6 ก.พ. 2020 เวลา 11:40 • ความคิดเห็น
ตัวอยู่กับคนที่เรารัก แต่หน้าไม่เคยพักมองจอ
ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดมาบนโลกนี้ 200,000 ปี
มีแค่ในช่วง 10 ปีหลังสุด ที่พฤติกรรมมนุษย์ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ในสมัยก่อนเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่กับใคร จิตใจเราก็จะอยู่กับคนนั้น
แม่อยู่ใกล้ลูก สามีอยู่ใกล้ภรรยา พี่น้องอยู่ใกล้กัน
พูดคุย เอาใจใส่คนที่อยู่ตรงหน้า
มาวันนี้..
ถึงแม้ว่าตัวเราอยู่กับครอบครัวที่เรารัก
แต่จิตใจเรากลับล่องลอยไปไกล
ลอยไปตามเรื่องราวที่อยู่ใน “หน้าจอสี่เหลี่ยม”
จนกว่าจะรู้ตัวอีกที..
มนุษย์ก็ไม่สามารถย้อนคืนกลับไปจุดเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้อีกต่อไป
พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
คำว่า Nomophobia ย่อมาจาก No-mobile-phone phobia หรือโรคกลัวการขาดมือถือ อาจเป็นโรคที่กำลังเกิดขึ้นกับใครหลายคน
สตีฟ จ็อบส์เปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นแรก ปี 2007
เพียง 13 ปีผ่านไป “สมาร์ตโฟน” ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ
ให้พฤติกรรมมนุษยชาติเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว
ถ้าเราคิดว่า สมาร์ตโฟน จะแย่งเพียง “เวลา” ของเราเท่านั้น มันอาจไม่ใช่
เพราะนานวันเข้า
มันกลับแย่ง เวลาของ “คนที่อยู่ข้างเรา” ไปด้วย..
3 ชั่วโมง 14 นาที คือ เวลาที่คนทั่วโลกเล่นอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟนในหนึ่งวัน
5 ชั่วโมง 13 นาที คือ เวลาที่คนไทยเล่นอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟนในหนึ่งวัน
รู้ไหมว่า เวลาของคนไทย ถือเป็นตัวเลขที่นานที่สุดในโลก..
คำว่า “คนไทยอยู่กับสมาร์ตโฟนนานสุดในโลก” นั้นอันตราย
เพราะมันหมายถึง เวลาที่คนไทย “มีเหลือให้คนรอบข้าง” น้อยที่สุดในโลก เช่นกัน..
คนรอบข้างในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่คู่รัก
แต่ยังรวมไปถึง พ่อ แม่ ลูก ญาติ พี่ น้อง และเพื่อนๆ ของเรา
กี่ครั้งที่เรานัดสังสรรค์กับเพื่อน
แต่พออยู่ต่อหน้ากัน ทุกคนกลับเล่นมือถือ
กี่ครั้งที่เรานั่งอยู่ข้างคนในครอบครัว
แต่ทุกคนกลับยิ้มในเรื่องราวของคนอื่น
กี่ครั้งที่เรานั่งกินข้าวกับคนรู้ใจ
แต่ต่างคนต่างสนใจ หน้าจอใคร หน้าจอมัน
หากเราพยายามลองนับดูว่า “กี่ครั้ง”
คำตอบคือ 400 ครั้ง เป็นจำนวนเฉลี่ยที่เราคนไทยยกมือถือขึ้นดูในแต่ละวัน..
Cr. Vulcan Post
หรือมันอาจเป็นเพราะ “ระบบ” ที่ฝังอยู่ข้างในหน้าจอนั้น
ระบบ AI ที่ช่างเลือกข้อมูลได้เก่ง
จนแทบจะดึงความสนใจเราไปทุกเวลา..
ทุกวันนี้..
เราแคร์คนที่บังเอิญผ่านมาเห็นรูปโปรไฟล์ของเราในนั้น
เราแคร์ว่าคนในนั้น จะมองเราเป็นอย่างไร
เราแคร์ความคิดเห็นของคนในนั้น
เราแคร์ว่าทำไมเขาคิดไม่เหมือนกับเรา
ขณะที่เราแคร์คนในนั้น
เรากลับแคร์คนรอบข้างน้อยลง..
ที่เรากลัวกันว่าหุ่นยนต์ หรือ AI จะมาครอบงำเรา ณ จุดๆ หนึ่งในอนาคต
แต่พฤติกรรมทั้งหมดของเราในตอนนี้
มันกลับสะท้อนให้เห็นว่า
ในตอนนี้ มนุษย์ ทุกคนกำลังถูกครอบงำไปแล้ว
โดยไม่รู้ตัว..
อ่านบทความนี้จบ
เงยหน้ามองคนที่เรากำลังอยู่ด้วย
นั่นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้น
ความคงอยู่ของตัวเราในโลกจริง กำลังหายไป..
“AI is a fundamental risk to the existence of human civilisation.”
“AI เป็นความเสี่ยงหลักต่อ การคงอยู่ ของอารยธรรมมนุษย์”
- อีลอน มัสก์
โฆษณา