23 ก.พ. 2020 เวลา 02:53 • ประวัติศาสตร์
งักฮุย แม่ทัพผู้รักชาติ กับตำนานปาท่องโก๋
1
งักฮุย (อ่านตามสำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ ที่จีนกลางเรียกว่า เยว่ เฟย์ (ชาตะ ค.ศ. 1103 -มรณะ ค.ศ. 1142) เป็นนักรบซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์จีน มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ เป็นแม่ทัพผู้ต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าหนี่เจินแห่งอาณาจักรต้าจิน (ชาวหนี่เจินเป็นบรรพบุรุษของชาวแมนจู ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ชิง)
2
จอมทัพงักฮุย
งักฮุย เกิดในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน เมื่อยังเยาว์ บ้านเกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่เนื่องจากเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงเหอแตก มารดางักฮุยต้องอุ้มบุตรชาย ลงไปอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิต
เมื่อเข้าวัยหนุ่ม แผ่นดินซ่งเหนือเกิดวิกฤตร้ายแรง เนื่องจากกองทัพอาณาจักรจิน เข้ารุกรานและยึดนครไคฟง เมืองหลวงไว้ได้ จักรพรรดิสองพระองค์ คือ ซ่งฮุยจง และซ่งชินจง ถูกทหารจินจับเป็นเชลยศึก นำมาสู่จุดจบของซ่งเหนือ ยามนั้น งักฮุยได้ตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไปของชาติกลับคืนมาให้ได้
ด้วยความตั้งใจประกอบกับการสนับสนุนจากมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารของซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-ค.ศ. 1279) โดย องค์ชายจ้าวโกว โอรสของซ่งฮุ่ยจง ได้เสด็จหนีลงใต้และสถาปนาราชวงศ์ซ่งใต้ โดยขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งเกาจง และตั้งเมืองหลวงใหม่ที่หลินอัน (ปัจจุบันคือเมืองหังโจว) โดยก่อนออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดางักฮุยได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า จิงจงเป้ากว๋อ หมายถึง ซื่อตรง ภักดี ล้างแค้น เพื่อชาติ
มารดางักฮุยสักอักษรบนหลังงักฮุย
เมื่อเข้ารับราชการ งักฮุยได้แสดงความกล้าหาญและสามารถรบ ชนะสังหารข้าศึกเป็นจำนวนมาก ผลงานของเขาทำให้เขากลายเป็นคนสนิทของแม่ทัพเรืองฝีมือผู้หนึ่ง นามว่า จงเจ๋อ ซึ่งแม่ทัพจงเจ๋อได้ถ่ายทอดความรู้ในพิชัยสงครามให้งักฮุยจนหมดสิ้น โดยหวังว่านายทหารหนุ่มผู้นี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติ
หลังจากแม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยได้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งแม่ทัพและสร้างผลงานจนได้เป็นแม่ทัพใหญ่ เมื่ออายุเพียง 32 ปี แต่ เขางักฮุยก็มิได้หลงระเริงต่อตำแหน่งใหญ่ หากยังมุ่งมั่นขับไล่ข้าศึกและกอบกู้ดินแดนที่เสียไปของชาติกลับคืนมา
หลังเป็นแม่ทัพใหญ่ งักฮุยมีชื่อเสียงเลื่องลือ ในด้านความเข้มงวดและระเบียบวินัย ทั้งดำรงความซื่อสัตย์และซื่อตรง โดยกองทัพงักฮุยมีกฎเหล็กที่ยึดไว้คือ “แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร” ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กองทัพงักฮุยครองใจชาวบ้านและทำให้มีกองกำลังอิสระมาเข้าร่วมเป็นอันมาก
งักฮุยปกครองทหาร ด้วยความเอาใจใส่และยุติธรรม ทั้งฝึกฝนไพร่พลอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดรางวัลและการลงโทษชัดเจน หากเบื้องบนมอบรางวัล ก็จะจัดสรรให้พลทหารอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงว่าจะเหลือถึงตนหรือไม่ จึงทำให้ทหารทั้งรักทั้งเกรงใจเป็นอย่างยิ่ง
งักฮุยเชี่ยวชาญกลศึก รู้จักใช้คนน้อยเอาชนะคนมาก รวมทั้งพลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์ซึ่งหน้า เช่น ครั้งที่เผชิญทัพม้าหุ้มเกราะของกองทัพจิน ซึ่งแข็งแกร่งยากที่จะบุกทะลวง งักฮุยก็สั่งให้ทำตะขอยาวและดักซุ่มโจมตี โดยมุ่งตัดข้อเท้าม้า จนสุดท้ายทัพม้าหุ้มเกราะของกองทัพจินก็พินาศสิ้น
นับแต่เริ่มทำศึก กองทัพงักฮุยได้สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องและไม่เคยรบแพ้สักครั้งเดียว ทำให้บรรดาแม่ทัพนายกองของอาณาจักรจินพากันเกรงกลัว กระทั่งมีคำกล่าวว่า “โยกภูเขายังง่าย กว่าสะเทือนทัพงักฮุย”
งักฮุยออกศึก
งักฮุยได้กรีฑาทัพขึ้นเหนือ กวาดล้างแคว้นฉีซึ่งเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรจิน และชิงดินแดนกลับคืน รุกไล่กองทัพจิน จนกระทั่งอยู่ห่างจาก นครไคฟง เมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หวันเหยียนวูซู จอมทัพใหญ่ของอาณาจักรจินได้สั่งให้ อัครมหาเสนาบดี ฉินฮุ่ย ขุนนางโฉด ผู้เป็นไส้ศึก เพ็ดทูลต่อองค์จักรพรรดิว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับต้าจิน และที่สำคัญคือ ฉินฮุ่ยได้ทำให้ซ่งเกาจงระแวงว่า หากงักฮุยสามารถยึดดินแดนกลับคืนมาได้เรื่อยๆ สุดท้ายก็อาจจะสามารถชิงตัวอดีตจักรพรรดิซุ่งฮุ่ยจง และซ่งชินจง พระราชบิดาและพระเชษฐาของซ่งเกาจงกลับมา ซึ่งอาจทำให้ซ่งเกาจงต้องเสียบัลลังก์ไป
ซ่งเกาจง เชื่อในคำของฉินฮุ่ย จึงออกโองการให้งักฮุยถอนทัพกลับเมืองหลวง แม้งักฮุยจะทักท้วงและดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ โดยจักรพรรดิได้ส่งราชโองการมาถึงสิบสองฉบับเพื่อให้ถอยทัพ งักฮุยถึงกับถอนใจรำพึงด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตน ต้องสูญเปล่าเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา
1
หลังกลับเมืองหลวง งักฮุยถูกฉินฮุ่ยใส่ความว่า ขัดราชโองการ คิดมักใหญ่ใฝ่สูงและทำการจับกุมในเวลาต่อมา ทว่าไม่อาจหาหลักฐานความผิดใดๆได้ กระนั้น ฉินฮุ่ยก็สร้างเรื่องสั่งประหารงักฮุยและบุตรชาย
ความตายอย่างอยุติธรรมของแม่ทัพผู้ซื่อสัตย์ สร้างความโกรธแค้นให้ปวงประชาเป็นอันมาก
หลังถูกประหารชีวิต ได้มีประชาชนที่เคารพรักในตัวเขา ช่วยกันนำศพไปทำพิธีฝังก่อนจะย้ายสุสานของเขามาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว และได้มีการสร้างศาลขึ้น
ชาวบ้านโกรธแค้นที่ฉินฮุ่ยสั่งประหารงักฮุย แต่ไม่อาจทำอะไรได้ เนื่องจากขุนนางโฉดผู้นี้ยังมีอำนาจมาก จึงมีคนคิดทำแป้งทอดน้ำมัน เรียกว่า อิ้วจาไคว่ โดยสมมติเป็น ฉินฮุ่ยและภรรยา เอามาทอดแล้วฉีกกินให้สมแค้น ซึ่งอาหารดังกล่าว คนไทยเรียกว่า ปาท่องโก๋
อิ้วจาไค่ว (ขวา ในรูป) ปาท่องโก๋(ซ้าย)
สำหรับชะตากรรมของฉินฮุ่ย ในบั้นปลาย ได้ป่วยด้วยโรคร้ายก่อนสิ้นใจตายอย่างทุกข์ทรมาน จากนั้นไม่กี่ปี ครอบครัว ลูกหลานได้ถูกริบทรัพย์และเนรเทศไปชายแดน ส่วนชื่อของเขาก็ยังเป็นที่สาปแช่งประณามมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ ที่ศาลเจ้างักฮุยริมทะเลสาบซีหู ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจีน ได้มีการสร้างรูปปั้นทองแดงฉินฮุ่ยและภรรยาเพื่อให้ผู้คนถุยน้ำลายใส่เพื่อเป็นการประณาม
ตราบเท่าทีี่วีรกรรมของงักฮุยยังถูกขับขาน ความโฉดชั่วของฉินฮุ่ยก็จะถูกประจานสืบไป
ที่จริงแล้ว คนเช่นฉินฮุ่ยนั้น ต่ำช้า แต่ซ่งเกาจงที่หวงอำนาจของตน จนยอมให้ฉินฮุ่ยกำจัดแม่ทัพผู้ภักดีนั้นเล่า จะเรียกว่าอย่างใด
โฆษณา