในวันนี้ 🇹🇭🇹🇭🇹🇭
อากาศดีๆมาให้คนไทยใจชื้นไม่กี่วัน เราก็ต้องกลับมาเผชิญปัญหา PM2.5 กันต่อ
อากาศไม่ใช่ทรัพยากรของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นของสรรพสิ่งที่มีชีวิต มีลมหายใจทั่วโลก ปัญหามลภาวะจึงไม่ใช่ปัญหาระดับท้องถิ่น หรือ ระดับประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก
วันนี้เรามาดูกันว่าเมืองใหญ่ๆในโลกของเราเคยประสบปัญหาฝุ่นและมลภาวะกันอย่างไร และพยายามจะแก้ปัญหากันอย่างไร
ในลอนดอน 🇬🇧🏴ประเทศอังกฤษ🏴🇬🇧 ประสบปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 นี้ ตั้งแต่ประมาณปี 1950 โดยฝุ่นพิษหรือหมอกพิษนี้ในยุคนั้นมีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น pea souper, pea soup fog, black dog, killer fog, London fog, London particular และ pea and ham soup
ปัญหาฝุ่นหรือหมอกพิษนับเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับลอนดอนในช่วงนั้น เพราะมีอัตราการตายจากปัญหาทางเดินหายใจจำนวนมาก เนื่องจากในยุคนั้นมีทั้งการประกอบการอุตสากรรมต่างๆที่เกิดขึ้น และในระดับครัวเรือนก็ยังมีการเผาถ่านหินเพื่อให้ความอบอุ่นในหน้าหนาวกัน และสาเหตุที่มีมลพิษมากกว่าเมืองอื่นจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนก็เพราะลอนดอนเป็นเมืองหลวงจึงมีผู้คนหนาแน่น ทั้งมลพิษจากอุตสาหกรรมและการเผาถ่านหินเพื่อความอบอุ่นในช่วงหน้าหนาวจึงเยอะตามไปด้วย
ภาพใน Piccadilly Circus ในลอนดอนในช่วงที่มีหมอกพิษหนาปกคลุม (ภาพจาก wikipedia)
การแก้ปัญหาของอังกฤษ ในยุคนั้น รัฐบาลได้ออก Clean Air Act (พรบ. คลีนแอร์ หรือ อากาศสะอาด) ขึ้นมา โดยมีมาตรการหลายอย่าง หลักๆคือการจัดโซนนิ่งการปล่อยควัน ( smoke control areas)ทั้งจากโรงงานอุตสากรรมและจากครัวเรือน(เช่น ปล่องควัน) ควบคู่กับการส่งเสริมมาตรการการใช้พลังงานจากการเผาไหม้ที่ไม่ก่อให้เกิดควัน (smokeless fuels) เช่น การใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สแทน เป็นต้น หลังจาก พรบ.ฉบับนี้ออกมา ทางรัฐบาลก็ได้มีการปรับเปลี่ยน และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการอยู่เรื่อยมา จากการออกมาตรการต่างๆนั้นก็ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ก็ใช้เวลานานนับสิบปีทีเดียวกว่าจะเห็นผล
สถานการณ์ปัจจุบัน ลอนดอนมีการออกมาตรการที่เรียกว่า Ultra Low Emission Zone หรือ มาตรการพื้นที่ที่มีการปล่อยควันต่ำ โดยมาตรการของปี 2020 นี้จะปรับเก็บรถยนต์ที่มีการปล่อยควันเกินมาตรฐาน Euro VI standard วันละ 100 ปอนด์ สำหรับรถยนต์ทั่วไป และ 300 ปอนด์ สำหรับรถที่จดทะเบียนพานิชย์ (commercial vehicle) ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่เข้มขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่ ultra Low Emission Zone ออกในปีแรก
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ลอนดอนยังคงติดอันดับเมืองที่มลพิษมากกว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากการแก้ปัญหามลพิษไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมลพิษคือสิ่งที่ล่องลอยในอากาศและในชีวิตประจำวันของผู้คนก็ยังคงต้องใช้สาธารณูปโภคบางอย่างที่ก่อให้เกิดควันอยู่ เมื่อรวมกับทุนเดิมในช่วงวิกฤตฝุ่นพิษที่ลอนดอนเคยประสบกับมลพิษที่มีจากการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน จึงไม่อาจทำให้ลอนดอนลงจากอันดับดาวเด่นด้านมลพิษในกลุ่มยุโรปได้ ถึงแม้รัฐบาลจะตั้งใจแก้ปัญหาและเพิ่มมาตรการใหม่ๆก็ตาม
ในปักกิ่ง 🇨🇳ประเทศจีน🇨🇳 ก็เช่นเดียวกัน เมืองหลวงที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น มีการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดเป็นจำนวนมาก ก็ไม่พ้นการเป็นเมืองมลพิษเช่นกัน นอกจากนี้ สาเหตุที่ปักกิ่งต้องเผชิญปัญหานี้ หลักๆมาจากการที่ ปักกิ่ง มีความเจริญและการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เร็วมาก จนทำให้โรงงานต่างๆเกิดขึ้นเต็มเมืองและนำไปสู่ปัญหามลพิษ
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาของจีนนั้น ทั่วโลกให้การชื่นชมมาก เพราะจีนมีมาตรการที่เด็ดขาด และติดตามผลจากการออกมาตรการอย่างจริงจัง จากเดิมที่จีนและอินเดียเคยแข่งกันติดอันดับมลพิษสูงสุดในโลก แต่หลังจากจีนออกมา ตรการต่างๆเพื่อลดมลพิษแล้ว เมื่อวัดค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ทำให้จีนมีมลพิษน้อยกว่าอินเดียเกินครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ UN ยังรายงานว่า ภายในปี 2012-2017 หรือภายในระยะเวลา 4 ปี จีนสามารถทำให้ปักกิ่งมีมลพิษฝุ่นจิ๋ว (fine particular level) ลดลงถึง 35% เลยทีเดียว
สำหรับมาตรการของจีนนั้นจะกำหนดเป็นปีๆไป แบบที่เรียกว่าเป็น time-bound และขอบเขตความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แค่เพียงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลักของปัญหาเท่านั้น แต่มาตรการนี้ยังกำหนดไปถึงเมืองที่อยู่รอบๆปักกิ่งด้วย เพราะมลพิษคือสิ่งที่ล่องลอยในอากาศ ดังนั้น เมืองโดยรอบ เช่น Tianjin -Hebei จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ตัวมาตรการของจีนจะเน้นการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแก้ไขปัญหาหาวิธีการต่างๆมาทำให้ถึงเป้าหมาย เช่น กำหนดว่าจะต้องจำกัดจำนวนรถรถให้เหลือเพียง 6 ล้านคันภายในปี 2017 การลดการใช้ถ่านหินลงให้ได้ 80% ภายในปี 2020 และจะต้องทำความเข้มข้นของค่า PM2.5 เป็นไปตามค่าเฉลี่ยต่อปี ตามที่กำหนด ภายในปี 2017 เป็นต้น ซึ่งการกำหนดเป้าหมายต่างๆนี้ จีนดำเนินการตามมาตรการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาก เช่น กำหนดจำนวนรถใหม่ในปี 2017 ว่าต้องออกไม่ให้เกิน 150,000 คัน และในจำนวน 150,000 คันนี้ ต้องมี 60,000 คันที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาด และจีนก็ควบคุมได้สำเร็จตามเป้าหมาย ในปีถัดมา จีนก็ตั้งเป้าหมายไกลกว่าเดิมขึ้นไปอีก คือกำหนดจำนวนรถไม่ให้เกิน 100,000 คัน ในส่วนของการใช้ถ่านหินนั้น จีนได้ลดมลพิษที่เกิดจากถ่านหิน โดยยกเลิกโรงงานที่ทำถ่านหินจำนวนมาก และกำหนดค่าปรับในราคาที่สูงมากสำหรับโรงงานที่ก่อมลพิษ นอกจากนี้ จีนยังออก (ultra-low emission standards) สร้างระบบควบคุมคุณภาพอากาศ และสร้างการคมนาคมสาธารณะให้มากขึ้นด้วย
สถานการณ์ปัจจุบันของจีน ถ้าเทียบกับค่ามาตรฐานแล้ว จีนก็ยังคงมีค่ามลพิษ PM2.5 ที่สูงมากอยู่ ทำให้ผู้คนยังคงต้องใช้ชีวิตประจำวันคู่กับหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ แต่ถึงจะยังสูงกว่าค่ามาตรฐาน ถ้ารัฐบาลไม่ลงมือทำอะไรเลย สถานการณ์คงน่ากลัวกว่านี้มากแน่ๆ
แม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงของ 🇲🇽ประเทศแม็กซิโก🇲🇽 ประสบปัญหามลพิษหนักในช่วง 1970-1980 ในช่วงนั้น คุณภาพอากาศแย่ถึงขั้นที่แค่สูดหายใจเข้าไปก็สามารถเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 12 มวน เลยทีเดียว ส่วนสาเหตุในแม็กซิโก ก็มาจากจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล (ประมาณ10 ล้านคน) ทำให้เกิดการใช้รถยนต์เพื่อการเดินทางมากมายมหาศาลเช่นกัน และยังประกอบกับพื้นที่ภูมิประเทศ ที่เป็นภูเขาล้อมรอบ ทำให้อากาศที่แย่ๆนั้นไม่สามารถกระจายตัวไปไหนได้
การแก้ปัญหาของแม็กซิโกในช่วงปี 1989 แม็กซิโกถือเป็นประเทศแรกที่ออกนโยบายลดการใช้รถบนถนน โดยให้ลดลง 20% ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งกำหนดจากเลขทะเบียนรถที่มีสิทธิ์ออกมาวิ่งได้ในแต่ละวัน ซึ่งวิธีการนี้ก็ทำให้ค่ามลพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัดในทันที นอกจากนี้ แม็กซิโกก็ยังใช้วิธีการอื่นๆร่วมด้วย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่น การขยายการให้บริการรถสาธารณะ และการออกมาตรฐานควบคุมการปล่อยควันต่างๆ
สถานการณ์ปัจจุบันของแม็กซิโกดูเหมือนจะไม่ได้ดีขึ้น เพราะตอนนี้เหมือนผู้คนจะไม่ค่อยสนใจมาตรการวิธีการจำกัดจำนวนรถ (Hoy No Circula Programme) เท่าไหร่ เพราะใช้วิธีซื้อรถเพิ่มเอา เพื่อให้สามารถเอารถออกไปใช้ได้ทุกวัน แถมประชากรก็มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนรถประจำทางที่มีก็ดูจะเป็นรถเก่าที่สร้างมลพิษซะมากกว่า จนกระทั่งเมื่อ พ.ค. 2019 ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม (environmental emergency) เนื่องจาก แม็กซิโก มีมลพิษที่เป็น ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ถึง 6 เท่า
นิวเดลี เมืองหลวงของ🇮🇳อินเดีย🇮🇳 เมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ คงจะไม่พูดถึงเมืองนี้ไม่ได้ นิวเดลี เป็นเมืองที่ WHO ประกาศให้เป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยมลพิษในนิวเดลลี ส่วนใหญ่มากควันจากการใช้รถ รองลงมาคือฝุ่น และควันจากอุตสาหกรรม
ภาพจาก Reuters.com
ข้อมูลจาก WHO รายงานว่า คนอินเดียมีอัตราการตายจากฝุ่นพิษ ประมาณ 2.5 ล้านคนทุกปี และอินเดียยังเป็นประเทศที่มีอัตราการตายสูงสุดจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรังและโรคหอบหืด 🤒🤕🤮🤧 ในเดลี คุณภาพอากาศที่แย่นั้นได้ทำลายปอดในเด็กประมาณ 2.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรเด็กทั้งหมดเลยทีเดียว
ประเทศอินเดียในปัจจุบัน มีการก่อสร้างเยอะ และไม่เป็นไปตามหลักสากลในการกำจัดฝุ่น และไม่มีการควบคุมปริมาณการก่อสร้างด้วย นอกจากนี้ อินเดียยังมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลายพื้นที่โดยใช้เตาเผาที่ปล่อยควันดำ การประกอบอาหารในประเทศนี้ยังมีการใช้เตาถ่านกันทั่วไปในหลายเมือง และเนื่องจากอินเดียเป็นประเทศเกษตรกรรม ต้องมีการใช้พื้นที่การเกษตรให้ทันตามฤดูกาล จึงต้องเร่งเผาพืชผลเก่า เพื่อเตรียมหน้าดินเพื่อการเพาะปลูกใหม่อยู่เสมอ ส่วนในเมืองใหญ่ต่างๆรถยนต์ที่ใช้ก็เป็นแบบเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เป็นจำนวนมากเพราะประชากรมีรายได้น้อยและต้องใช้พาหานะที่เป็นเครื่องยนต์ในการประกอบอาชีพ และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งที่ประกอบการไม่เป็นไปตามมาตรฐานและปล่อยควันพิษ
credit ภาพ จากเพจ Reflections มองเขา ดูเรา
เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศใหญ่และจำนวนประชากรอยู่ในอันดับต้นของโลก ปัญหามลพิษและ PM2.5 ยังถูกจับตามองจากหลายหน่วยงานของโลก เช่น UN และ WHO อินเดียได้พยายามออกมาตรการต่างๆในระดับเมืองเพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเมือง เช่นการควบคุมฝุ่นพิษที่เกิดจากโรงงานโดยมีกำหนดช่วงเวลาหยุดทำการของโรงงานเพื่อลดมลพิษ ปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน จัดซื้อรถสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า (electric bus) พยายามช่วยสนับสนุนทางการเงินให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีรายได้น้อยได้มีเตาประกอบอาหารที่ทันสมัยและก่อควันน้อยลง และพยายามรณรงค์ลดการใช้ดีเซล และการใช้พลังงานทดแทนต่างๆที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
บทสรุป สะท้อน🇹🇭ประเทศไทย🇹🇭
1. อากาศคือทรัพยากรร่วมที่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และอากาศเสียส่งผลต่อทุกคน ทุกชนชั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามในมุมของ"ความเท่าเทียมกันในสังคม" 💲ที่หาได้ยากนั้น 😭😭 ก็เกิดขึ้นกับอากาศเช่นกัน เช่น คนมีกำลังทรัพย์หรือมีความรู้ก็จะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือป้องกันมลพิษได้มากกว่า เช่น หน้ากากอนามัย😷😷 หรือเครื่องกรองอากาศ รัฐบาลจึงควรมองการสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้กับกลุ่มประชากรที่ไม่มีกำลังทรัพย์💰💰💰มากพอที่จะเข้าถึงความปลอดภัยทางอากาศนี้ด้วย⚖⚖⚖
ข้อมูลจาก WHO
2. จากตัวอย่าง(ที่ดี)👏 ของรัฐบาลจีน รัฐบาลไทยควรออกมาตรการที่เป็น"รูปธรรม" คือมาตรการการจัดการมลพิษที่"ชัดเจน" และ "ทันที" โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดในจังหวัดใดบ้างที่ควรทำใน phase 1,2,3 เป็นต้น และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องวัดค่าการลดลงได้กี่ % มีการกำหนดช่วงเวลาที่จะต้องวัดผลของมาตรการที่ชัดเจนด้วย อันนี้สำคัญมาก พูดเลย!!! เพราะมาตรการหรือการรณรงค์แบบลอยลมจะไม่ช่วยอะไร ผู้นำหรือรัฐบาลจึงต้องกำหนดทิศทางและให้ความชัดเจนต่อหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบและประชาชนที่มีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษหันมาดำเนินการจัดการในทิศทางเดียวกัน 📌📍
3. มาตรการหรือกฏหมาย⚖ต้องมีความจริงจัง🔨🔨🔨🤨🤨 พูดง่ายๆคือ วัดค่ามลพิษจริง บังคับใช้กฏหมายกำหนดมาตรฐานของโรงงาน ของรถยนต์อย่างจริงจัง เพราะกฏหมายจะไม่ก่อประโยชน์ใดๆในสังคมหากไม่มีการ "บังคับใช้" และต้องกำหนดค่าปรับในมูลค่าสูงโดยที่ไม่จูงใจให้ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ยานยนต์ และผู้ที่ก่อมลพิษในรูปแบบต่างๆ ดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฏ อย่างตัวอย่างของ 🇬🇧ลอนดอน🇬🇧ที่มีการปรับในราคาที่สูงมากทั้งรถส่วนตัวและรถที่จดทะเบียนพานิชย์ และค่าปรับจะยิ่งสูงมากสำหรับรถที่เข้ามาในเขตเมืองที่มีรถและประชากรหนาแน่น เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีความจริงจังในการตรวจสอบและดูมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากรถสาธารณะเองด้วย (เนื่องจากสิ่งที่พบเห็นในปัจจุบัน รถสาธารณะ🚍หรือแม้กระทั่งเรือ🚤รับ-ส่ง ก็ปล่อยควันพิษไม่น้อยทีเดียว😤) 🚎🚍🛵🚙🚤🚤
4. รัฐบาลต้องมีความไว🧨ต่อสถานการณ์👈👈 คือนอกจากการป้องกันและการแก้ปัญหาระยะยาวแล้ว ควรมี"มาตรการชั่วคราว"⛳เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนเบื้องต้นด้วย เช่น กำหนดให้โรงเรียนหยุดในวันที่ค่ามลพิษสูงมาก เพราะปัญหาสุขภาพประชากรโดยเฉพาะประชากรในวัยเด็กคือต้นทุนและมูลค่าของสังคมในระยะยาว การส่งเสริมให้บริษัทห้างร้านมีการทำงานจากที่บ้าน (remote working ผ่านอินเตอร์เน็ต)ในช่วงที่มีค่ามลพิษมาก หรือการประกาศให้ประชาชนใช้รถสาธารณะต่างๆฟรีในช่วงที่มีค่ามลพิษสูง หรือการกำหนดจำนวนรถในถนน(เช่น แม็กซิโก🇲🇽 ที่กำหนดรถให้ออกมาวิ่งได้ตามเลขทะเบียนรถ เพื่อลดปริมาณรถบนถนน)
5. ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ 🤓🤓💡💡🔍🔍หรือคิดค้นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ลดมลพิษในชีวิตมนุษย์ เช่น การสร้างตึกต้นไม้ (vertical forest)🌲🌳🌴🌲🌳🌵 แบบอิตาลี🇮🇪 และจีน 🇨🇳ที่ช่วยดูดซับมลพิษในเมืองพร้อมผลิตออกซิเจน🥰ในอากาศ การรณรงค์และจัดพื้นที่ให้ผู้คนใช้จักรยานในการสัญจร (อย่างในหลายประเทศในยุโรป ที่มีค่าอากาศที่ดี) ถึงแม้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อน การสัญจรด้วยจักรยานอาจจะไม่เป็นที่ปรารถนาของหลายๆคน แต่การขี่จักรยานแทนรถยนต์ในวันหยุดที่ไม่เร่งรีบ หรือในระยะทางสั้นๆ หรือในช่วงหน้าหนาว (ถึงแม้จะมีไม่นานในเมืองไทยก็ตาม) ก็จะสามารถช่วยลดมลภาวะได้ส่วนหนึ่งและยังเป็นการออกกำลังกายด้วย 🚲🛴🛹
6. ความร่วมมือระหว่างประเทศ🤝 แบบพหุภาคี (หลายๆประเทศ) 🤝 อย่างที่กล่าวไป อากาศคือทรัพยากรร่วม ไม่ใช่ร่วมในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นระดับโลก ดังนั้น อากาศที่ล่องลอยอยู่ ลมที่พัดพามาเป็นธรรมชาติที่มนุษย์โลกจะได้รับผลกระทบร่วมกัน หากเรามีการจัดการอากาศที่ดีแล้ว แต่อากาศจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีก็อาจส่งผลต่อประเทศเราได้ และในทางกลับกันอากาศแย่ๆในประเทศเราก็อาจเป็นการสร้างความรบกวนและทำลายสุขภาพของประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วยเช่นกัน เพราะลมจะเพลมจะพัด(ฝุ่น PM2.5 ไปทิศใด) เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่การควบคุมการเกิดฝุ่นและมลพิษเป็นสิ่งที่เรายังจัดการได้ ดังนั้นเราจึงควรสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่เราและเค้าอาจส่งผลกระทบต่อกันและกัน ความร่วมมืออาจเริ่มตั้งแต่การออกมาตรการร่วมกันในการลดมลพิษจนกระทั่งถึงการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก:
โฆษณา