3 ก.พ. 2020 เวลา 16:22 • ความคิดเห็น
เมาท์มอยหอยกาบ:
เมื่ออ่านเล่มนี้จบแล้ว คำแรกที่อุทานออกมาเลยคือ “คนเขียนเป็น AI เปล่าเนี่ย!”
ที่คิดว่าคนเขียนเป็น AI รึเปล่าเพราะว่าข้อมูลมันเยอะมาก แน่นมาก มีทั้งจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอีกไม่รู้กี่ศาสตร์อัดกันแน่นเต็มหนังสือไปหมด ไม่แปลกใจที่เล่มนี้เป็นหนังสือดังเพราะว่าความเข้มข้นของเนื้อหาสมคำร่ำลือ (แน่นขนาดที่ว่าบทอ้างอิงมีตั้ง 42 หน้า!)
เล่มนี้ได้รวมประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษย์เราตั้งแต่ Big Bang จนมาถึงโลกปัจจุบัน ซึ่งมันเป็นหนังสือเล่มแรกเลยที่รวบรวมตั้งแต่ต้นยันจบได้ค่อนข้างครบถ้วน
เนื่องจากเป็นหนังสือที่ค่อนข้างดัง ทำให้มีกระทู้เขียนสรุปให้ไว้พอสมควร ใครที่อ่านเล่มจริงไม่ไหวสามารถไปหาตัวสรุปอ่านได้นะคะ
เนื้อหาหลัก:
เล่มนี้ได้อธิบายเผ่าพันธุ์ Sapiens ของเราว่าทำไมเราถึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารได้
เหตุผลเพราะว่าเราได้ผ่านการปฏิวัติใหญ่มาทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่
1.ปฏิวัติการรับรู้
มีประโยคหนึ่งในบทนี้ที่น่าสนใจมากคือ “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสื่อสารเรื่องที่ไม่เห็นได้”
ความหมายคือ การที่เรามีภาษาใช้กันในหมู่เผ่าพันธุ์ของเรานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยเพราะนก มด หรือ สัตว์อื่นๆ ก็มีภาษาที่ใช้กันภายในทั้งนั้น
แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ภาษาของเราสามารถพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงได้ เช่น เทวดา ภูติผีปีศาจ ต่างๆ
มันคงเป็นภาพที่แปลกที่เราจะเห็นลิงพูดถึงแม่น้ำที่ไม่มีอยู่จริง หรือ นกพูดถึงเมล็ดพันธุ์พืชวิเศษที่กินแล้วจะอายุเป็นอมตะ แต่มนุษย์เราพัฒนาภาษาขึ้นมาในแบบที่เราสามารถสื่อถึงเรื่องนามธรรมได้
การซุบซิบนินทาเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่น มันเป็นทันการสร้างกฎการอยู่ร่วมกัน และ ทำให้เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นและมั่นคงขึ้น
โดยที่การซุบซิบนินทานั้นสร้างกฎการอยู่ร่วมกันซึ่งได้ผลดีเมื่อรวมกลุ่มไม่เกิน 150 คน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่และมั่นคงมาก
ปกติแล้วการที่สัตว์จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ มักจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับของพันธุกรรม แต่เนื่องจากที่เราสามารถสื่อสารในเรื่องนามธรรม และได้สร้างศาสนา ความเชื่อต่างๆขึ้นมา สปีชีส์ของเราจึงสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยใช้ปัจจัยทางวัฒนธรรม (Cultural Evolution)
2.ปฏิวัติเกษตรกรรม
ในการปฏิวัตินี้มีการหลอกลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้น
การปฏิวัตินี้คือการปฏิวัติทีเซเปียนส์เปลี่ยนจากการเป็นพรานป่า หาเท่าที่กิน มาเป็นเกษตรกรที่ปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์
ฟังดูเหมือนว่ามนุษย์ของเราได้พัฒนาขึ้นเพราะเราสามารถสร้างผลผลิตมวลรวมได้มากขึ้น แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องหลอกลวง
พรานป่ามีชีวิตที่อดอยากและเผชิญกับโรคน้อยกว่าถ้าเทียบกับเกษตรกร เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ถูกนำไปเพิ่มจำนวนประชากรและปรนเปรอชนชั้นนำของสังคม ดังนั้นแล้วการปฏิวัติครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนของสปีชีส์แต่หาใช่การพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่
และแน่นอนว่าเมื่อเราเปลี่ยนไปใช้ชีวิตแบบเกษตรกร การค้าย่อมตามมา การอยู่ร่วมกันก็ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นเมืองขึ้นมา
เมื่อผู้คนมาอยู่ร่วมกันมากๆ ศาสนา ความเชื่อกฎหมาย และอื่นๆอีกมากมายก็เริ่มตามมา และยิ่งนำพาให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นมากขึ้น
3.ปฏิวัติวิทยาศาสตร์
ตามชื่อเลยค่ะ อันนี้เป็นตอนที่วิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์
วิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใกล้กับคำว่า “พระเจ้า” เริ่มสร้างเวทย์มนต์และทำเรื่องที่เหนือธรรมชาติได้
ในบทนี้เนื้อหาน่าสนใจเยอะมากๆ แต่ขอพูดถึงประเด็นหนึ่งซึ่งสำหรับเราแล้วเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้เลยคือ
“เราเข้าใกล้กับการเป็นพระเจ้า แต่ที่น่ากลัวคือเราอาจจะยังไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร”
คำถามมันเกิดขึ้นจากการปฏิวัติทุกครั้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติว่า เราได้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำให้สปีชีส์เราดีขึ้นจริงหรือ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติเกษตรกรรมที่สร้างผลเสียด้านโรคระบาดและการขาดสารอาหารในบางกลุ่ม
และถ้าเรามีการวิวัฒนาการไปแต่ไม่ใช่เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นแล้วเราจะวิวัฒนาการไปทำไม?
เรามักจะถามว่าเรา “ต้องการจะเป็นคนแบบไหน” เช่น แข็งแรงขึ้น ก็สร้างยา อยู่ได้นานขึ้น ก็โคลนร่างกายตัวเอง แต่คำถามที่อาจจะน่าถามกว่ามากคือ “เราต้องการจะต้องการอะไรกันแน่?” สิ่งไหนกันแน่ที่ดีกับเผ่าพันธ์ของเราจริงๆ
หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราคิดกับคำถามนี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแล้วเซเปียส์จะกลายเป็นพระเจ้าที่ไม่เข้าใจความต้องการตัวเอง
วิธีการเล่าเรื่องของคนเขียน:
นอกจากที่ข้อมูลจะแน่นอย่างที่ได้บอกมาแล้ว Yuval มีวิธีการเล่าพิเศษที่ทั้งน่าเชื่อถือและน่าสนใจในเวลาเดียวกัน
ยอมรับว่าบางครั้งจะมี Jargon (คำศัพท์เฉพาะ) ที่งงๆ หรือไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่าอ่านง่ายมากสำหรับหนังสือเนื้อหาขนาดนี้
Yuval จะมีชื่อบทที่โยนเอาไว้แบบอยากให้อ่านต่อ และได้ซอยแต่ละบทไว้เป็นบทที่ไม่ยาวจนเกินไปทำให้มีกำลังใจอ่าน
สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงแนะนำให้ซื้อฉบับแปลเนื่องจากว่า Version Original ที่เป็นภาษาอังกฤษมีภาษาที่ค่อนข้างอ่านยากนิดนึงนะคะ
สรุป:
เนื้อหาที่เค้าสื่อมันใหม่มาก (จากที่เคยอ่านหนังสือมา แทบไม่เคยเจอเล่มไหนที่เอาประวัติศาสตร์มาเล่าจริงจังเท่านี้)
จุดที่น่าสนใจอีกจุดคือเมื่ออ่านจบแล้วจะมีรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือ Self-help ดีๆซักเล่มด้วย เพราะว่าเมื่อได้อ่านประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว จะทำให้เราตกตะกอนกับชีวิตของตัวเองได้มากขึ้นคล้ายๆกับเป็นการเรียนรู้ชีวิตผ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งจากที่สังเกตมาคือแต่ละคนที่อ่านจะรู้สึกตกผลึกในประเด็นที่ต่างๆกันตามโจทย์ชีวิตที่ตัวเองมีอยู่
เพราะฉะนั้นถ้ามีเวลา แนะนำให้อ่านอย่างยิ่งเลยค่ะ! ถ้าจะมีกรณีเดียวที่ไม่แนะนำคือคนที่กลัวหนังสือยาวๆ เพราะเล่มนี้ยาวได้ใจจริงๆค่ะ :)
2
ชื่อหนังสือ: Sapiens A Brief History of Humankind
คนเขียน: Yuval Noah Harari
ชนิดของหนังสือ: History, Science
ระดับความแนะนำให้อ่าน: 4/5
ความยาว: 608 หน้า
โฆษณา