23 ก.พ. 2020 เวลา 09:01
เริ่มที่ปืนนัดเดียว
ตลอดหลายอาทิตย์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ยิงกราดจากคนร้ายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ลพบุรี โคราช สามย่าน จนถึงอนุสาวรีย์ชัย จนเหมือนอัตราการใช้ปืนยิงกันในประเทศไทยมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่จังหวัดลพบุรี
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นึกถึง ทฤษฎีกระจกหน้าต่างแตก (Broken Window Theory)ที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1969 โดยนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ชื่อ ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo)
ทฤษฎีที่ว่านี้ได้ทำการพิสูจน์ว่าปัญหาที่มีอยู่ในสังคมต่อให้จะเป็นปัญหาเล็กๆอย่างการปล่อยกระจกให้แตกโดยที่ไม่ได้ซ่อมแซม จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกมากมาย เพราะ ปัญหาที่ไม่ได้แก้จะสามารถ”ดึงดูด”ให้คนอื่นๆเข้ามาร่วมสร้างปัญหาตามๆกันได้เป็นอย่างดี
โดยฟิลิปได้นำรถยนต์สองคันไปจอดไว้ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน รถยนต์คันแรกถูกนำไปจอดไว้ในย่านที่มีอาชญากรรมมากที่สุดในนิวยอร์คส่วนรถอีกคันหนึ่งถูกนำไปจอดไว้ย่านที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างพาโล อัลโต
ผลก็เป็นไปตามที่คาด รถคันแรกถูกทำลายให้เสียหายภายใน 10 นาที ส่วนรถคันที่สองไม่มีใครทำอะไรกับตัวรถให้เสียหายเลย ดังนั้นฟิลิปจึงยกระดับการทดลองด้วยการทุบกระจกรถคันที่สองให้แตกและหลังจากนั้น ผู้คนในย่านพาโล อัลโตก็เริ่มทำลายรถยนต์คันที่สอง ภายในเวลาไม่นานรถยนต์คันที่สองก็ถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดีพอๆกับรถยนต์คันแรก
จุดเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกระจกแตกกับการใช้ปืนยิงกันในประเทศไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา อยู่ตรงที่การยิงกราดที่ลพบุรีนั้นได้สร้างผลกระทบชนิดที่สะเทือนถึงคนทั้งประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งเปรียบเสมือน”ใบเบิกทาง” ให้คนร้ายคนอื่นๆที่ต้องการอยากให้เรื่องหรือปัญหาของตนเองได้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างได้ทำตาม เพราะ มันได้ผลในทันที
เหตุจูงใจของมือยิงในทุกกรณีที่เกิดขึ้น ก็คือ การเรียกร้องความสนใจให้คนอื่นรับทราบปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญ ดังนั้นถ้าเราอยากซ่อมกระจกบานนี้ อาจทำได้ด้วยการทำให้คนร้ายเป็นคนผิดจริงๆ โดยที่ไม่ต้องสนใจ สืบเสาะหาแรงจูงใจหรือกระทั่งประวัติของพวกเขา เพราะ ไม่ว่าปัญหาที่เขาต้องเจอมันจะหนักแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เขามีข้ออ้างที่จะสร้างความเดือดร้อนระดับถึงชีวิตแก่ผู้อื่นเช่นนี้ ให้เขาเป็นแค่”คนร้าย” ก็เกินพอ
..อย่าปล่อยให้เขายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว..
#ปั้นลมเป็นเรื่อง
โฆษณา