Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามประติทิน: สาระปฏิทินไทย
•
ติดตาม
19 ก.พ. 2020 เวลา 08:38 • ประวัติศาสตร์
[บทความเก่าเล่าใหม่] การนับฤดูตามจันทรคติ
(Rewrite จาก
https://www.facebook.com/1824148284514891/posts/1824156027847450/?d=n
)
อย่างที่ทุกท่านเข้าใจกัน ๑ ปีมี ๓ ฤดู
- ฤดูร้อน (คิมหันตฤดู/คิมหฤดู)
- ฤดูฝน (วัสสานฤดู)
- ฤดูหนาว (เหมันตฤดู)
ชื่อในวงเล็บข้างหลังคือชื่อฤดูในภาษาบาลีครับ
บางท่านอาจจะสงสัย
ว่าทำไมฤดูฝนไม่เป็น “วสันตฤดู”
วสันตฤดูจริง ๆ แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ
ฤดูฝนเป็นวัสสานฤดู ถูกแล้ว
วัสส(ะ)-พรรษ(ะ)-พรรษา
เข้าพรรษา ก็คือเข้าหน้าฝน
ผมมั่นใจว่าทุกท่านน่าจะพอทราบ
ว่าวันเข้าพรรษาคือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
นี่แหละครับ วันเริ่มฤดูฝนทางจันทรคติ
วันเริ่มฤดูร้อนก็นับย้อนไป ๔ เดือน
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔
วันเริ่มฤดูหนาวก็นับไปอีก ๔ เดือน
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังวันลอยกระทง
สำหรับชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์
มี event ทางศาสนาตลอดช่วงฤดูฝน
วันอธิษฐานเข้าพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
ผ่านไป ๓ เดือน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
วันปวารณาออกพรรษา
อีกเดือนที่เหลือ เริ่มจากวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
วันตักบาตรเทโวโรหณะ
และตลอดทั้งเดือน คือเทศกาลทอดกฐิน
ไปจบที่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ที่เป็นวันลอยกระทง
(อันหลังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธเท่าไหร่
ใส่มาเฉย ๆ)
สำหรับราชสำนักไทย
วันเปลี่ยนฤดูเหล่านี้มีความสำคัญ
เพราะเป็นวันพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบ
พระแก้วมรกตมีเครื่องทรง ๓ ฤดู
แล้วเวลาเปลี่ยนเครื่องทรงแต่ละครั้ง
ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญ
ที่พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จพระราชดำเนิน
มาเปลี่ยนเครื่องทรงด้วยพระองค์เอง
ถ้าไม่เสด็จฯ มาเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม
ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์
ปฏิบัติพระราชกรณียกิจตรงนี้แทน
คำถาม:
ปกติเรานับเดือนเริ่มจากข้างขึ้นก่อน
แต่ทำไมทางศาสนาถึงนับจากข้างแรมก่อน?
คำตอบ (แบบกำปั้นทุบดิน):
เพราะจุดเริ่มต้นเราต่างกัน
ปฏิทินจันทรคติของไทย
เริ่มที่จันทร์ดับ new moon เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ
ทางพุทธศาสนา
เริ่มหลังจากจันทร์เพ็ญ full moon
ซึ่งเรานับเป็นวันแรม ๑ ค่ำ
แล้วเดือนจันทรคติทางพุทธศาสนา
จะเริ่มก่อนเดือนจันทรคติของไทยครึ่งเดือน
ตัวอย่าง เดือน ๕ หรือ “จิตตมาส” ในภาษาบาลี
เรานับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันแรก
แต่ของเขานับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ แล้ว
แต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕
ของเรากับของเขาจะอยู่เดือนเดียวกัน
จะต่างกัน ก็แค่ว่าอยู่กลางเดือนหรือสิ้นเดือน
จริง ๆ การนับเริ่มเดือนจันทรคติแบบนี้ มีศัพท์เฉพาะ
อย่างของไทย เรียก "อมาวสยานต" (อมาวสี+อันต)
เริ่มที่วันอมาวสี สุดที่วันอมาวสี
อมาวสีคือ new moon
ส่วนในทางพุทธศาสนา
เรียก "ปูรณิมานต" (ปูรณิม+อันต)
เริ่มที่วันปุรณมี สุดที่วันปุรณมี
ปุรณมีคือ full moon
ไหน ๆ เขียนถึงการนับเริ่มเดือนแล้ว
ขอไล่ชื่อเดือนภาษาบาลีหน่อย
ในวงเล็บคือเดือนไทย
- มิคสิรมาส (เดือนอ้าย)
- ปุสสมาส (เดือนยี่)
- มาฆมาส (เดือน ๓)
- ผัคคุณมาส (เดือน ๔)
- จิตตมาส (เดือน ๕)
- วิสาขมาส (เดือน ๖)
- เชฏฐมาส (เดือน ๗)
- อาสาฬหมาส (เดือน ๘)
- สาวนมาส (เดือน ๙)
- โปฏฐปทมาส หรือ ภัททปทมาส (เดือน ๑๐)
- อัสสยุชมาส (เดือน ๑๑)
- กัตติกมาส (เดือน ๑๒)
คำถาม:
ชื่อเดือนเหล่านี้มาจากไหน?
คำตอบ:
มาจากชื่อกลุ่มดาวนักษัตร
ที่ดวงจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือน "เสวย"
บางท่านอาจจะเคยได้ยินบ้าง
ว่าดวงจันทร์ “เสวย” มาฆฤกษ์
ที่เป็นที่มาของชื่อวัน “มาฆบูชา”
"เสวย" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่ากิน
แต่คือการที่ดวงจันทร์ไปอยู่ใกล้ดาวนักษัตรต่าง ๆ
เมื่อดวงจันทร์เต็มดวง แสงจันทร์มีความสว่าง
เราก็เลยไม่เห็นดาวที่อยู่ด้านหลังดวงจันทร์
ที่ความสว่างน้อยกว่า
คนโบราณจินตนาการว่า
ดวงจันทร์เต็มดวงกำลัง "กิน" ดาวนั้นเข้าไป
ก็เลยใช้คำราชาศัพท์ว่า "เสวย"
คำถาม:
แล้วทำไมนับฤดูฝน ต้องเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘?
คำตอบ:
พระพุทธเจ้ากำหนดครับ
ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค วัสสูปนายิกขันธกะ
ที่กล่าวถึงการเข้าพรรษา
เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไปถามพระพุทธเจ้า
ว่าเข้าพรรษาเมื่อไหร่
พระพุทธเจ้าตอบว่า ให้เข้าพรรษาในฤดูฝน
พระภิกษุสงฆ์ถามต่อว่า แล้วฤดูฝนเริ่มเมื่อไหร่
พระพุทธเจ้าตอบว่า วันเริ่มฤดูฝนมี ๒ อย่าง
อย่างแรก หลังจากจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะไปแล้ว ๑ วัน
อย่างหลัง หลังจากจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะเหมือนกัน แต่เป็น ๑ เดือน
ตรงนี้คงยังไม่อธิบาย ว่าทำไมเข้าพรรษามี ๒ วัน
แต่ที่เห็นแน่ ๆ คือพระพุทธเจ้า
ใช้จันทร์เพ็ญเดือนอาสาฬหะเป็นตัวกำหนด
หลังจากนี้ไป ก็เริ่มเข้าสู่เดือนสาวนมาส
เป็นเดือนแรกของฤดูฝน
ส่วนเดือนแรกของฤดูอื่น ๆ
ก็นับต่อในทำนองเดียวกัน
๑ ปี ๑๒ เดือน ๓ ฤดู
๑ ฤดูมี ๔ เดือน
ก็นับต่อ ๆ ไปจนครบปี
แต่การนับฤดูกาลเหล่านี้
ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะเกี่ยวกับการเข้าพรรษา
ทุก ๆ วันพระใหญ่ ๑๔/๑๕ ค่ำ
ที่พระสงฆ์ลงโบสถ์ฟังสวดปาฏิโมกข์
ก่อนการสวดปาฏิโมกข์แต่ละครั้ง
จะมีการสวด “บุพพกรณ์-บุพพกิจ”
เป็นรายงานสรุปกิจธุระ
ที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนการสวดปาฏิโมกข์
ซึ่งมีการระบุด้วยว่า การสวดปาฏิโมกข์ครั้งนี้
- อยู่ในฤดูอะไร
- ฤดูนั้นมีการสวดปาฏิโมกข์กี่ครั้ง
- ครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่
- ยังเหลืออีกกี่ครั้งในฤดูนั้น
- วันนี้เป็นวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย