24 ก.พ. 2020 เวลา 09:42 • ประวัติศาสตร์
เจิ้งเฉิงกง จอมทัพผู้สร้างไต้หวัน
 
หลังชนเผ่าแมนจูเข้าด่านซานไห่กวน โดยการชักนำของ อู๋ซานกุ้ย แม่ทัพราชวงศ์หมิงที่แปรพักตร์ เชื้อพระวงศ์หมิงที่เหลือรอด ได้อพยพลงไปตั้งอาณาจักรหมิงใต้ หรือ หนานหมิง ทว่าหมิงใต้กลับแบ่งเป็นฝักฝ่ายและต่างก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ โดยไม่ได้คิดรวมกำลังต่อต้านแมนจู
1
ใน ปี ค.ศ.1645 ถังหวาง เชื้อพระวงศ์ต้าหมิงได้ตั้งมั่นที่ฝูโจว และขึ้นเสวยราชย์ในพระนาม ฮ่องเต้หลงอู่
พระองค์มีแม่ทัพนาม เจิ้งจือหลง เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยเจิ้งจือหลงมีบุตรชายผู้หนึ่ง นามว่า เจิ้งเฉิงกง ซึ่งเป็นนายทหารหนุ่มที่เชี่ยวชาญในการรบ
1
เจิ้งเฉิงกง(คอซิงก้า) เป็นชาวหนานอัน มณฑลฟูเจี้ยน เกิดที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 เดือน 8 ปี ค.ศ. 1624 เป็นบุตรชายคนโตของเจิ้งจือหลง กับภรรยาชาวญี่ปุ่น นามเดิมชื่อ เจิ้งเซิน เมื่ิออายุได้ 7 ปี ได้ตามบิดามารดามาอยู่ประเทศจีน
1
ในปี ค.ศ.1945 บิดาได้พาเจิ้งเซินเข้าเฝ้าฮ่องเต้หลงอู่ พระองค์ได้ตรัสถามเจิ้งเซินว่า ”ยามบ้านเมืองเข้าสู่ยุคเข็ญดังนี้ จักกอบกู้ชาติได้อย่างไร”
1
เจิ้งเซินได้ยกเอาคำพูดของ งักฮุย อดีตแม่ทัพผู้ภักดีต่อชาติในยุคราชวงศ์ซ่ง ขึ้นมากราบทูลตอบว่า ”หากจักกอบกู้ชาติให้เป็นผล ขุนนางพลเรือนต้องไม่โลภเงินทอง เหล่าขุนทัพนายกองต้องกล้าหาญไม่กลัวตาย”
ฮ่องเต้หลงอู่ทรงพอพระทัยในคำตอบของเจิ้งเซินมาก จึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกองทหารราชองครักษ์และพระราชทานนามใหม่ว่า เจิ้งเฉิงกง
ใน ปี ค.ศ. 1646 ราชวงศ์ชิงได้ส่งคนลอบติดต่อเจิ้งจือหลง เพื่อกล่อมให้ยอมจำนน เจิ้งจือหลงเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ราชสำนักชิงเสนอ จึงทรยศ ยอมให้ทัพชิงรุกเข้าฝูโจว ทำให้ฮ่องเต้หลงอู่ถูกทหารแมนจูปลงพระชนม์
เจิ้งเฉิงกงโกรธมากที่บิดาทรยศแผ่นดิน จึงชูคำขวัญ ”เนรคุณบิดา แทนคุณชาติ” รวบรวมไพร่พลที่ยังจงรักภักดีตั้งกองกำลังต่อต้านราชวงศ์ชิง ยกไปตั้งมั่นที่เกาะหนานเอ้า มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ต่อมา ทราบว่า กุ้ยหวาง เชื้อพระวงศ์ต้าหมิง ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ที่กวางต่ง ใช้พระนาม ฮ่องเต้หย่งลี่ เขาจึงนำทหารเข้าสนับสนุนและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เหยียนผิงจวิ้นหวาง
กองทัพเจิ้งเฉิงกงเอาชนะกองทหารชิงได้หลายครั้งจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ตัวเอ่อกุน ผู้สำเร็จราชการแทน ฮ่องเต้ซุ่นจื้อ แห่งราชวงศ์ชิง ได้สั่งเจิ้งจือหลงเขียนจดหมายเกลี้ยกล่อมให้เจิ้งเฉิงกงยอมจำนน ทว่าเจิ้งเฉิงกงปฎิเสธ ทำให้เจิ้งจือหลงถูกประหารชีวิต
เจิ้งเฉิงกงได้นำทัพเข้ายึดจางโจวและแผ่อิทธิพลควบคุมชายฝั่งทะเลตะวันออก จนสามารถระดมพลได้ถึงสองแสน ทำให้ต้าชิงต้องออกโองการสั่งให้ชาวประมงที่อยู่ริมทะเลย้ายเข้าในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทาง 40 ลี้ (ยี่สิบกิโลเมตร) เพื่อป้องกันมิให้ไปสมทบกับกองทัพของเจิ้งเฉิงกง
ถึงปี ค.ศ.1659 เจิ้งเฉิงกงนำทัพตีนานกิง ทว่าต้องกลศึก จนต้องถอยกลับและขณะที่ติดพันการศึกกับทัพแมนจูที่ไล่ตามมา ต้าชิงก็ได้ส่งทัพใหญ่อีกทัพเข้าตีจางโจวแตกพ่าย ฮ่องเต้หยงลี่เสด็จหนีไปพม่าแต่ถูกอู๋ซานกุ้ยนำทัพไล่ล่าและสังหารในเวลาต่อมา
1
การที่ฮ่องเต้หยงลี่ถูกปลงพระชนม์ ทำให้ความพยายามสิบกว่าปีของเจิ้งเฉิงกง ต้องสูญสลาย อย่างไรก็ตาม เขาได้นำไพร่พลที่เหลือไปตั้งมั่นที่เซี่ยหมินเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงต่อไป
ในเวลานั้น ชาวฮอลันดา หรือ ชาวเนเธอแลนด์ ที่เข้ามายึดเกาะไต้หวันเป็นอาณานิคม ตั้งแต่ก่อนราชวงศ์หมิง ก็ได้ส่งกองเรือเข้าระรานชาวจีนตามเกาะต่างๆ นอกชายฝั่ง ซึ่งการ กระทำของฮอลันดาเป็นอุปสรรคขัดขวางงานกู้ชาติของเจิ้งเฉิงกง
เจิ้งเฉิงกง เห็นว่า หากยังตั้งมั่นอยู่ที่เซี่ยหมิน อาจถูกตีขนาบทั้งจากกองทัพชิงและพวกฮอลันดา จึงตัดสินใจเข้ายึดไต้หวันเพื่อเป็นที่มั่นสำหรับงานกู้ชาติ
29 เมษายน ปี ค.ศ. 1661 เจิ้งเฉิงกงได้นำกองเรือพร้อมทหาร 25,000 นาย ข้ามทะเลมุ่งสู่ไต้หวัน ซึ่งในยามนั้นมีกองทหารชาวฮอลันดากว่าสองพันนาย พร้อมเรือรบนับสิบลำคอยป้องกัน
ทัพเรือของเจิ้งเฉิงกงปะทะกองเรือฮอลันดา
กองทัพหมิงได้ยึดเมืองท่าลู่เออร์หมินบนเกาะไต้หวันเอาไว้เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเข้าตีป้อมปราการที่ฉื้อคั่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบข้าหลวงใหญ่ฮอลันดา หลังเข้าตีอยู่สามวัน ก็ยึดป้อมปราการได้ จากนั้นจึงยกทัพเข้าตีกองบัญชาการใหญ่ฮอลันดาที่อันผิง โดยใช้เวลาปิดล้อมอยู่นานถึง 7 เดือน ชาวฮอลันดาจึงยอมจำนน ทั้งนี้หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจของฮอลันดา 38 ปี ไต้หวันก็กลับเป็นอิสระอีกครั้ง ในปี ค.ศ.1661
พวกฮอลันดายอมจำนนต่อทัพจีน
หลังยึดไต้หวัน เจิ้งเฉิงกงได้ก่อตั้งอาณาจักรตงหนิงจากนั้นเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนบนเกาะ เพื่อหวังใช้เป็นฐานกู้ชาติ ทว่าหลังจากนั้น ไม่กี่เดือน เจิ้งเฉิงกงก็ป่วยหนักและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1662
เจิ้งจิง บุตรชายของเขาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งตงหนิงและทำสงครามกับต้าชิงโดยส่งทัพไปโจมตีชายฝั่งตะวันออก จนถึง ค.ศ.1682 เจิ้งจิง เสียชีวิต บุตรชายวัยสิบสี่ นาม เจิ้งเค่อส่วง ขึ้นเป็นกษัตริย์ ด้วยความที่อายุน้อยจึงอยู่ใต้อิทธิพลของราชครู ฝงซีฟ่าน ทำให้เกิดความวุ่นวายในอาณาจักร
1
คังซี ฮ่องเต้องค์ที่สี่แห่งต้าชิง ฉวยโอกาสที่ไต้หวันกำลังวุ่นวาย ส่งนายพลซือหลาง อดีตแม่ทัพของเจิ้งจิงที่มาสวามิภักดิ์กับต้าชิง นำทัพบุกไต้หวันและพิชิตอาณาจักรตงหนิงลงได้ เจิ้งเค่อส่วง และ ฝงซีฟ่านยอมจำนน และไต้หวันก็ถูกผนวกรวมเข้ากับจีนอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก
อนุสาวรีย์ เจิ้งเฉิงกง
โฆษณา