21 ก.พ. 2020 เวลา 03:07 • การศึกษา
"กรรมเปรียบด้วยก้อนเกลือ"
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๒๐/๕๔๐.
ภิกษุทั้งหลาย ! ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวย กรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ.
ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวย ผลของกรรมนั้น อย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ.
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม(ให้ผลในปัจจุบัน) ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.
บาปกรรม แม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้ว บาปกรรมนั้นจึงนำเขาไปนรกได้ ?
บุคคลบางคน ในโลกนี้เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อย เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบใจหยาบ) เป็นอัปปทุกขวิหารี(มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย) บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้วบาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้.
บาปกรรม ประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไร ทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกาย มีศีล มีจิต มีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมาก เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง) เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันหาประมาณมิได้) บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้นบุคคลชนิดนี้ทำแล้วกรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอัน
น้อยในถ้วยน้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ?
“เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”.
เพราะเหตุอะไร ? “เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้...เพราะเกลือก้อนนั้น”.
ต่างว่าคนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้น จะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ?
“หามิได้ พระเจ้าข้า !”.
เพราะเหตุอะไร ? “เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น”.
ฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้น ย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย.
1
ภิกษุทั้งหลาย ! คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ ๑ กหาปณะ... แม้ ๑๐๐ กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น.
คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ.
คนอย่างไร ไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ? คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก คนอย่างนี้ ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ฉันนั้นนั่นแหละ.
ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...
อ้างอิงจาก : พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ ๗
พุทธวจน ฆารวาสชั้นเลิศ
หน้าที่ ๙๕ - ๙๘
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา