18 ก.พ. 2020 เวลา 12:00
“ซูโม่” เกียรติและนักสู้แห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ซูโม่ (相撲) หรือมวยปล้ำญี่ปุ่นที่เป็นมากกว่ากีฬาประจำชาติซึ่งได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะซูโม่คือหนึ่งในวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยยังคงรักษารูปเเบบธรรมเนียมปฏิบัติ เเละคงกลิ่นอายของความศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอีกด้วย
ซูโม่นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนศตวรรษที่ 3 โดยเริ่มแรกมีจุดกำเนิดมาจากการเป็นหนึ่งในพิธีกรรมทางการเกษตรเพื่อบูชาเทพเจ้าหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว ด้วยการเเสดงท่าทางการปล้ำกันระหว่างชายสองคน ซึ่งตรงกับตำนานของญี่ปุ่นโบราณในเรื่องของเทพเจ้าที่ต่อสู้กัน ดังนั้นการแสดงนี้จะทำให้เทพเจ้าพึงพอใจ เเละช่วยให้ผลผลิตในปีต่อๆ ไปนั้นดีขึ้นไปอีกนั่นเอง หลังจากนั้นก็กลายมาเป็นการเสี่ยงทายผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ และพัฒนามาเป็นงานพิธีของราชสำนัก จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 8 ในสมัยของเฮอัน ที่ได้มีการวิวัฒนาการขึ้นมาในฐานะเป็นกีฬาต่อสู้จนกลายเป็นที่หลงใหลมากมายของผู้คน โดยวังหลวงจะคัดเลือกทหารจากกองทัพที่มีร่างกายสมบูรณ์เเละใหญ่โตเพื่อมาเป็นนักมวยปล้ำเข้ามาต่อสู้กันภายในพระราชวัง เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับเหล่าชาววังทั้งหลายในเกียวโต เเละเริ่มต้นแห่งการมีพิธีการต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งเหล่าซูโม่ก็เริ่มมีความนิยมในการเพิ่มน้ำหนักตัวให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
หลังจากนั้นเหล่า “ซูโม่” ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งในนักสู้ที่เป็นทั้งสิ่งเชิดชูเกียรติเเละเป็นนักสู้ให้กับเหล่านักรบซามูไรชั้นสูงหรือไดเมียวในช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวายเพราะสงครามกลางเมือง จนในศตวรรษที่17 เมื่อเข้าสู่ยุคโอเดะ พวกเขาก็กลายมาเป็นเหล่านักสู้บนสังเวียนอย่างเเท้จริง โดยมีการจัดแข่งขันตามศาลเจ้าต่างๆ ในลัทธิชินโต มีริ้วขบวน เครื่องแต่งกายและพิธีกรรมของกีฬาซูโม่ที่ล้วนมีอิทธิพลมาจากลัทธิชินโตทั้งสิ้น “ซูโม่” จึงกลายเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการและนักซูโม่อาชีพก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคสมัยเอโดะ
เมื่อซูโม่ เปลี่ยนมาเป็นเกมส์กีฬาเเล้ว ก็มีการคัดเลือกเหล่าเด็กชายที่ต้องการมาฝึกเป็นซูโม่ เเละเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การจะมาเป็นซูโม่นั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากบรรดาเด็กบ้านนอกของญี่ปุ่นที่เข้ามายังโตเกียวเพื่อต้องการมาฝึกเป็นซูโม่ โดยมีความหวังว่าเมื่อมีชื่อเสียงเเล้วจะมีเงินทองเเละความสบายในชีวิต ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ…จนทุกวันนี้ ”ซูโม่” ถือเป็นสัญลักษณ์อีกหนึ่งในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่เเสดงออกถึงความเเข็งเเกร่งเเละการต่อสู้เพื่อประสบความสำเร็จ…และได้พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นกีฬาอาชีพในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมอย่างมากจากประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ เป็นต้น อีกด้วย
ในปี 1578 โอดะ โนบุนางะ ดูมวยปล้ำซูโม่ ณ ปราสาทอาซูจิ (安土城)
ประเพณีที่ยึดถือปฎิบัติในกีฬาซูโม่นั้นมีความเก่าแก่มาก และเป็นแบบปฏิบัติต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน เช่น การโปรยเกลืออันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่ซูโม่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในลัทธิชินโต การใช้ชีวิตของนักปล้ำซูโม่นั้นเคร่งครัดเป็นอย่างยิ่ง และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น (日本相撲協会) นักปล้ำซูโม่อาชีพจะใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้ค่ายสังกัดฝึกซูโม่หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า ซูโม่เบยะ (相撲部屋) ด้วยแบบแผนเเละประเพณีปฏิบัติที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่การตื่นนอน อาหารการกิน การฝึกซ้อม ไปจนกระทั่งการแต่งกาย กว่าซูโม่จะได้รับเงินเดือนนั้นก็ต้องเข้าร่วมการเเข่งขันประจำปี แต่ถ้าสามารถขึ้นไปในระดับสูงๆ ได้ก็จะมีเงินจากทางสปอนเซอร์พร้อมชื่อเสียงเข้ามามากมาย
ซูโม่เบยะ (相撲部屋)
สำหรับย่านเรียวโงกุในกรุงโตเกียว (東京都の両国地区) นับว่าเป็นย่านเเห่ง “ซูโม่” อย่างเเท้จริงเเละเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่น่ามาเที่ยวชม โดยย่านเเห่งนี้เริ่มต้นมาตั้งเเต่ในยุคเอโดะตั้งอยู่ริมเเม่น้ำซุมิดะ (隅田川) เป็นที่ตั้งค่ายฝึกซูโม่ที่เรียกว่า ซูโม่เบยะ (相撲部屋)กว่า 40 เเห่งด้วยกัน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบกับซูโม่ตัวเป็นๆ ในย่านเเห่งนี้ได้ เเละในย่านนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาเรียวโงกุ-โคคุงิคัง (両国国技館) ซึ่งสนามแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูเเลของสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น มีความจุ 13,000 ที่นั่ง เเละใช้เป็นสถานที่จัดการเเข่งขัน 3 รายการ ในเดือน มกราคม พฤษภาคม และกันยายน จาก 6 รายการประจำปีอีกด้วย
สนามกีฬาเรียวโงกุ-โคคุงิคัง ณ กรุงโตเกียว ตั้งอยู่ริมเเม่น้ำซุมิดะ (ปัจจุบัน)
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ คลิกเลย!!
ติดตามบทความที่น่าสนใจได้ที่ FB Page
โฆษณา