19 ก.พ. 2020 เวลา 14:04 • ธุรกิจ
บทเรียนจากการทำงานล้มเหลว
…ก่อนอื่นต้องขอเท้าความนิดนึงก่อนครับ คือผมได้เป็นหนึ่งในทีม Develop Project โรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง อายุ 25 ปี (ตำแหน่ง Project Co. Eng.) กับพี่ในทีมซึ่งความสามารถระดับ Manager 2 คน คือฝั่งเครื่องกล และไฟฟ้า ครับ หลังจากที่โครงการได้ทำ Feasibility study แล้วนั้นทีมก็มารับช่วงต่อหลังจากนี้ คืองานขออนุญาต EIA (ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ขนานงาน TOR เพื่อจัดซื้อ EPC โครงการครับ (มูลค่าหลักพันล้านบาท) ถ้า EIA Approve ถึงจะดำเนินการขออนุญาตสร้างโรงงาน ซึ่งบางส่วนก็ได้เริ่มขออนุญาตในช่วง EIA ไปบ้างแล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ ทีมงาน 3 คน + ผู้บริหารภายใน + ที่ปรึกษาภายใน + ที่ปรึกษาภายนอก
แต่จากนี้ทีมงานได้แยกย้ายกันไปหลังจากที่พยายามยื้อทำกันมาเป็นปีเต็ม ๆ แล้ว เลยได้สรุปสิ่งที่เรียนรู้มา เนื่องจากเป็นคนที่ประสานงานและทำงานใกล้ชิดเจ้าของ เพื่อที่จะเตือนตัวเองให้ได้นำบทเรียนไปใช้ต่อในอนาคตได้ ดังนี้
(ต้องขออภัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะดูห้วน ๆ ไปนิด แต่ผมพยายามสรุป ๆ เป็นหลักการมาให้ท่านได้อ่านและหวังว่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย)
งานจะสำเร็จได้นั้น
ต้องเริ่มจากคน การคัดเลือกพนักงานที่ดี ที่เราไว้วางใจ แล้วเราก็ต้องให้อิสระกับพนักงานในการทำหน้าที่
มอบอำนาจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามแต่ละหน้าที่ (หลักการนี้ก็ได้เรียนรู้จากเจ้าสัวฯ เช่นกัน ซึ่งพิสูจน์ได้ตรงกันว่ามันจริง)
ผู้บริหารจะเริ่มจากการบริหารผู้จัดการ และให้อำนาจแก่ผู้จัดการมากที่สุด จากนั้นให้ทีมงานทำตามที่ผู้จัดการมอบหมาย
ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคนในบริษัท
ผู้บริหารต้องมีหน้าที่คอยรับฟังทุกคน และต้องตัดสินด้วยความเป็นกลาง ไม่มีอคติ
ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาการขัดแย้งกัน และทำให้ทุกคนรักกันมากยิ่งขึ้น
การรับฟัง
เช่น งานหนักเกินไปไหม, ต้องการเรียนรู้ส่วนไหนเพิ่มหรือเปล่า, ทำงานมีปัญหากับงานหรือกับใครไหม
ผู้บริหารต้องไม่ฟังความข้างเดียว ย้ำว่าต้องไม่มีอคติมาก่อน (Confirmation Bias)
ต้องเข้าใจปัญหาจากหน้างาน และนำมาปรับใช้กับหลักการบริหาร
ต้องเข้าใจข้อมูลในทุกด้าน เช่น ด้านเทคนิคต้องรับฟังความละเอียดและซับซ้อนของข้อมูลตามหลักเหตุและผล และหลักการของวิศวกรรม
รวมถึงการเข้าใจผู้อื่น
และบริหารความต้องการของทุกคนให้อยู่ในจุดที่สมดุล
เมื่อเกิดปัญหาอย่างแรกต้องหาสาเหตุโดยที่ไม่ต้องมองว่าใครเป็นคนทำผิด
ถ้าผิดมาจากคน ก็ต้องเรียกคน ๆ นั้นมาคุย สั่งสอนเขาและให้บทเรียนเขา
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าคนผิดเพราะอะไร และผิดจริงไหม ผิดมาก ผิดน้อย
คนที่ทำผิดและยอมรับเป็นบทเรียนเพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ก็ให้โอกาส
ส่วนคนที่ทำผิดจริง แต่ไม่สำนึก และกล่าวโทษคนอื่น ต้องรีบไล่ออกให้ไว อย่าเก็บไว้
การที่ผู้บริหารไม่ลงโทษคนผิดจริง และยังเก็บไว้ จะทำให้คนดี ๆ อยู่ไม่ได้ แล้วจะเสียคนเก่งไป
“คนดีควรได้รับคำชมต่อสาธารณะ” และไม่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
“คนผิดต้องคุยกันส่วนตัว ให้บทเรียนและโอกาสกับเขา”
แต่ละทีมงานต้องปรับการทำงานร่วมกันละกันตามบุคลิกนิสัย และเนื้องาน
หากใครไม่ชอบนิสัยกันยังไงก็ต้องให้ feed back ซึ่งกันและกัน คุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะรูปแบบการทำงานไม่มีสิ่งตายตัว ต้อง feed back และค่อย ๆ ปรับกันไป
และต้องเชื่อว่าคนทุกคนมีพื้นฐานอยู่บนความดีอยู่แล้ว
การสื่อสารที่ดี
เริ่มจากทุกคนรู้เป้าหมายเดียวกัน รู้ว่าแต่ละอย่างที่ทำลงไปนั้น ทำไปเพื่ออะไร
และปล่อยให้อิสระกับพนักงาน ส่วนผู้บริหารแค่ออกแบบพื้นที่และบรรยากาศ
ในการทำงานที่เอื้อต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการแค่นั้น ถ้าพนักงานรู้สึกดีต่อบริษัท
พนักงานก็จะถ่ายทอดความรู้สึกดีนี้ไปสู่การบริการที่ดี……
และเชื่อเถอะว่าหากมีความสามัคคีกัน และร่วมด้วยช่วยกันทำงานด้วยความเป็นหนึ่งกัน ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน เราก็จะสามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะผมเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์หรือมีความรู้ด้านนี้มาก่อนเหมือนกัน
โฆษณา