21 ก.พ. 2020 เวลา 11:18 • การศึกษา
โศกนาฏกรรมทรัพยากรสาธารณะ” (tragedy of the commons)
โศกนาฏกรรมทรัพยากรสาธารณะ” (tragedy of the commons) หมายถึงการที่ต่างคนต่างตักตวงทรัพยากรสาธารณะจนล่มสลาย ในหลายประเทศมักใช้ 2 วิธีหลัก ๆ ในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ คือ 1) ให้รัฐกำกับดูแล (เช่น ออกกฎหมายกำหนดโควตาการจับปลา และลงโทษผู้ฝ่าฝืน) 2)ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริหารจัดการอย่างยั่งยืน.... แต่เอาเข้าจริงแล้ววิธีนี้กำลังดูย้อนแย้ง และความยั่งยืนกำลังเลือนลางไป เพราะรัฐและนายทุนกำลังเอื้อประโยชน์กันและกันในการผลาญทรัพยากรเพื่อความมั่งคั่งแก่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
....เรากำลังถูกทำให้ลืมอีกวิธีที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ นั่นคือ #คนในชุมชนที่กำลังพึ่งพิงทรัพยากรนั้นร่วมกันเป็นสถาบันทางสังคมในการบริหารจัดการ ซึ่งในหลายกรณี
หลายชุมชน ได้ผลดีกว่าการให้รัฐหรือเอกชนจัดการด้วยซ้ำไป
ดังผลการวิจัยภาคสนามที่ทำอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี ของเอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์สถาบันชาวอเมริกัน รางวัลโนเบลปี 2009
ออสตรอม ได้สกัด “หลักการออกแบบกติกา” (design principles) ในการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชนที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ออกมา 8 ข้อ ได้แก่
1) ความชัดเจนของขอบเขต (boundaries) – คนในชุมชนกำหนดและแยกแยะได้ว่าใครมีสิทธิ์ใช้ทรัพยากร ใครไม่มีสิทธิ์ และสามารถระบุขอบเขตของทรัพยากรร่วมที่อยู่ภายใต้การจัดการ
2) ความสอดคล้อง (congruence) – หมายรวมทั้งความสอดคล้องระหว่างกฎกติกาของชุมชนกับเงื่อนไขทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
3) ระบบที่เปิดให้สมาชิกส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปรับปรุงกฎกติกา (collective-choice arrangements)
4) การสอดส่องดูแลที่มีประสิทธิผล (effective monitoring) – ต้องมีกลไกการสอดส่องดูแลว่าสมาชิกใช้ทรัพยากรตามกติกาที่ตกลงร่วมกันหรือไม่เพียงใด
5) มีการลงโทษอย่างค่อยเป็นค่อยไป (graduated sanctions) – คนที่ละเมิดกฎกติกาครั้งแรกๆ จะถูกลงโทษค่อนข้างเบา ถ้าทำผิดซ้ำซากจะถูกลงโทษรุนแรงขึ้น
6) มีกลไกจัดการความขัดแย้ง (conflict resolution mechanisms) ที่มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงได้ง่าย – ทั้งกลไกระหว่างผู้ใช้กันเอง (เช่น ระบบชลประทานชุมชนหลายแห่งมอบหมายให้ผู้อาวุโสในชุมชนเป็นคนไกล่เกลี่ย) และกลไกระหว่างผู้ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
7) รัฐให้การยอมรับในสิทธิของชุมชน (recognition of rights) – ชุมชนที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากรัฐว่ามีสิทธิในการวางกติกา ใช้ และจัดการทรัพยากรร่วม
8) สำหรับทรัพยากรร่วมที่มีขนาดใหญ่ กติกาและกระบวนการจัดการทรัพยากรจะต้องเชื่อมโยงสอดรับกับระบบที่ใหญ่กว่า อาทิ กฎหมาย (nested enterprises) #โดยมีระบบการจัดการของชุมชนเป็นฐานราก
#ขอบคุณข้อมูลจาก สฤณี อาชวานันทกุล. เอลินอร์ ออสตรอม กับปัญญาปฏิบัติของชุมชน. http://www.web.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1419
โฆษณา