12 ก.พ. 2020 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
เรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากการอ่าน “เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี”
ช่วงนี้ถ้าพูดถึงหนังสือประวัติศาสตร์เราอาจจะนึกถึงสำนักพิมพ์ยิปซี หนังสือหลายเล่มน่าสนใจ ผมเองก็อยากซื้อแต่เมื่อเจอความหนาเข้าไปก็เกิดความลังเล เพราะยังมีกองหนังสืออีกเพียบที่ยังไม่ได้อ่าน ถ้าซื้อมาอีกคงโดนกองหนังสือพวกนั้นบ่นแน่ว่า
"ซื้อมาอีกแล้ว เมื่อไหร่จะอ่านพวกชั้นซะที"
แต่แล้วลงทุนแมนก็ออกหนังสือประวัติศาสตร์ "เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี" งานเขียนของลงทุนแมนขึ้นชื่อว่าอ่านง่ายอยู่แล้ว ถ้าอยากทบทวนประวัติศาสตร์แบบเร็วๆคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ผมเลยเคาะซื้อทางออนไลน์แบบไม่ลังเล
ผมอ่านไปสองรอบ รอบแรกอาจจะเผลออ่านเร็วไปนิดหน่อยจนอาจจะหลุดรายละเอียดไปบ้าง เพื่อเก็บรายละเอียดอีกรอบผมจึงอ่านรอบที่สอง
สิ่งที่รับรู้ซ้ำๆจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ
.
การแย่งชิงอำนาจ
.
การสร้างความเจริญด้วยความรู้
.
และความรักอิสระของมนุษย์
ผมจะลองสรุปทีละเรื่อง
•การแย่งชิงอำนาจ•
สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมรับรู้ได้จากการอ่าน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่ามนุษย์โหยหาอำนาจกันมาตลอด และการได้มันมานั้นต้องใช้การแย่งชิง ลงทุนแมนเปิดฉากมาด้วยยุคกลางคือเกิดขึ้นประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ซึ่งมนุษย์เราก็แย่งชิงอำนาจกันมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยทีเดียว
สมัยนั้นเป็นการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์ กษัตริย์มอบที่ดินให้ขุนนางที่ไว้วางใจดูแล ขุนนางพวกนั้นจึงสร้างปราสาทและมีกองทัพอัศวินเป็นของตัวเอง
เมื่อขุนนางต่างคนต่างมีอำนาจก็เริ่มมีความบาดหมางกันจนเกิดสงครามย่อยๆหลายครั้ง ลำพังแค่อัศวินไม่พอที่จะทำการรบที่เกิดขึ้นบ่อย ชาวนาหลายคนที่ต้องอาศัยอยู่ในที่ดินของขุนนางก็จำเป็นต้องไปออกรบด้วย
เมื่อเกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้งก็ทำให้ผู้คนหมดหวัง หดหู่จนต้องหาที่พึ่งทางใจอย่างศาสนา
แต่ศาสนาก็ใช่ว่าจะไม่บ้าอำนาจ เมื่อผู้นำศาสนาเริ่มเห็นว่ามีสาวกมากขึ้นๆก็เริ่มชักจูงให้ผู้คนเข้าสู่สงครามศาสนาที่เรียกว่า "สงครามครูเสด"
เป็นสงครามระหว่างชาวยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์กับชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีสาเหตุประการหนึ่งมาจากต้องการขับไล่ชาวมุสลิมออกไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ที่ชื่อว่า เยรูซาเล็ม
สงครามกินเวลา 200 ปี มีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนและผลสุดท้ายชาวคริสต์ก็รักษาเยรูซาเล็มไว้ไม่ได้
แต่เมื่อมนุษย์ยังไม่หมดโลก การแย่งชิงอำนาจก็ยังมีกันต่อไป
.
หลังจากนั้นก็มีการขยายอำนาจของประเทศต่างๆ บางประเทศที่มีกองเรือเป็นของตัวเองก็เริ่มคิดออกไปแสวงหาโอกาสจากโลกภายนอก
สมัยนั้นการเดินเรือมีความเสี่ยงอย่างมาก เป็นเหมือนการเดิมพันครั้งใหญ่ ถ้าสำเร็จก็ได้กำไรมหาศาล ถ้าพลาดก็เสียเดิมพันไปทั้งก้อน ประเทศที่กล้าไปแสวงหาโอกาสในโลกกว้างเริ่มแรกต้องมีพื้นฐานประเทศที่ดีก่อน
ในการออกโลกกว้างตอนแรกประเทศเหล่านั้นอาจเพียงต้องกาหาทรัพยากรอย่างเช่นเครื่องเทศ แต่เมื่อกลับต้องเจอสิ่งอื่นที่ไม่ต้องการ พวกเขาก็มองหาสิ่งทดแทนที่มีค่าพอๆกัน
แต่การได้สิ่งเหล่านั้นมาก็ด้วยการแย่งชิงมาจากผู้อื่น เหมือนที่สเปนทำ
ชาวสเปนเป็นหนึ่งประเทศที่สามารถเรือไปสู่ทวีปอื่นได้ พวกเขาต้องการเครื่องเทศ เครื่องเทศสมัยก่อนเป็นที่ต้องการเพราะมันใช้ในการถนอมอาหาร ถ้าได้มันมา การกินอยู่จะดีกว่านี้เยอะ
พวกเขาเดินทางจนไปพบทวีปใหม่ที่มีอารยธรรมเก่าแก่ของคนพื่้นเมือง หนึ่งในนั้นคือ จักรวรรดิแอชแท็ก
แต่ที่นี่ไม่มีเครื่องเทศ ที่นี่มีเมล็ดโกโก้ มันไม่ใช่สิ่งที่สเปนต้องการ อย่างไรก็ตามชาวสเปนก็เจอสิ่งที่มีค่าเทียบเท่ากับเครื่องเทศ นั่นคือ ทองคำ
ชาวสเปนรุกรานทวีปนี้ด้วยการนำไข้ทรพิษเข้ามา โรคติดต่อร้ายแรงกลายเป็นอาวุธชั้นดีที่คร่าชีวิตชาวพื้นเมืองไปถึง 3 ใน 4 ทำให้ชาวสเปนยึดดินแดนนี้ได้อย่างง่ายดาย ได้ทองคำมหาศาลจากท้องพระคลัง และไม่หยุดเพียงแค่นั้น ชาวสเปนยังรุกรานและพิชิตจักรวรรดิอินคาอีกด้วย
ที่มนุษย์ไล่ล่าหาอำนาจกันขนาดนี้ก็อาจจะเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นจากประวัติศาสตร์ก็คือ ใครที่มีอำนาจมากไปมักจะโดนจ้องเล่นงาน
.
ช่วงศตวรรษที่ 17 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่รุ่งเรือง ชาวดัตช์ได้ออกเดินทางค้นพบดินแดนต่างๆ นำเข้าสินค้าแปลกๆจากทั่วโลก ทำให้วิถีชีวิตดีขึ้นอย่างมาก
แต่ความรุ่งเรืองนั้นสร้างความไม่พอใจแก่อังกฤษและฝรั่งเศส
อังกฤษได้พัฒนากองเรือและออกกฎหมายทางทะเลที่สร้างความเสียหายแก่ชาวดัตช์ จนนำมาสู่สงครามระหว่างเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ
ด้านฝรั่งเศสได้ยึดเบลเยี่ยมและเกิดข้อพิพาทเขตแดนกับเนเธอร์แลนด์จนขยายไปเป็นสงคราม
เมื่อเผชิญศึกสองด้าน ผลก็คือความพ่ายแพ้ และจบยุคทองของเนเธอร์แลนด์
ในศตวรรษที่ 20 ก็เช่นกัน จักรวรรดิเยอรมันขยายอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ไม่พอใจแก่เจ้าจักรวรรดิเดิมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส (อีกแล้วเหรอ)
ในทวีปแอฟริกา เยอรมันมีปัญหากับฝรั่งเศส ส่วนในตะวันออกกลาง เยอรมันก็มีปัญหากับอังกฤษ จนต่างฝ่ายต่างรวมกลุ่มกัน
อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย รวมกันเป็นกลุ่มสัญญาไตรภาคี ทางด้านจักรวรรดิเยอรมันได้ดึงเพื่อนบ้านอย่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี ตั้งเป็นกลุ่มไตรพันธมิตรเพื่อต่อต้าน จนในที่สุดเกิดความขัดแย้งกลายเป็นสงครามโลก
ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นก็คือความเป็นมนุษย์ที่สืบทอดต่อกันมา
การที่จีนเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆย่อมสร้างความไม่พอใจแก่ผู้มีอำนาจเดิมอย่างอเมริกา แต่ขั้วอำนาจจะเปลี่ยนหรือไม่ก็ต้องมาติดตามกัน
จากที่อ่านหนังสือเล่มนี้นั้นพบว่า เวลาที่ขั้วอำนาจเปลี่ยนนั้นบางครั้งก็มาจากการปะทะกัน (เช่นการจบยุคทองของเนเธอร์แลนด์หรือสงครามโลก) บางครั้งก็มาจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบริหารผิดพลาดเสียเอง (การล่มสลายของสหภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น)
แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นใหญ่ ประเทศเล็กๆอย่างไทยควรต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อปรับตัวให้ทัน สิ่งหนึ่งที่ควรมีเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ความรู้
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความรู้นี่แหละที่ทำให้ประเทศรุ่งเรือง
•ความรู้นำมาซึ่งความรุ่งเรือง•
ในยุคกลางนั้นประเทศอาหรับมีความรุ่งเรืองมากกว่าประเทศยุโรปก็เพราะพวกเขามีความรู้ต่างๆมากมาย
ชาวอาหรับใช้เลขอาราบิกที่มีสามารถคำนวณได้ง่ายกว่าเลขโรมัน จากนั้นเมื่อชาวยุโรปได้มาเปิดหูเปิดตาในดินแดนอาหรับพวกเขาก็เอาเลขอาราบิกไปใช้
นอกจากนั้นการซึมซับองค์ความรู้ต่างๆในโลกอาหรับ ทำให้ชาวยุโรปได้เพิ่มการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ ในเวลาต่อมา จนความรู้เหล่านั้นกลายเป็นรากฐานในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย
ในยุคเรอเนสซองค์ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าความรู้นั้นมีค่าอย่างยิ่ง สมัยนั้นเกิดเหตุชาวออตโตมันยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่แต่เดิมเป็นของชาวคริสต์
ชาวออตโตมันนับถือศาสนาอิสลามและบังคับให้ชาวคริสต์ต้องเปลี่ยนศาสนา ไม่เช่นนั้นมีสองทางเลือกคือ ต้องตายหรือย้ายออกไป
ชาวคริสต์ที่เคยอาศัยจำเป็นต้องย้ายถิ่น แต่พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นปัญญาชน บางคนเป็นนักปราชญ์ บางคนเป็นกวี พวกเขาต่างหอบหิ้วองค์ความรู้ต่างๆเข้ามาในนครรัฐต่างๆบนคาบสมุทรอิตาลี
ความรู้มากมายที่หลั่งไหลเข้ามาและแพร่หลายไปทั่วทำให้ถูกเรียกว่า ยุคแห่งการเกิดใหม่
ที่เยอรมันเองก็มีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ สิ่งๆนี้ทำให้ความรู้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และความรู้นี่เองที่ทำให้หลายประเทศมองเห็นโอกาสที่จะออกไปสู่โลกกว้าง
Ptolemy กล่าวไว้ว่า โลกมีลักษณะเป็นทรงกลม และมีมหาสมุทรอยู่ล้อมรอบ เมื่อประเทศต่างๆเชื่อในความคิดนี้จึงคิดออกผจญภัยสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่เป็นพื้นที่ใหม่จนสามารถขยายอำนาจไปได้อย่างกว้างไกล
.
ส่วนในศตวรรษที่ 17 ความรู้ทำให้อังกฤษพร้อมจะครองโลก
Isaac Newton ให้กำเนิดวิชาแคลคูลัสที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้นยังค้นพบกฎการเคลื่อนที่และกฎของแรงโน้มถ่วง
เมื่อเอาทั้งสองกฎเอามาปรับใช้กับอาวุธปืน ทำให้รู้ว่ากระสุนจะเคลื่อนที่อย่างไร ดังนั้นจึงสามารถสร้างปืนใหญ่ที่มีความแม่นยำมากขึ้น
และอังกฤษก็เอาปืนที่มีประสิทธภาพมากขึ้นไปใช้กับการทำสงครามกับเนเธอร์แลนด์จนชนะและยึดครองอาณาเขตของชาวดัตช์ในทวีปอเมริกาได้
ด้านญี่ปุ่นเองก่อนที่จะเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียก็เริ่มด้วยการซึมซับความรู้ ชาวญี่ปุ่นนำความรู้จากตะวันตกมาปรับใช้ให้เข้ากับตนเอง ส่งนักเรียนไปเรียนต่อในยุโรป จ้างผู้เชี่ยวชาญตะวันตกมาช่วยวางรากฐานอุตสาหกรรม แปลตำราต่างประเทศเป็นภาษาญี่ปุ่น
1
ทั้งหมดเพื่อทำให้ชาวญี่ปุ่นเข้าถึงองค์ความรู้ จนในที่สุดญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมและกลายเป็นมหาอำนาจในเอเชีย
ความรู้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการพัฒนาประเทศ ประเทศใดที่มีกลุ่มคนมีความรู้มากๆ ประเทศนั้นต้องมีความรุ่งเรืองขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้นำประเทศควรหาวิธีชักชวนผู้มีความรู้เข้าประเทศ ทำให้ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ และรักษาความรู้นั้นไว้ด้วยการดูแลคนในชาติให้ดี
ซึ่งการรักษาคนเอาไว้นั้นก็ทำได้ด้วยการมอบอิสรภาพให้พวกเขา
การกดขี่อาจทำให้ผู้คนยอมอยู่ใต้อำนาจ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้มีอำนาจเพลี่ยงพล้ำ ผู้คนก็พร้อมตีตัวออกห่าง
ชาวนาในยุคกลางรอที่จะได้อิสรภาพเมื่อระบบศักดินาค่อยๆเสื่อมถอย
ประเทศในอาณานิคมพร้อมประกาศเอกราชเมื่อเจ้าอาณานิคมเสื่อมอำนาจ
นี่คือความเป็นมนุษย์
มนุษย์ไม่ยอมให้กดขี่ตลอดไป เมื่อใดก็ตามผู้มีอำนาจใช้อำนาจกดขี่เกินควร ข้อจำกัดนั้นจะทำให้ผู้คนที่ต้องการอิสระค้นพบทางออกในท้ายที่สุด
บางครั้งทางออกนั้นก็คือการยอมถอยของผู้มีอำนาจ บางครั้งทางออกก็คือการนองเลือด
ประวัติศาสตร์สอนเอาไว้ว่า อำนาจนั้นถ้าใช้อย่างพอเหมาะก็จะทำให้ปลอดภัย
แต่ถ้าใช้มากไป ก็จบไม่สวยเท่าไหร่นักหรอก
ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี
1
โฆษณา