12 ก.พ. 2020 เวลา 07:04 • ครอบครัว & เด็ก
สอนยังไงให้มีน้ำใจนักกีฬา
น้ำใจนักกีฬา พ่อแม่จะสอนยังไงให้ลูกเข้าใจ
เราอาจจะเคยเห็นว่าเด็กบางคนไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือเด็กโต มีอาการงอแง โวยวาย ไม่สบอารมณ์ เมื่อเล่นเกมไม่ชนะ แข่งกีฬาแพ้ นี่คือสัญญาณว่าลูกกำลังขาด “น้ำใจนักกีฬา” ซึ่งอาจจะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่แพ้ไม่เป็น แล้วจะส่งผลให้ลูกไม่มีเพื่อนเล่นด้วย หรือยากที่จะทำงานเป็นทีมกับผู้อื่นเมื่อเขาโตขึ้น แต่เราจะสอนลูกยังไงให้เขามีน้ำใจเป็นนักกีฬามากขึ้น รู้จักยอมรับความผิดหวังพ่ายแพ้ วันนี้มีแนวทางการพูดคุยกับลูกมานำเสนอ
ลูกจะยอมรับความพ่ายแพ้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ที่จะเป็นคนที่ให้กำลังใจลูกหรือทำให้ลูกเสียกำลังใจ หรือเป็นฝ่ายกดดันให้ลูกเกิดความเครียด สิ่งเหล่านี้เองสะท้อนว่าพ่อแม่นั้นยอมรับความพ่ายแพ้ได้หรือไม่ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าการแพ้เป็นธรรมดาของชีวิต การแพ้ทำให้เราเพิ่มความพยายามเข้าไปอีก และมันทำให้เราเข้มแข็ง ลูกก็จะมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างของชีวิต ที่พร้อมจะเผชิญกับชีวิตที่ต้องเจอกับความพ่ายแพ้ในอนาคต ก่อนที่จะเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักแพ้ จึงต้องเริ่มที่ตัวพ่อแม่เสียก่อน แล้วจึงค่อยๆสอนลูกอย่างเข้าใจ ดังนี้
1. ลดความคาดหวังในตัวลูก ไม่กดดัน
พ่อแม่ย่อมจะมีความสุขเมื่อเห็นความสำเร็จของลูก เพราะรางวัลที่ลูกได้รับเป็นภาพภาพสะท้อนความสำเร็จในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่จึงคาดหวังอยากให้ลูกชนะโดยไม่รู้ตัว ไม่อยากให้ลูกแพ้ ซึ่งตัวลูกเองก็สามารถจับความคาดหวังของพ่อแม่ได้เช่นกัน ลูกจึงไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลายเป็นความรู้สึกกดดัน ที่ไม่ได้เกิดจากกลัวแพ้ แต่กลัวพ่อแม่ผิดหวังมากกว่า ดังนั้น พ่อแม่จึงควรลดความคาดหวังลง อย่าไปกดดันว่าลูกต้องชนะ ลูกต้องไม่แพ้ เพราะลูกจะรู้สึกกดดัน และเกิดภาวะเครียดตามมา
2. รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองก่อน
เพราะลูกเฝ้าดูและคอยเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่อยู่ตลอด พ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างให้กับลูก เวลาทำผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ พ่อแม่ต้องหัดควบคุมอารมณ์โกรธ ผิดหวัง เสียใจของตนเองให้ได้ก่อน ไม่ฉุนเฉียว หรือระบายอารมณ์ด้วยคำหยาบคายให้ลูกเห็น
เมื่อลูกผิดหวังหรือพ่ายแพ้ก็เช่นกัน พ่อแม่ไม่ควรแสดงอาการผิดหวังให้ลูกเห็นอย่างเด็ดขาด และอย่าแสดงอาการภูมิใจหรือดีใจมากจนออกหน้าเมื่อลูกชนะ เพียงแค่พูดกับเขาสั้นๆว่า “พ่อกับแม่ภูมิใจที่ลูกทำได้” ที่สำคัญคืออย่าพูดจาประชดประชัน หรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะการที่ต้องแข่งกันคนอื่นตลอดเวลาจะทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่หาความสุขได้ยาก และตัวลูกเองก็ไม่มีความสุข แต่ควรให้ลูกแข่งขันกับตัวเอง พยายามทำให้ดีกว่าเดิม แล้วพ่อแม่คอยชื่นชมเมื่อเขาทำได้ แบบนี้ลูกจะมีความสุขไปพร้อมกับการพัฒนาตนเองมากกว่า
3. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูก
เมื่อลูกพ่ายแพ้และผิดหวัง พ่อแม่ควรเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูกว่า เขากำลังผิดหวังและกำลังเสียใจ พ่อแม่เข้าใจ เพราะคนเราถ้าแพ้ก็รู้สึกแบบนี้ได้ทั้งนั้น รู้สึกเสียใจได้ โกรธได้ ผิดหวังได้ พ่อแม่ต้องให้กำลังใจ และพยายามสอนให้ลูกค่อยๆยอมรับกับความพ่ายแพ้ ไม่ใช่แพ้แล้วอาละวาด ควรบอกลูกว่า เอาใหม่ ฝึกใหม่ โดยมีพ่อแม่เป็นต้นแบบ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความรู้สึกของลูก อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กแพ้ไม่เป็น ขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ และไม่คิดถึงผู้อื่นตามมา
4. เลิกตามใจลูกไปทุกเรื่อง
การตามใจลูกไปเสียทุกเรื่องนั้น เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิตของลูกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ ระเบียบวินัย การแสดงออก ความก้าวร้าว รวมไปถึงเรื่องของการสอนลูกให้แพ้เป็นด้วย เพราะเด็กที่ได้รับการตามใจนั้นจะเคยชินกับความสมหวัง พอผิดหวังหรือแพ้ก็จะรู้สึกยอมรับความพ่ายแพ้ได้ยาก ถ้าเป็นเด็กๆก็จะแสดงออกด้วยการโวยวาย ร้องห่มร้องไห้ ถ้าไม่ฝึกฝนให้รู้จักแพ้เป็น ลูกก็จะโตเป็นคนที่ยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ หากไม่พยายามที่จะเอาชนะในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ก็อาจซึมเศร้าเสียใจจนเกินกว่าเหตุ
5. สอนลูกให้เข้าใจว่าพ่อแม่ยังรักเขาเสมอ ไม่ว่าผลจะแพ้หรือชนะ
พ่อแม่ต้องสอนลูกว่าการได้รับชัยชนะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต ไม่ว่าชนะหรือแพ้ ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเขาก็ไม่ลดลง พ่อแม่ยังคงรับลูกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ให้เขารู้ว่าความพยายามคือต้นทางของความสำเร็จที่แท้จริง หากเขาทำอย่างตั้งใจ ทำอย่างเต็มที่แล้ว นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ เพราะลูกได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้ ได้ฝึกความอดทน ความพยายาม ถ้าแพ้ในคราวนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องแพ้ตลอดไป
6. สอนให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม
เด็กเล็กอาจยังขาดทักษะด้านการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง จึงดูเหมือนเขางอแงไม่มีเหตุผล เมื่ออารมณ์ของลูกสงบลง พ่อแม่ควรเข้าไปนั่งพูดคุยกับลูกเพื่อเรียนรู้ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกลูก สอนให้เด็กเข้าใจและสื่อคำพูดสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเขาเองออกมา ขณะเดียวกันยังเป็นการหัดให้เด็กกล้าปรึกษาหารือในเรื่องละเอียดอ่อนของชีวิตกับพ่อแม่อีกด้วย
7. สอนให้ลูกเรียนรู้จากความพ่ายแพ้
เมื่อลูกเผชิญกับความพ่ายแพ้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ การพูดคุยและปลอบโยนลูก เมื่อเขาทำใจยอมรับความพ่ายแพ้ได้แล้ว พ่อแม่จึงชวนลูกคุยว่าทำไมเราจึงพลาดไปในครั้งนี้ เราควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง แล้วให้ลูกพยายามตั้งเป้าหมายว่าครั้งต่อไปลูกตั้งใจจะทำให้ดีแค่ไหน ให้ลูกแข่งกับตัวเอง ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น เช่น การแข่งกีฬา ควรสอนให้ลูกดูสถิติที่ดีขึ้นของตัวเอง เป็นต้น
8. ให้ลูกหัดชมผู้อื่นบ้าง
ลักษณะอย่างหนึ่งของคนที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา คือ การรู้จักชื่นชมคนอื่น นั่นแปลว่าเรายอมรับความสามารถของผู้อื่น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นจากการมองเห็นข้อดีของคนอื่นนั่นเอง เช่น เพื่อนของลูกวาดภาพได้ที่ 1 ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักชื่นชม พร้อมกับให้กำลังใจลูกไปด้วย
9. ลูกไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้ง
หลายครั้งเมื่อพ่อแม่เล่นเกมกับลูก มักจะยอมให้ลูกชนะเสมอ แต่การยอมเช่นนี้อาจปลูกฝังความคิดของเขาว่าต้องชนะเท่านั้น ทำให้ลูกรู้สึกว่าจะแพ้ไม่ได้เลย เวลาที่พ่อแม่เล่นกับลูกจึงไม่จำเป็นต้องให้ลูกชนะทุกครั้ง ลองให้เขาเป็นฝ่ายแพ้ดูบ้าง ให้ลูกยอมรับความเป็นจริงว่าในการแข่งขันก็ต้องมีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา หรือหาโอกาสให้ลูกได้เล่นกับกลุ่มเพื่อนอย่างอิสระ เขาจะได้เรียนรู้กฎกติกา ผลแพ้ชนะ และไม่หวั่นไหวต่อความผิดหวังพ่ายแพ้
หากลูกของคุณเป็นนักกีฬา
พ่อแม่สามารถช่วยเด็กๆให้เข้าใจว่าน้ำใจนักกีฬานั้นสามารถเริ่มต้นด้วยสิ่งง่ายๆ เช่น การจับมือกับคู่แข่งก่อนและหลังเกม รวมถึงยอมรับฟอร์มการเล่นที่ดีของฝ่ายตรงข้าม และยอมรับความผิดพลาดอย่างสง่างาม ระหว่างเกมนั้น ควรกระตุ้นให้เด็กๆเล่นกีฬาโดยเสมอภาค ด้วยความสนุกสนาน และด้วยความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือทีม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของพวกเขาเอง
การแสดงให้เห็นถึงน้ำใจนักกีฬานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เด็กๆที่ทำพฤติกรรมพาล เกเร เยาะเย้ย หรือเสียดสีผู้อื่นในสนาม ก็เป็นไปได้มากว่าจะมีพฤติกรรมแบบเดียวกันในห้องเรียน หรือในสถานการณ์อื่นๆในสังคม ในทำนองเดียวกัน เด็กที่ฝึกฝนการเป็นนักกีฬาที่ดี ก็ดูเหมือนว่าจะนำความเคารพและการรู้คุณค่าผู้อื่นไปใช้ในทุกๆสถานการณ์ ในทุกๆมุมมองเช่นกัน สอนให้เขาคิดถึงคุณประโยชน์ทั้งหมดจากกีฬา จากการแข่งขันที่เขาจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทักษะใหม่ๆ เพื่อนใหม่ รวมถึงทัศนคติดีๆที่จะอยู่กับเขาไปตลอด
โฆษณา