11 ก.พ. 2020 เวลา 15:54 • บันเทิง
สถาปัตยกรรมบ่งบอกความไม่เท่าเทียมทางสังคมจากภาพยนตร์ Parasite
หลังจากเมื่อวานภาพยนตร์ Parasite ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ 2020 ถึง 4 รางวัลแถมยังได้รางวัลใหญ่อย่างรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ที่สุดของงานประกาศรางวัล ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งอย่างเป็นวงกว้าง
ถือว่าสมเกียรติกับการได้รับรางวัลอย่างยิ่ง เพราะภาพยนตร์เรื่อง Parasite ไม่ใช่แค่เพียงเนื้อเรื่องและการแสดงที่น่าประทับใจเท่านั้น แต่เรื่องการออกแบบฉากในภาพยนตร์ก็ทำได้ออกมาดีมากเลยทีเดียว เพราะฉากทั้งหมดนั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่และไม่ใช่สถานที่จริง ( ถือว่าสามารถตบตาคนดูได้อย่างมากเพราะตอนแรกหลายคนต่างก็คิดว่าทั้งหมดเป็นสถานที่จริง ) เรื่องนี้ไม่ใช่แค่บทและนักแสดงเท่านั้นที่สามารถเสียดสีสังคมถึงความไม่เท่าเทียมของคุณภาพชีวิตเท่านั้น แม้กระทั่งสถาปัตยกรรมที่ทำให้ความเป็นอยู่ของทั้ง 2 ครอบครัวแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวก็สามารถบอกอะไรกับคนดูได้อย่างมากมาย ถ้าคุณเอาสายตาออกจากการโฟกัสซับซักหน่อย รับรองว่าคุณจะได้เห็นอะไรอีกมากมายในภาพยนตร์เรื่องนี้
สเปซห้องน้ำที่แสดงถึงชนชั้นและการใช้ชีวิต
1. หน้าต่างห้องน้ำบ่งบอกชนชั้นวรรณะได้อย่างชัดเจน
- บ้านของครอบครัวคิม ใช้หน้าต่างกระจกบานเลื่อนเก่า ๆ ขนาดประมาณ 60x40 ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศภายในห้องน้ำ
- บ้านของครอบครัวพัค ใช้กระจกบานใหญ่สามารถมองวิวทิวทัศน์ภายนอกได้ มีมูลี่อลูมิเนียมใช้สำหรับปรับแสงสว่างภายในห้องน้ำ และบังสายตา โดยราคาทั้งหมดก็น่าจะอยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักแสน
2. สเปซเล็กจนไม่พอต่อความจำเป็น VS สเปซใหญ่จนเกินกว่าความจำเป็น
สำหรับพื้นที่การใช้งานภายในห้องน้ำนั้นก็แตกต่างกันจนเราสามารถสัมผ้สได้ถึงความต่างระหว่างคนรวยกับคนจน -บ้านของครอบครัวคิม สเปซเล็กเกินกว่าการใช้สอย วางสุขภัณฑ์ไว้สูงมาก ( คิดว่าน่าจะเพื่อป้องกันเวลาน้ำท่วม ) ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าจะเป็นการนั่งทำธุระที่แสนจะอึดอัด ซึ่งสเปซการวางเท้าน่าจะประมาณ 50-60 ซม. ซึ่งทำให้อึดอัด และขั้นบันไดที่ค่อนข้างสูงทำให้ก้าวเดินลำบาก
- บ้านของครอบครัวพัค มีสเปซพื้นที่การใช้งานที่กว้างขว้าง ถูกออกแบบและจัดสรรพื้นที่มาอย่างดี ก่อเกิดภาวะน่าสบายในการใช้พื้นที่
3. ผนังสะท้อนวิถีชีวิตและการดำรงชีวิต - บ้านของครอบครัวคิม เป็นผนังคอนกรีตฉาบเรียบ ที่มีคราบของความเก่า และใช้ตากเสื้อผ้าและวางของใช้ แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ใช้สอยที่มีไม่เพียงพอต่อคน 4คน -บ้านของครอบครัวพัค เป็นผนังน่าจะใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ด มีเค้าเตอร์สำหรับวางของและติดตั้งทีวีเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และพื้นที่ใหญ่จนสามารถเอาที่นอนเข้าไปนอนดูทีวีได้
4. หน้าต่างเหมือนกันบรรยากาศต่างกันสุดขั้ว
-บ้านของครอบครัวคิม หน้าต่างบานเลื่อนมองเห็นถนนข้างนอก สามารถมองเห็นผู้คน และความวุ่นวายของภายนอก ทำให้สร้างความรำคาญต่อผู้ที่อาศัยในบ้าน และหน้าต่างติดลูกกรงเหล็กถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จะหนีไม่ได้
- บ้านของครอบครัวพัค บานกระจกขนาดใหญ่บริเวณห้องนั่งเล่นสามารถมองวิวทัศนียภาพของสวนภายในบ้านที่เป็นสวนส่วนตัวขนาดใหญ่ และภูเขากับท้องฟ้า ถือว่าเป็นวิวหลักล้านเลยก็ว่าได้
5. ทางเข้าหลัก (main entrance) บ่งบอกการใช้ชีวิตและฐานะ
-บ้านของครอบครัวคิม ประตูบานเก่า ๆ ที่มีของวางระเกะระกะ บวกกับความแคบของทางเดินทำให้พื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ และอยู่ต่ำกว่าพื้นดินทางเข้าบ้านจึงเป็นมุมอับ
- บ้านของครอบครัวพัค ใช้ระบบล็อคประตูดิจิตอลสะดวกสบายและปลอดภัย เป็นประตูบานไม้สูง 1.8-2 เมตร โดยเมื่อเข้ามาจะเจอบานกระจกขนาดใหญ่เท่าผนัง และข้างนอกปลูกต้นไผ่ (รึเปล่าไม่มั่นใจ)ทางเดินประมาณ 2 เมตร สามารถเดินได้อย่างสบาย พื้นที่โปร่งและสะอาดตา
6. สเปซทางเข้าและพื้นที่โดยรอบที่แตกต่าง
-บ้านของครอบครัวคิม ทางเดินถูกลดระดับลงจากพื้นดิน น้ำท่วมได้ง่ายและสัตว์เลื้อยคลานสามารถซ่อนตัวอยู่บริเวณบ้านได้ โดยตัวบ้านน่าจะถูกลดระดับลงจากพื้นถนนประมาณ 1-1.5 ม. โดยประมาณ ซึ่งเป็นพื้นที่อับ อากาศถ่ายเทได้ยาก
- บ้านของครอบครัวพัค เนื่องด้วยกำแพงที่สูง ทึบตัน และไม่สามารถมองเห็นภายในตัวบ้านได้ จึงทำให้บริเวณบ้านมีความเป็นส่วนตัวมาก สามารถป้องกันขโมยได้
สุดท้าย นี้แหละที่เขาเรียกว่าความเหมือนที่แตกต่าง มุมเหมือนกันแต่เงินในกระเป๋าต่างกันชีวิตก็เลยต่างกัน บรรยากาศก็เลยต่างกัน ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกที่ในชีวิตจริง และหนังเป็นสื่อกลางที่ช่วยตีแพร่ได้อย่างดี
โดยในเรื่องจะดำเนินเรื่องราวอยู่ที่บ้านของครอบครัวพัค 60% โดยฉากของบ้านทั้งสองครอบครัวนั้นออกแบบโดย Lee Ha Jan เป็นการทำงานร่วมกันกับผู้กำกับ Bong Joon Ho
วิเคราะห์โดย JJPROJECT
โฆษณา