15 ก.พ. 2020 เวลา 02:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สมอง : อวัยวะที่คนสมัยก่อนคิดว่าไม่สำคัญ
(เรียบเรียง โดย มิติ เจียรพันธุ์)
ทุกวันนี้ พวกเรารู้ดีว่าสมองเป็นอวัยวะที่คอยรับสัญญาณประสาท และแปลความหมายของสัญญาณนั้นให้เราเข้าใจ
แสงที่รูม่านตาเข้ามาตกกระทบที่จอประสาทตา จะเกิดสัญญาณประสาทส่งไปยังสมองเพื่อแปลผลเป็นภาพให้เรารับรู้ นอกจากนี้สมองยังควบคุมความคิด ความจำ การพูด การเคลื่อนไหว และควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ ทั้งการหายใจ การเต้นของหัวใจ ฯลฯ จนกล่าวได้ว่าสมองนั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง
แต่รู้หรือไม่ว่าในสมัยก่อน มนุษย์เรามีความรู้เกี่ยวกับสมองน้อยมาก อริสโตเติลเชื่อว่าศูนย์รวมความคิดความอ่านอยู่ที่หัวใจ ไม่ใช่สมอง ส่วนชาวอียิปต์โบราณแทบไม่ให้ความสำคัญกับสมองเลย เห็นได้จากการทำมัมมี่ที่คว้านสมองทิ้ง แต่เก็บหัวใจกับอวัยวะภายในอื่นๆไว้เป็นอย่างดี
1
จนเมื่อการแพทย์สมัยใหม่เริ่มก้าวหน้า ทำให้มีการศึกษาโครงสร้างของสมองอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการพยายามหาคำตอบว่าสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไรบ้าง
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แพทย์ชาวฝรั่งเศส Pierre Paul Broca ศึกษาผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการพูดหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง เขาพบว่าสมองบริเวณหนึ่งของผู้ป่วยคนนี้มีความเสียหาย ทำให้เขาเชื่อว่าสมองส่วนนี้ควบคุมการพูด ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่า Broca’s area
ราวสิบปีต่อมา แพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Carl Wernicke พบว่าผู้ป่วยที่สมองบางส่วนเสียหายจะไม่เข้าใจภาษาพูด บริเวณดังกล่าวเรียกว่า Wernicke’s area
ต้นศตวรรษที่ 20 นักกายวิภาคชาวเยอรมัน Korbinian Brodmann เปรียบเทียบสมองระหว่างคน ลิง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เขาพบว่าสมองบางส่วนมีเซลล์ประสาทหนาแน่นกว่าส่วนอื่น เขาจึงแบ่งสมองของมนุษย์ออกเป็นส่วนๆ และเรียกชื่อเป็น Brodmann’s Areas ซึ่งก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น
Brodmann’s Area 4 คือ สมองส่วน Primary motor cortex ในสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
Brodmann’s Area 17 คือส่วน Visual cortex ที่ควบคุมการมองเห็น
นักวิจัยยุคต่อๆมาใช้เทคนิคสมัยใหม่ช่วยยืนยันผลการศึกษาของ Brodmann และยังสามารถแบ่งสมองออกเป็นส่วนๆ ได้ละเอียดขึ้นด้วย
จากการศึกษาข้างต้นอาจทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสมองมีการแบ่งหน้าที่ในแต่ละบริเวณ นำไปสู่คำถามว่าสมองนั้นทำงานร่วมกันหรือทำงานแยกกันเป็นส่วนๆกันแน่
หนึ่งในผู้หาคำตอบคือ Karl Lashley
เขาสอนหนูทดลองให้หาทางออกจากเขาวงกต แล้วทำให้สมองหนูเสียหายบางส่วนเพื่อให้หนูจำทางออกไม่ได้ แต่ผลปรากฏว่าหนูก็ยังหาทางออกได้อยู่ดีไม่ว่าเขาจะลองทำลายสมองตรงไหน Karl Lashleyจึงสรุปว่าความจำไม่ได้เก็บไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่กระจายอยู่ทั่วทั้งสมองนั่นเอง
นอกจากนี้เรื่องความจำแล้ว สมองก็ยังสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น อย่างเช่น ในผู้พิการทางหู สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินก็จะเปลี่ยนไปทำหน้าที่แปลข้อมูลการมองเห็นและการรับสัมผัสแทน
สรุปได้ว่าแม้ว่าสมองจะแบ่งเป็นส่วน และแต่ละส่วนก็มีหน้าที่ที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่การทำงานของสมองก็ไม่ได้แยกขาดจากกัน สมองทั้งก้อนเป็นการประสานงานกัน และหากส่วนใดไม่ได้ใช้งานก็อาจเปลี่ยนไปช่วยเสริมการทำงานของส่วนอื่นได้อย่างน่าทึ่ง
ดังนั้น
จงภูมิใจกับสมองของตนเองเถิด...
โฆษณา