19 ก.พ. 2020 เวลา 11:21 • ข่าว
6 อวัยวะที่ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์อีกต่อไป
เราต่างรู้ดีว่า ไส้ติ่ง คืออวัยวะไร้ประโยชน์ที่หลงเหลือมาจากกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่คุณทราบหรือไม่ว่านอกจากนี้แล้ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายที่ไม่มีประโยชน์ใช้งานสำหรับคนยุคปัจจุบันอีกต่อไป
ดร.ดอร์ซา อามีร์ นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านวิวัฒนาการ ระบุว่า "ร่างกายของคุณก็คือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติดี ๆ นี่เอง"
แล้วเหตุใดลักษณะสืบสายพันธุ์เหล่านี้ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายของเราแม้ว่ามันจะไม่มีประโยชน์แล้ว
วิวัฒนาการของมนุษย์ได้ก้าวมาไกลมาก แต่ก็ยังเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าตอบจากผู้เชี่ยวชาญก็คือ เพราะวิวัฒนาการเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั่นเอง
ในบางครั้งก็ไม่มีแรงกดดันจากการคัดเลือกทางธรรมชาติเพียงพอที่จะขจัดลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ไร้ประโยชน์บางอย่าง ไป ดังนั้นมันจึงยังหลงเหลืออยู่จากรุ่นสู่รุ่น ในบางกรณีลักษณะสืบสายพันธุ์เหล่านี้ได้พัฒนาประโยชน์การใช้งานใหม่ขึ้น ในกระบวนการที่เรียกว่า "การเปลี่ยนหน้าที่ของโครงสร้าง" (exaptation)
1. กล้ามเนื้อปาล์มาริส ลองกัส (palmaris longus)
นี่คือการทดลองง่าย ๆ : เอานิ้วโป้งและนิ้วก้อยสัมผัสกันแล้วงอข้อมือเล็กน้อย
คุณสังเกตเห็นสิ่งที่ดูคล้ายเส้นเอ็นนูนปรากฏขึ้นมาบริเวณข้อมือหรือไม่ สิ่งที่เห็นก็คือ กล้ามเนื้อปาล์มาริส ลองกัส นั่นเอง
แต่คุณไม่ต้องตกใจหากไม่เห็นมัน เพราะราว 18% ของคนเราไม่มีกล้ามเนื้อชนิดนี้อยู่แล้ว และการไม่มีก็ไม่ใช่ความบกพร่องทางร่างกายแต่อย่างใด
กล้ามเนื้อส่วนนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของ "ลักษณะที่หลงเหลือจากวิวัฒนาการ"โดยเป็นกล้ามเนื้อที่มักพบในสัตว์กลุ่มไพรเมตที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ เช่น ลิงอุรังอุตัง แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปในหมู่ไพรเมตที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน
"นี่ชี้ว่ามันอาจมีประโยชน์ในการเคลื่อนไหวบนต้นไม้" ดร.อามีร์ กล่าว ปัจจุบันกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้กลายเป็นชิ้นส่วนโปรดของเหล่าศัลยแพทย์ ที่มักนำมันไปใช้ในการทำศัลยกรรมตกแต่ง เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ไม่สำคัญต่อการใช้มือของคนเรา
2. ตุ่มเล็ก ๆ บนใบหู ที่เรียกว่า ดาร์วินส์ ทูเบอร์เคิล (Darwin's tubercle)
หากคุณกระดิกหูได้ คุณกำลังแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ" นี่คือถ้อยคำของ เจอร์รี คอยน์ ที่เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Why Evolution is True
เขาพูดถึงกล้ามเนื้อ 3 มัดที่อยู่ใต้หนังศีรษะซึ่งเชื่อมต่อกับหูของเรา และติ่งหรือตุ่มเล็ก ๆ ที่ยื่นออกมาจากใบหูด้านบนก็คือหนึ่งในกล้ามเนื้อที่พูดถึงนี้
มันไม่มีประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่บางคนสามารถใช้มันกระดิกหูได้ และถูกระบุถึงเป็นครั้งแรกโดย ชาลส์ ดาร์วิน บิดาด้านธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ทำให้มันถูกเรียกว่า Darwin's tubercle หรือตุ่มของดาร์วินนั่นเอง
ดร.อามีร์ กล่าวว่า "ในขณะที่ยังมีการถกเถียงกันว่าตุ่มนี้คือลักษณะที่หลงเหลือจากวิวัฒนาการหรือไม่ แต่ในส่วนของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หูนั้นอาจแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่หลงเหลือจากวิวัฒนาการ"
เจอร์รี คอยน์ ระบุว่า ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง ม้า และแมว ยังคงใช้กล้ามเนื้อดังกล่าวในการขยับใบหู เพื่อช่วยในการตรวจจับเสียงของสัตว์นักล่า, หาตำแหน่งของลูกน้อย และระบุต้นตอของเสียงต่าง ๆ
3. กระดูกก้นกบ
ดร.อามีร์ บอกว่า กระดูกก้นกบ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังข้อสุดท้ายของมนุษย์คือ "ลักษณะที่หลงเหลือจากวิวัฒนาการที่เด่นชัดกว่าส่วนอื่น"
"มันเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงหางที่หายไปของเรา ซึ่งเคยมีประโยชน์ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวบนต้นไม้"
ลักษณะสืบสายพันธุ์นี้คือตัวอย่างที่ดีของกระบวนการเปลี่ยนหน้าที่ของโครงสร้าง (exaptation) ที่กล่าวไปตอนต้น เพราะปัจจุบันมันได้เปลี่ยนมาเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ และเอ็นกระดูกต่าง ๆ ในท้องน้อยแทน
4. เยื่อบุตา plica semilunaris หรือที่เรียกว่า "เปลือกตาที่สาม"
คุณเคยสังเกตเห็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ สีชมพูที่หัวตาไหม
มันคือเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่อยู่ระหว่างชั้นเปลือกตากับกระจกตาที่หลงเหลือมาจากวิวัฒนาการในอดีตของมนุษย์ และมักถูกเรียกว่า "เปลือกตาที่สาม"
ดร.อามีร์ บอกว่า "เปลือกตาที่สามจะกะพริบในแนวนอน...แต่มันไม่ได้ทำงานเลยตลอดชั่วชีวิตของคนเรา"
ปัจจุบัน เรายังเห็นสัตว์ที่ใช้เนื้อเยื่อส่วนนี้ เช่น นก และแมว
5. อาการขนลุกชูชัน (piloerection reflex)
คุณคงเคยเห็นแมวพองขนเวลาที่ตื่นกลัว
มันคืออาการคล้ายกันกับเวลาที่คนเราขนลุกเมื่อรู้สึกหนาวหรือหวาดกลัว
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับแบบนี้เรียกว่า piloerection reflex
ดร.อามีร์ บอกว่า ด้วยความที่บรรพบุรุษของเรามีชีวิตบนโลกในฐานะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนปกคลุมร่างกายมายาวนาน ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน อาการขนลุกจึงเป็นปฏิกิริยาเก่าแก่ที่ตกทอดมาเพื่อทำให้เราดูตัวใหญ่กว่าความเป็นจริง หรือเพื่อช่วยให้ร่างกายรักษาความร้อนเอาไว้ในสภาพอากาศหนาวเย็น
"เมื่อเราเริ่มมีขนน้อยลง ปฏิกิริยานี้จึงไร้ประโยชน์ ถึงขั้นที่มันไม่ได้ทำหน้าที่ดั้งเดิมตามธรรมชาติของมัน"
6. ปฏิกิริยาสะท้อนด้วยการกำมือ (Palmar grasp Reflex)
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับด้วยการกำมือมักเห็นได้จากเด็กทารกที่มักกำนิ้วมือไว้แน่น
ปฏิกิริยานี้ยังคงมีประโยชน์กับลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นอยู่ ซึ่งพวกมันมักเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเกาะขนของสัตว์ที่แก่กว่าไปไหนมาไหน
ดร.อามีร์ กล่าวว่า มีการตั้งสมมุติฐานว่า ปฏิกิริยาสะท้อนด้วยการกำมือของคนเราก็มีจุดประสงค์เดียวกันกับสัตว์เหล่านี้ "แต่เด็กทารกเกิดออกมาโดยที่ยังไม่โตเต็มที่เหมือนลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น และยังไม่สามารถชันคอหรือเคลื่อนที่ได้"
จบแล้วหวังว่าจะถูกใจกับข้อมูลน่ะครับ กดไลค์👍 กดแชร์🌍 กดติดตาม📌 ให้ผมด้วยน่ะครับ❤
โฆษณา