23 ก.พ. 2020 เวลา 04:28 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #49 : คุยกับคนหัวร้อน ต้องทำยังไงนะ
สวัสดีครับทุกท่าน การจัดการอารมณ์ของผู้อื่นโดยเฉพาะอารมณ์โกรธเป็นเรื่องที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อร่วมงาน เพื่อน หรือแม้แต่ครอบครัว ปัญหาคือ การจัดการกับอารมณ์โกรธของคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ทำยังไงเราจึงจะจัดการอารมณ์โกรธของผู้อื่นแบบไม่กระทบความสัมพันธ์ และสามารถจัดการอารมณ์ของทั้งคนอื่นและตัวเราได้ในระยะยาว นี่คือเรื่องที่เราจะคุยกัน ตามมาครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
เนื้อหาในวันนี้ ผมอ้างอิงข้อมูลจากจาก NickWignall.Com ซึ่งเป็น page ของคุณ Nick ผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพฤติกรรม ดังนั้น บทความนี้จะมีส่วนผสมความเป็นจิตวิทยาอยู่พอควรครับ (ระดับที่ผมเข้าใจได้ละกัน)
คุณทำยังไงเมื่อต้องคุยกับคนที่กำลังโกรธครับ
ถ้าเขาไม่ได้โกรธเรา ก็คงเดินหนีออกห่างๆไปก่อน มันก็จบ แต่ถ้าคนที่เขาโกรธคือเรา การกระทบกระทั่งก็ต้องเกิด คนเราส่วนใหญ่ก็จะตอบโต้ 2 แบบครับ
1. ไม่ยอม เธอขึ้นเสียงมา ฉันก็ขึ้นเสียงกลับ ตาต่อตาฟันต่อฟัน สิ่งที่เรามักพยายามทำเวลาที่เราไม่ยอม ก็คือ หาจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามแล้วจี้กลับเช่นกัน และแน่นอนว่านี่คือเชื้อไฟ ไม่ใช่การดับไฟแน่ๆ
2. ยอม ถ้าไม่ยอมมันไม่ดี งั้นยอมดีใหม จะได้ไม่มีเรื่อง บ่อยครั้งเราก็คิดว่าควรยอมเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้ตอบกัน มันก็ถูกอยู่แต่มันถูกแค่ครึ่งเดียวครับ เพราะว่า Loop ของปัญหามันไม่จบ แต่มันจะสร้าง loop ใหม่เรื่อยๆ เมื่อคุณยอมและขอโทษอย่างเดียว คุณอาจจะหยุดการโต้ตอบครั้งนี้ได้ แต่สมองของคนโกรธก็จะบันทึกว่าวิธีนี้ได้ผลและพฤติกรรมนี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดต่อไปเรื่อยๆ
ยอมก็ไม่ได้ ไม่ยอมก็ไม่ได้ แล้วทำยังไงดี
ก่อนจะคิดว่าทำยังไง อยากให้กลับมาคิดแยกความหมายของคำสองคำครับ นั่นก็คือ ความโกรธ กับอาการโกรธ
ความโกรธ (Anger) คือ ความรู้สึกภายในของเรา เมื่อเรารู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างผิดจากสิ่งที่เราต้องการ
อาการโกรธ (Aggression) คือ อาการภายนอกที่เราแสดงออกเมื่อเราโกรธ
ที่ต้องแยกความหมายออกจากกันเพราะการจัดการ 2 เรื่องนี้มันทำไม่เหมือนกันครับ สิ่งที่เป็นปัญหากับเราเวลาเราเจอคนโกรธ คือ อาการโกรธ ไม่ใข่ความโกรธครับ เราไม่ชอบให้คนขึ้นเสียงใส่ ตะโกนใส่ ทุบโต๊ะ หรือใช้คำพูดรุนแรง คิดดูดีๆมันไม่ได้เกี่ยวกับความโกรธนะครับ
คนคนหนึ่งอาจจะโกรธแต่ถ้าเขาไม่ได้แสดงอาการโกรธที่เกินจะรับได้ เราก็ไม่มีปัญหาจริงใหมครับ ดังนั้นเมื่อเราแยกองค์ประกอบของความโกรธออกมา จะพบว่า 'ความโกรธ' อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้
เข้าใจเหตุผลของ 'ความโกรธ'
อย่างแรกที่ควรเข้าใจ คือ เราทุกคนมีความโกรธเป็นธรรมชาติ อย่างที่สอง คือ พยายามเข้าใจสาเหตุของความโกรธนั้น และแสดงให้คู่สนทนารู้ว่าเราเข้าใจหรือพยายามเข้าใจ
เบื้องหลังของความโกรธหลายครั้งเป็นความรู้สึกด้านบวกที่คนที่โกรธอยากมีให้ตัวเอง เช่น หลังคำว่า "แกมันแย่" คือ ฉันมีดีกว่านี้ หลังคำว่า "พวกคุณไม่รู้อะไรเลย" คือ ฉันรู้เรื่องนี้ดี ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจเหตุผลแห่งการโกรธ เราก็อาจช่วยแก้ที่สาเหตุจริงๆก็ได้
จงจำกัดขอบเขตของ 'อาการโกรธ'
แน่นอนว่าบางครั้งเราพยายามแสดงความเข้าใจแต่คู่สนทนาที่กำลังโกรธก็อาจจะยังไม่หายโกรธ สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่แค่นิ่งเข้าใจเฉยๆครับ แต่เราต้องมีขอบเขตของความทนต่ออาการโกรธด้วย เราต้องรู้ตัวเองว่าอาการโกรธแบบใหนเรียกว่ารับไม่ได้ เช่น ถ้าคู่สนทนาคุณยังคงต่อว่าและใข้คำหยาบคาบคุกคาม สิ่งที่เราควรทำ คือ หยุดบทสนทนาและยืนยันว่าเรารับอาการเช่นนี้ไม่ได้
ย้ำว่าสิ่งที่เรารับไม่ได้คือ อาการ ไม่ใข่ความโกรธนะครับ การยืนยันที่ว่าก็ไม่ควรใช้อาการโกรธใส่ครับ เพราะจะนำไปสู่การทะเลาะกัน แต่ควรทำด้วยสติ เช่น บอกอย่างชัดเจนว่าคุณไม่พร้อมจะคุยต่อถ้าเป็นแบบนี้ แล้วเดินออกจากบทสนทนานั้น
แน่นอนว่าพูดง่ายทำยากนะครับ การทำแบบนี้เราต้องผ่านด่านอารมณ์หลายด่าน ตั้งแต่ ไม่โกรธกลับ รู้สึกกดดัน ไปจนถึงรู้สึกผิดต่อความสัมพันธ์เสียเอง (บางความสัมพันธ์มีค่ากว่าใครถูกหรือผิด) ผมแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ต้องไว้ใจคนที่เราคุยด้วยเหมือนกันครับ ถ้าการแสดงออกของเรามันคือตัวเราที่ผ่านการคิดอย่างเป็นเหตุผลแล้ว เขาอาจจะยังโกรธอยู่ตอนนั้น แต่ต่อมาเขาจะต้องหายและเข้าใจการกระทำของเราเช่นกันครับ อย่าดูถูกความสามารถด้านอารมณ์ของคนอื่น เชื่อเถอะว่าถ้าเรื่องไม่ได้แย่เกินไปหรือเขาไม่ได้เกลียดหน้าคุณอยู่แล้ว มันก็กลับมาได้ครับ
จริงๆในบทความมีเนื้อหาอีกมากเลยครับ เผื่อใครสนใจก็ลองไปหาอ่านดูครับ
3 ขั้นตอนง่ายๆนะครับ เข้าใจความโกรธผู้อื่น อธิบายให้เข้าใจว่าคุณเข้าใจ และกำหนดเส้นกั้นอาการโกรธที่ทนไม่ได้และบอกอย่างชัดจนเมื่อล้ำเส้น อย่างว่าครับพูดง่ายทำยาก... แต่ต้องทำครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา