4 ก.พ. 2020 เวลา 05:23 • ครอบครัว & เด็ก
รีวิว โรคสมาธิสั้นและอาการเสพติดการทำร้ายตัวเอง
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของผู้เขียน ผู้เขียนมักจะได้ยินคำนิยามที่คนรอบตัวกับผู้เขียนเสมอว่า
'พูดจะไม่รู้เรื่อง'
'พูดเร็วจัง'
'ทำไมมึนได้ขนาดนี้'
'ตอบไม่ตรงคำถามเลย'
ซึ่งสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้เขียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันมีผลต่อการเชื่อถือ การทำงานและการเข้าสังคมเป็นอย่างมากเพราะสังคมไม่ได้เปิดกว้างจนยอมรับความแตกต่างในแต่ละบุคคลได้ทุกคนได้ขนาดนั้น
ถึงแม้จะมีการรณรงค์ในเรื่องนี้แล้วก็ตามซึ่งเป็นผลพวงจากการรณรงค์ในเรื่องความแตกต่างทางเพศ สีผิว ชาติกำเนิด จึงรวมมาถึง "อัตลักษณ์"
ผู้เขียนถูกพาไปหาจิตแพทย์ครั้งแรกในตอนที่ผู้เขียนเสพติดการทำร้ายตัวเองอย่างหนักในอายุ 14 ปี จนถึงขั้นที่ทางบ้านต้องเอาของมีคมไปซ่อน (แต่ถึงอย่างนั้นผู้เขียนก็ใข้ปากกาหรือกิ๊บติดผมได้อยู่ดี)
ิตอนแรกผู้เขียนนึกว่า ตนเองเป็นโรคเครียด แต่ผลการวินิจฉัยก็ออกมาตรงกันข้าม สร้างความประหลาดใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก
"น้องเป็นมีอาการคล้ายๆกับสมาธิสั้นนะคะ"
เมื่อสอบถามก็ได้ความว่า ในขณะที่พูดคุยกันจิตแพทย์สังเกตเห็นว่า ผู้เขียนเขย่าขาตลอดเวลาหรือไม่ก็จับปากกามาควง พูดจาเร็ว
ซึ่งผู้เขียนก็ยิ่งสงสัยหนักเข้าไปใหญ่ว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับอาการเสพติดการทำร้ายตัวเอง ฉันต้องการรักษาอาการนี้ ทำไมหมอตอบไม่ตรงคำถาม
จึงได้ความว่า ผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะเข้าสังคมได้ยากกว่าคนปกติเล็กน้อยเนื่องจากพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นอาทิ การทำอะไรตามใจ เสียงดังโหวกเหวก แกล้งเพื่อน พูดจาเร็วและไม่ประติดประต่อ เหม่อลอยบ่อย ทำให้มีเพื่อนน้อย โดนมองเป็นตัวตลกบ่อย
ถ้าในครอบครัว ผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ต้องมีความใจเย็นและทำความเข้าใจในตัวเด็กให้มาก ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กกลุ่มนี้จะโดนตี ทำโทษ ดุด่าว่ากล่าวบ่อยเพราะผู้ปกครองเกิดความเครียดในการเลี้ยงดู
ประกอบกับเด็กกลุ่มนี้มักจะมีความอ่อนไหวง่ายเพราะมักชอบสังเกตเห็นปฏิกิริยาของคนรอบตัว ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย จึงก่อให้เกิดอาการเครียดนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด
และนั่นคือสาเหตุที่ผู้เขียนทำร้ายตัวเอง
จิตแพทย์จึงให้ผู้เขียนรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลในสมองดูก่อนและนัดให้มาตรวจอีกครั้งในอีก 1 เดือน
ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอเล่าอาการก่อนไปหาจิตแพทย์ให้ผู้อ่านได้ทราบก่อนที่ผู้เขียนจะรีวิวผลหลังการรับประทานยา
ผู้เขียนจะเบื่อง่ายมากเวลาทำอะไรซ้ำๆแล้วจะรู้สึกง่วงนอน ผู้เขียนจึงต้องการหาอะไรสนุกๆทำ เช่น การเอาดินสอสีมาปักผมตัวเองทั้งกล่องให้ได้ การลุกขึ้นเต้นในห้องเรียน การแกล้งเพื่อนข้างๆด้วยการเอาดินสอไปขีดสมุดเพื่อน เป็นต้น
หรือการตอบไม่ตรงคำถามเช่น ถ้าสามีมาถามเราว่า
'วันนี้ต้องไปเยี่ยมแม่ใช่มั้ย'
เราก็จะประมวลผลในสมองว่า 'ใช่' แต่ไม่ได้พูดออกไป และสมองก็จะเชื่อมโยงออกมาว่า ไปเยี่ยมแม่แล้วที่โรงพยาบาลมีร้านขายเครื่องครัวราคาถูก ที่บ้านเราหม้อ กระทะพังพอดี เราเลยตอบไปว่า
'เอารถใหญ่ไปมั้ย' (เพราะเราคิดว่า รถมอเตอร์ไซด์ของเค้าจะแบกหม้อใบใหญ่กับกระทะไปไม่ไหวแน่ๆ)
มี 2 สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนนิ่งและจดจ่อกับมันได้ดี ที่สุดคือการอ่านหนังสือและการเต้น และเมื่อผู้เขียนได้เข้าสู่ภวังค์ของ 2 สิ่งนี้ ผู้เขียนจะเหมือนตัดจากโลกภายนอก ไม่ได้ยินเสียงรอบตัวอะไรเลย เหมือนโลกนี้มีเพียงแค่ผู้เขียนกับสิ่งที่ทำอยู่เท่านั้น
และผู้เขียนก็ตระหนักได้ว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอนาคตของผู้เขียนต้องลำบากมากแน่ๆในเรื่องการแบ่งเวลา จึงได้ฝึกการแบ่งเวลานั่นคือ ให้เวลากับสิ่งที่ชอบเหล่านั้น 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วต้องหยุดและมาทำอย่างอื่นต่อ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ยากมากเพราะผู้เขียนไม่สามารถเปลี่ยนมาสนใจในสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบันได้เพราะจะนึกถึงการเต้น หนังสือตลอดเวลา
กลับมาที่ผลจากการรับประทานยา
เมื่อผู้เขียนได้รับประทานยาที่คุณหมอจัดให้ ผู้เขียนก็รู้สึกเหมือนโลกนี้เปลี่ยนไป รู้สึกสมองโล่งมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (นึกถึงตอนคุณนอนหลับอย่างเพียงพอและตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น)
สามารถนั่งเรียนได้นานขึ้น เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้นและบรรดามิตรสหายของผู้เขียนก็สังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน
พวกเขาบอกว่า ผู้เขียนพูดจาเข้าใจง่ายขึ้น พูดช้าลง ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนมีความสุขมาก สามารถเข้ากับสังคมได้ง่ายขึ้น คิดมากน้อยลง ผู้เขียนจึงคาดเดาเอาเองว่า คนปกติก็คงรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน ช่างเป็นความรู้สึกที่ดีอะไรเช่นนี้ และที่บิดา มารดาของผู้เขียนภูมิใจมากคือ
เกรดเฉลี่ยของผู้เขียนพุ่งจาก 2.5 เศษๆมาเป็น 3.61
ปัจจุบันนี้ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้รับประทานยาแล้ว แต่ก็หวังว่า บทความนี้อาจจะช่วยให้ใครอีกหลายๆคนกล้าที่จะไปพบแพทย์ เพราะถ้าคุณได้รับการรักษาที่ถูกต้อง คุณจะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกมากค่ะ
ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก
โฆษณา