7 ก.พ. 2020 เวลา 11:41
บาดแผลทางกายไม่เท่าไหร่ บาดแผลทางใจนี่สิสำคัญ
อุบัติเหตุในโรงเรียน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมรับมือ และส่งผู้บาดเจ็บให้ถึงมือหมอ จึงเป็นหน้าที่พิเศษของครู
ในการทำงานของครู เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า
จะมีพักเที่ยงวันใดที่จะเกิดเหตุกับนักเรียนบ้าง จนกระทั่งวันนี้…
เด็กชายกลุ่มหนึ่งวิ่งหน้าตั้งมาหาครู พร้อมโชว์บาดแผลของเพื่อนเขา
ที่โดนกลอนประตูเฉี่ยวจนเลือดไหลมาตามแขน
มันไม่ใช่แผลใหญ่แต่อย่างใด
แต่ก็พอจะทำให้นักเรียนคนนี้เข้าห้องเย็บแผลได้เหมือนกัน
ผมสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วรีบพาไปอนามัยที่ใกล้ที่สุด
"แผลลึกนะคะ อนามัยไม่มีหมอเย็บ พอดีหมออยู่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
คุณครูช่วยไปส่งที่โรงพยาบาลได้ไหมคะ"
นักศึกษาพยาบาลอธิบายให้ผมฟัง ด้วยสายตาเชิงขอร้อง
เพื่อให้ผมไปส่งนักเรียนที่โรงพยาบาล
ผมเคลิ้มอยู่ครู่ใหญ่ … ไม่ใช่สิ !!!
ผมครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ แล้วหันไปมองเด็ก เพื่อสอบถามเรื่องการเดินทาง
ได้ความว่าพ่อแม่ไม่มีรถไปส่ง…
แน่นอนครับ ผมต้องพาเขาไปโรงพยาบาล ซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ 20 กม.
เด็กชายหนุ่ย เป็นเด็กชายเงียบๆ ทำให้การคุยกันระหว่างทาง
เป็นการถามตอบสั้น ๆ เท่านั้น แต่ก็พอจะทำให้รู้เรื่องราวอาการบาดเจ็บได้บ้าง
เย็บ 3 เข็ม ธรรมดามากสำหรับเขาคนนี้
อาการเสียขวัญ คือ สิ่งที่ผมสังเกตได้จากสีหน้าของเด็กคนนี้
เขาตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ใช่บาดแผลอันตรายก็ตาม
ผมคุยเป็นเพื่อนเขาก่อน เพื่อให้หายจากอาการตกใจ
แล้วมันก็ได้ผล … เขาตอบคำถามผมมากขึ้นและเล่าเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุให้ฟัง
ไม่ว่าเรื่องราวจะหนักหนาสักเพียงใด หากเกิดกับเด็ก ๆ สิ่งแรกที่ครูควรทำ ไม่ใช่การด่าครับ
แต่ควรเป็นการถามหาสาเหตุก่อน ว่าโดนอะไรมา ครูจะได้หาทางช่วยที่ถูกต้องต่อไป
การดุด่า โดยที่ไม่ฟังอะไรก่อนทำให้เด็กเสียขวัญแน่นอนครับ อาจทำให้การบอกอาการ
หรือเรื่องราวต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
ดังนั้นทางที่ดี อย่าพยายามสร้างบาดแผลซ้ำเติมในจิตใจเขาเลย
แค่นี้ก็เจ็บทางร่างกายมากพอแล้ว
เพราะถ้าหากเป็นเรา เราก็คงชอกช้ำในใจไม่น้อยทีเดียว
ครูสายเลือดใหม่ : เรียบเรียง
โฆษณา