21 ก.พ. 2020 เวลา 08:47 • กีฬา
"เกมจบลงด้วยการเสมอกันที่บรูจจ์ และเราสามารถเก็บอเวย์โกลกลับมายังโอลด์แทรฟฟอร์ดได้ 1 ลูก (ชูกำปั้น)"
นี่คือข้อความรายงานผลการแข่งขันจากเพจสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจบเกมที่พวกเขาบุกไปเสมอคลับบรูจจ์ด้วยสกอร์ 1-1
ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง การบุกไปเสมอแบบมีสกอร์ในเกมยุโรปรอบน็อคเอาท์เป็นอะไรที่ไม่เสียหายนัก สำหรับการเจอทีมในระดับใกล้เคียงกัน
แต่สำหรับการทีมที่เล็กกว่ามาก โดยเฉพาะทีมจากเบลเยี่ยมซึ่งเป็นลีกอันดับที่ 8 ของยุโรป (อ้างอิงจากค่าสัมประสิทธิ์ของยูฟ่า) ยิ่งนัดแรกคุณทำผลงานได้ดีเท่าไหร่ นัดต่อไปก็จะยิ่งเล่นได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลให้สามารถเน้นในเกมลีกได้มากยิ่งขึ้น ไม่ต้องพะวงกับเกมที่เหลืออีก 1 เกมในบ้านมากจนเกินไป
แต่ประเด็นหลักที่จะนำมาพูดคุยในวันนี้ขอเน้นไปที่การทำงานของสื่อสโมสรละกันครับ
ในวงการฟุตบอลอังกฤษ สื่อที่นำเสนอข่าวฟุตบอลจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน
1.สื่อระดับชาติ คือสำนักข่าวที่ในยุคก่อนมีอินเตอร์เน็ต พวกเขามีช่องทางในการนำเสนอข่าวไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ หรือนิตยสาร
นักข่าวที่ทำงานในสื่อประเภทนี้จะต้องนำเสนอข่าวเพื่อดึงดูดผู้อ่านให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นสื่อใหญ่ การนำเสนอจะเน้นไปที่ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก
ช้อจำกัดในการทำงานของสื่อเหล่านี้แทบจะไม่มีเลย พวกเขาสามารถนำเสนอเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากนำเสนอ ตราบใดก็ตามที่กองบรรณาธิการพิจารณาแล้วว่าเรื่องนี้จะมีคนอ่านเป็นจำนวนที่น่าพึงพอใจ ทำให้การติดตามข่าวสารโดยทั่วไปนั้นสามารถตามจากสื่อประเภทนี้ได้เลย
ตัวอย่างของสื่อระดับประเทศที่ดัง ๆ ก็มี BBC, Sky Sports, Daily Mirror, The Guardian, Daily Express และอีกหลายเจ้าด้วยกัน
แน่นอนว่าถึงจะนำเสนอเรื่องใดก็ได้ แต่สุดท้ายก็ควรจะต้องรักษาจรรยาบรรณด้วย สื่อบางเจ้าอย่าง The Sun ถูกห้ามเข้าสนามของทีมลิเวอร์พูลและเอฟเวอร์ตันไปแล้ว และตัวหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีการนำเข้ามาขายในเมืองด้วย
2.สื่อท้องถิ่น คือประเภทที่นำเสนอเรื่องราวของสโมสรในแต่ละเมืองนั้น ๆ เพื่อเจาะลึกถึงข้อมูลที่แฟนบอลประเภทที่ต้องการข่าวสารที่ลึกกว่าเดิม
Manchester Evening News และ Liverpool Echo คือสื่อที่แฟนบอลพันธ์แท้ของแมนยู แมนซิตี้ ลิเวอร์พูล และเอฟเวอร์ตัน น่าจะรู้จักกันดี
ทั้งสองเจ้าคือสื่อท้องถิ่นที่นำเสนอประเด็นต่าง ๆ จากนักข่าวที่ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับแต่ละสโมสรเป็นอย่างดี หลาย ๆ ข่าวจัดว่าเป็นข่าววงในที่พวกเขาได้รับมาจากแหล่งข่าวภายในสโมสร
สื่อประเภทนี้มักจะมีข้อจำกัดคือพวกเขาจะนำเสนอเฉพาะทีมในเมืองของตัวเอง หรือถ้าเป็นข้อมูลทีมอื่นก็ต้องรอให้มีความเกี่ยวข้องกับทีมในเมืองก่อนจึงจะนำเสนอได้
3.สื่อประจำสโมสร คือทีมงานที่เป็นลูกจ้างหรือบริษัทเอาท์ซอสของแต่ละทีม จุดมุ่งหมายหลักคือการลงข่าวประชาสัมพันธ์ของทีมที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว
ถือเป็นสื่อที่เกิดขึ้นมาหลังสุดจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต ทำให้แต่ละสโมสรต้องจัดทำเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแต่ละทีมขึ้นมาเพื่อลงข่าวให้แฟนบอลติดตามได้โดยไม่ต้องรอให้สื่อข้างนอกนำเสนอ
บางทีการเรียกพวกเขาว่า'สื่อ'อาจจะไม่ถูกต้อง 100% นัก เนื่องจากงานของพวกเขาน่าจะอยู่ในข่ายของ'ฝ่ายประชาสัมพันธ์'ซะมากกว่า
พวกเขาจะถูกจำกัดการนำเสนอค่อนข้างมากเนื่องจากทุกข้อความที่ออกสู่สาธารณชนจะเปรียบเสมือนคำพูดจากปากของทางสโมสรโดยตรง
ในฐานะที่แอดมินเองเคยทำงานเป็นสื่อประเภทนี้ให้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีกอยู่ 4 ปี เลยมีประสบการณ์ตรงกับแนวทางการนำเสนอของสโมสร ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ในส่วนที่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์จากสโมสรโดยตรง จะไม่มีปัญหามากเท่าไหร่เพราะทางทีมคอนเทนต์ออนไลน์จะมีหน้าที่เพียงนำสารมาส่งต่อเท่านั้น
แต่ในด้านอื่น ๆ เช่นการลงบทสัมภาษณ์ และการลงสถิติข้อมูลต่าง ๆ พวกเขาจะต้องทำการเซนเซอร์ตัวเองก่อนเสมอ
ข้อความใดที่อาจก่อให้เกิดดราม่าทั้งกับทีมต้นสังกัดและทีมอื่นจะต้องถูกถอดออกก่อนที่จะนำเสนอ รวมไปถึงพาร์ทเนอร์และสปอนเซอร์ต่าง ๆ ของสโมสรด้วย
ในการแสดงอารมณ์สามารถร่วมรู้สึกผิดหวังกับแฟน ๆ ของทีมได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปโจมตีนักเตะหรือผู้จัดการทีมคนใดคนหนึ่ง
"shed a positive light on players and staff" คือข้อความที่ถูกระบุไว้ในไกด์ไลน์ของสโมสรแห่งหนึ่ง คือไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน จะต้องพยายามฉายพลังแห่งความเป็นบวกไปยังตัวนักเตะและสต๊าฟโค้ช
เอาตรง ๆ คนทำงานในสโมสรเองหลายคนก็มีบ้างแหละที่เซ็งกับผลงานทีมจนอยากจะจิกกัดนักเตะบางคน รวมไปถึงการตัดสินใจบางเรื่องของผู้จัดการทีม แต่ด้วยหน้าที่การงานพวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ จำเป็นต้องทำงานไปตามแนวทางที่ถูกวางไว้
แล้วยิ่งทำงานใกล้ชิดกว่าคนทั่วไปแบบนั้น เชื่อเถอะว่าอารมณ์อยากด่าคงมีไม่น้อยไปกว่ากันเลย
โฆษณา