Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คนเล่าประวัติศาสตร์ (komkid)
•
ติดตาม
25 ก.พ. 2020 เวลา 06:24 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ ผู้พิชิตแห่งอิระวดี
2
พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูที่สามารถรวมพม่าและมอญได้สำเร็จ แต่เดิม ทรงมีพระนามว่า มังตรา ประสูติในปี ค.ศ.1516(พ.ศ.๒๐๕๙) เป็นพระโอรสของพระเจ้าเมงกะยินโย กษัตริย์พม่าแห่งเมืองตองอู ส่วนพระมารดาเป็นบุตรีขุนนางเชื้อสายมอญในราชสำนัก
พงศาวดารพม่าเล่าไว้ว่า ราชบุตรมังตรามีปานดำที่ลิ้น อันเป็นลักษณะของผู้มีบุญญาธิการ ภายหลัง จึงมีอีกพระนามว่า พระเจ้าลิ้นดำ
2
เมื่อมังตราเจริญวัย เมงกะยินโยทรงคัดเลือกพี่เลี้ยง 7 คน จากบุตรขุนนาง ซึ่งผู้ที่มังตราสนิทมากที่สุด ชื่อว่า จาเต (หรือที่ไทยรู้จักในชื่อ จะเด็ด) ซึ่งภายหลังได้ยศเป็น บุเรงนองกยอดินรธา
1
ช่วงที่มังตรากำลังเติบโตนั้น ดินแดนลุ่มแม่น้ำอิระวดีแบ่งเป็นแคว้นต่างๆ ทางใต้เป็นแดนมอญ มีหงสาวดีและเมาะตะมะเป็นเมืองใหญ่ ส่วนตอนเหนือ เป็นอาณาเขตพม่า ประกอบด้วยตองอู แปร และอังวะ โดยตองอูมีกษัตริย์เป็นพม่า ส่วนแปรและอังวะมีกษัตริย์เป็นเชื้อสายพม่าผสมไทใหญ่ ซึ่งในสามแคว้น อังวะเป็นแคว้นใหญ่สุด แต่ถูกคุกคามจากสมาพันธ์ฉานซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1500(พ.ศ.๒๐๔๓) จากการรวมของไทใหญ่สีี่เมือง คือ โมยิน เมืองหมอก บามอ กะเล
3
ค.ศ.1524(พ.ศ.๒๐๖๗) เจ้าฟ้าสอลอนแห่งโมยิน ผู้นำสมาพันธ์ได้เป็นพันธมิตรกับแปร ก่อนทำสงครามกับอังวะที่มีไทใหญ่เมืองสีป่อเป็นพันธมิตร และใน ค.ศ.1527(พ.ศ.๒๐๗๐)ทัพฉานก็ตีกรุงอังวะแตก กษัตริย์อังวะถูกสังหาร ชาวเมืองถูกปล้นฆ่าอย่างทารุณ
เจ้าฟ้าสอลอนตั้งโอรส นาม เจ้าฮุ่งฟ้า หรือ โสหันภวาขึ้นครองอังวะ ขณะที่สีป่อก็ยอมเข้าร่วมสมาพันธ์ฉาน
ค.ศ.1529(พ.ศ.๒๐๗๒)มังตรามีชันษา 13 ปี พระเจ้าเมงกะยินโยสิ้นพระชนม์ มังตราจึงขึ้นครองราชย์ มีพระนาม เมงตยายาวที หรือที่ไทยเรียกว่า ตะเบงชเวตี้
หลังชันษาครบ 15 ปี ใน ค.ศ.1531(พ.ศ.๒๐๘๑) พระเจ้าตะเบงชเวตี้ต้องประกอบพิธีเจาะพระกรรณ ทว่าแทนที่จะประกอบพิธีในตองอู กลับเสด็จไปพระธาตุมุเตาชานกรุงหงสาวดี โดยขบวนเสด็จ ประกอบด้วยพราหมณ์ 8 คนกับอำมาตย์ 40 คน สำหรับทำพิธีและคัดเลือกทหารม้า 500 นาย ให้บุเรงนองเป็นแม่ทัพ ถวายอารักขา
2
พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ทรงทำพิธีเจาะพระกรรณ ที่พระธาตุมุเตา ชานกรุงหงสาวดี
ขบวนของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ผ่านเข้าเขตมอญโดยไม่ถูกขัดขวาง จนไปถึงพระธาตุมุเตา ซึ่งเมื่อพระเจ้าตะกายุตพี กษัตริย์หงสาวดีทราบว่า กษัตริย์ตองอูมาเหยียบถึงชานเมืองก็พิโรธ จึงส่งพระยาลอ พระยาจาน คุมพลหนึ่งหมื่นไปจับ
ทั้งสองนำทัพไปล้อมขบวนพระเจ้าตะเบงชเวตี้ แต่พระองค์ไม่หวั่นเกรงและให้อำมาตย์ประกอบพิธีเจาะพระกรรณจนเสร็จ จากนั้นก็ทรงตีฝ่าทัพมอญกลับไปถึงตองอูโดยปลอดภัย
พระธาตุมุเตา
ปี ค.ศ.1532 (พ.ศ.๒๐๗๕) เจ้าฟ้าสอลอนขัดแย้งกับกษัตริย์แปร จึงยกทัพไปจับกษัตริย์แปรเป็นเชลยแล้วตั้งเจ้าชายนรปติ โอรสกษัตริย์แปรให้ครองเมืองและให้สมรสกับธิดาของพระองค์ด้วย ส่วนกษัตริย์แปรองค์เดิม สิ้นพระชนม์จากนั้นไม่นาน ทว่าหลังเสร็จศึก เจ้าฟ้าสอลอนก็ถูกลอบสังหารโดยเสนาบดีทรยศ เจ้าฮุ่งฟ้าขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสมาพันธ์ฉานต่อจากบิดา และผูกพันธมิตรกับอาราคานหรือยะข่าย ทำให้อิทธิพลไทใหญ่ครอบคลุมทั่วลุ่มน้ำอิระวดีตอนบน
แผนที่พม่า ยุคสงครามของพระเจ้าตะเบวชะเวตี้
ส่วนทางตองอู พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงหมายจะครองลุ่มน้ำอิระวดี และเป้าหมายแรก ก็คือการพิชิตชาวมอญ ซึ่งการที่พระองค์เสด็จไปถึงชานกรุงหงสา โดยที่ทัพมอญไม่อาจทำอะไรได้ ก็สร้างความฮึกเหิมให้เหล่าทหารตองอูเป็นอันมาก ครั้นถึง ค.ศ.1534 (พ.ศ.2077) ตองอูจึงเปิดฉากสงครามกับมอญ
ตองอู ทำสงครามกับหงสาวดี
เวลานั้น มีความแตกแยกอยู่ภายในอาณาจักรมอญ เนื่องจากอุปราชสอพินยา เจ้าเมืองเมาะตะมะได้บาดหมางกับพระเจ้าตะกายุตพี ทำให้ไม่ยอมช่วยหงสาวดีในการศึก
แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเมาะตะมะ แต่หงสาวดีก็มีรี้พลเกือบสี่หมื่น ขณะที่ตองอูมีทหารเพียงหมื่นเศษ ทว่าทัพตองอูก็สามารถตีพะสิมซึ่งเป็นเมืองสำคัญของหงสา ได้ในปี พ.ศ.๒๐๗๘(ค.ศ.1535) และเข้าประชิดกรุงหงสาวดีแต่ถูกต้านทานจนต้องถอยทัพกลับ
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงนำทัพเข้าตีกรุงหงสาวดี ติดๆกัน ในอีกสองปีต่อมา แต่ก็ยังไม่อาจทำลายแนวป้องกันของหงสาวดีได้
1
ทว่าพระเจ้าตะกายุตพีนั้น ทรงมีอุปนิสัยหวาดระแวง ตองอูจึงใช้อุบายลวงให้พระองค์ประหารแม่ทัพสำคัญสองคนจนกองทัพระส่ำระสาย และใน ค.ศ.1539(พ.ศ.2082)แนวป้องกันของหงสาก็แตกพ่าย
เมื่อเห็นว่า ไม่อาจสู้ทัพตองอูได้อีก พระเจ้าตะกายุตพีจึงนำทัพออกจากหงสาวดี มุ่งไปยังเมืองแปรที่เป็นพันธมิตร เพื่อขอทหารมาช่วยรบกับตองอู
หลังพระเจ้าตะกายุตพีทิ้งเมือง ชาวหงสาวดียอมจำนนต่อทัพตองอู ซึ่งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ก็รับสั่งให้กองทัพปฏิบัติกับชาวเมืองด้วยดี จากนั้นจึงทรงยกทัพไล่ตามอดีตกษัตริย์หงสา โดยบุเรงนองซึ่งคุมทัพหน้าสามารถทำลายทัพมอญได้ที่นองโย ทำให้พระเจ้าตะกายุตพีเหลือกำลังพลไปถึงแปรเพียงน้อยนิด
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกทัพตามพระเจ้าตะกายุตพีไปถึงแปร ทว่าเจ้าฮุ่งฟ้าแห่งอังวะยกทัพมาช่วยเมืองแปรที่เป็นพันธมิตร ทำให้ทัพตองอูต้องถอยกลับ
เมื่อตะกายุตพีเสียกองทัพไป แปรและอังวะจึงปฏิเสธที่จะช่วยพระองค์ชิงหงสาวดีคืน แต่พระองค์ก็ไม่ยอมแพ้ จึงพยายามสร้างกองทัพขึ้นใหม่ ทว่าพระเจ้าตะกายุตพีก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1539 จากนั้น ในเดือนเมษายน พระเจ้านรปติ กษัตริย์แปรก็สิ้นพระชนม์ เจ้าชายมังฆ้อง อนุชาของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทน
เมื่อตะกายุตพีสิ้นพระชนม์ หัวเมืองทางเหนือของมอญก็พากันสวามิภักดิ์ต่อตองอู
หลังพิชิตอาณาจักรมอญตอนบนได้ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงย้ายมาประทับที่กรุงหงสาวดีและใช้เป็นราชธานี โดยทรงเปลี่ยนมาใช้ธรรมเนียมมอญ นับแต่นั้น ผู้คนทั้งหลายก็เรียกพระองค์ว่า พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชเวตี้ และเรียกอาณาจักรของพระองค์ว่า หงสาวดี
ปลายปี ค.ศ.1540(พ.ศ.2083) พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกพลสองหมื่นไปตีเมาะตะมะ โดยมีบุเรงนอง ที่ยามนั้นได้เป็นพี่เขยของพระองค์ เป็นแม่ทัพใหญ่
อุปราชสอพินยา เจ้าเมืองเมาะตะมะเตรียมการป้องกันอย่างเข้มแข็งและจ้างทหารโปรตุเกสหลายร้อยเป็นกำลังเสริม ทำให้การโจมตีทางบกของทัพหงสาไม่ประสบความสำเร็จ บุเรงนองจึงเปลี่ยนกลยุทธ์โดยให้ตั้งค่ายล้อมเมืองและให้สมิงพยุ นายทหารมอญที่เชี่ยวชาญการรบทางน้ำที่มาสวามิภักดิ์ นำทัพเรือไปปิดล้อมปากน้ำของเมาะตะมะ
ทัพหงสาล้อมเมาะมะตะทั้งทางบกและทางน้ำนานถึง 7 เดือน จนในเมืองขาดอาหาร จากนั้นกองทหารโปรตุเกสในเมาะตะมะก็แปรพักตร์มาเข้ากับหงสา และเมื่อหมดทางรักษาเมืองไว้ได้ อุปราชสอพินยาก็ยอมจำนนในปี ค.ศ.1541(พ.ศ.2084)
เอกสารของเมนเดส ปินโต ชาวโปรตุเกส บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้พิโรธที่เมาะตะมะขัดขืน จึงมีบัญชาให้เอาอุปราชสอพินยาเสียบด้วยหอกแล้วทิ้งลงน้ำ ทั้งที่ยังไม่สิ้นใจและนำชายากับโอรสธิดาซึ่งยังเด็ก ไปแขวนห้อยหัวจนตาย ทั้งทรงมีบัญชาให้นำตัวบุตรสาวและภริยาขุนนางแม่ทัพนายกองของเมาะตะมะไปแขวนห้อยหัวจนตาย โดยกล่าวหาว่า สตรีเหล่านี้ยุยงให้บิดาและสามีของพวกนางสู้กับทัพหงสา จนทหารของพระองค์ล้มตายไปมาก จากนั้นพระองค์ได้สั่งให้ทหารฆ่าล้างเมืองเมาะตะมะทำให้ชาวเมืองล้มตายเกือบหมด(แม้ปินโตอาจกล่าวเกินจริง แต่หลักฐานของพม่า ก็ระบุว่ามีประหารอุปราชสอพินยาและสังหารหมู่ชาวเมาะตะมะจริงๆ)
เมื่อเมาะลำเลิงและหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ทราบสิ่งที่เกิดกับเมาะตะมะ ก็หวาดกลัวและยอมจำนนแต่โดยดี
5
หลังพิชิตมอญ ในปี ค.ศ.1542(พ.ศ.2085) พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทรงนำทหารสองหมื่นห้าพันไปตีเมืองแปร โดยระหว่างที่ทัพตองอูล้อมแปรไว้นั้น เจ้าฮุ่งฟ้า ผู้นำสมาพันธ์ฉานได้นำทหาร 16,000 นาย มาช่วยเมืองแปร ส่วนกษัตริย์มินบินแห่งยะข่ายก็ส่งทหาร 12,000 นาย มาช่วยด้วย
บุเรงนองได้นำทหาร 7,000 นาย ไปโจมตีทัพยะข่ายจนแตกพ่าย ส่วนทัพฉานของเจ้าฮุ่งฟ้าก็ไม่อาจตีฝ่าทัพตองอูเข้าไปช่วยเมืองแปรได้
1
ทัพตองอู-หงสา เข้าตีเมืองแปร
เมื่อพระเจ้ามังฆ้อง กษัตริย์แปรเห็นว่าไม่อาจต้านทานข้าศึกได้อีกต่อไป จึงยอมจำนนต่อทัพตองอู
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ให้นำพระเจ้ามังฆ้องและพระมเหสีพร้อมเหล่าเชื้อพระวงศ์ไปไว้ที่หงสาวดี จากนั้นจึงทรงให้ชินนิถะ หนึ่งในแม่ทัพอาวุโสของพระองค์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแปร
ความล้มเหลวในการปกป้องเมืองแปร ทำให้อำนาจของเจ้าฮุ่งฟ้าเสื่อมลงและถูกลอบสังหารในเวลาต่อมา จากนั้นเจ้าฟ้าเมืองสีป่อจึงขึ้นเป็นผู้นำสมาพันธ์ฉานและกษัตริย์แห่งอังวะ
ต่อมาใน ค.ศ.1543 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้นำทัพบุกพุกาม อาณาจักรโบราณของพม่าซึ่งเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของสมาพันธ์ฉาน
สงครามกับไทใหญ่ ดำเนินจนถึงปี ค.ศ.1545 ทัพหงสาก็ยึดพุกามได้ สมาพันธ์ฉานขอสงบศึกและถอนกำลังกลับอังวะ โดยสองฝ่ายทำข้อตกลงไม่รุกรานกัน
1
ใน ปี ค.ศ.1546 (พ.ศ. 2089) พระเจ้าตะเบงชเวตี้ได้ยกทัพไปตีอาราคานหรือยะข่าย หลังกองทัพของพระองค์บุกถึงกรุงมะรอคอู ราชธานียะข่าย ใน ค.ศ.1547(พ.ศ.2090) พระเจ้ามินบินก็ขอสงบศึกและส่งบรรณาการให้หงสาวดี
วัดโกตองพญา เมืองมะรอคอู รัฐยะข่าย
เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้รวบรวมเมืองในลุ่มน้ำอิระวดีได้แล้ว ก็ทรงปรารถนาจะขยายอาณาเขต โดยการเข้าตีอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้ ขณะเมื่อพระองค์ติดพันการศึกที่ยะข่าย อยุธยาได้ส่งทัพมายึดทวายที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดี แต่ถูกทัพหงสาที่นำโดยสมิงนครอินทร์ขับไล่ไปได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ ทำให้พระเจ้าตะเบงชเวตี้มองว่า อยุธยากระทำตนเป็นศัตรู ดังนั้นเมื่อเสร็จศึกกับยะข่ายและพระองค์ทรงทราบว่า อยุธยาพลัดแผ่นดินใหม่ เหตุการณ์ยังไม่เรียบร้อย จึงยกทัพมาโจมตี
1
ศึกนี้ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงเกณฑ์พล 80,000 คน (เอกสารโปรตุเกสว่า 800,000 คน ส่วนเอกสารไทยว่า 300,000 คน) ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ใน ค.ศ.1548(พ.ศ.๒๐๙๑) และพบการต้านทานอย่างหนักที่กาญจนบุรี โดยทัพหงสาต้องใช้เวลาถึงสามวันจึงตีเมืองได้ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ได้รับสั่งให้ประหารชาวเมืองทั้งหมดไม่ว่าเด็กหรือสตรี เป็นการลงโทษที่ต่อต้านทัพของพระองค์ จากนั้นทัพหงสาก็เข้ายึดสุพรรณบุรีได้โดยง่าย ก่อนเคลื่อนพลมากรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงของอาณาจักรอยุธยา
พระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์อยุธยาทรงให้ตั้งค่ายใหญ่สี่ค่ายเพื่อป้องกันเมืองหลวง จากนั้นได้เสด็จพร้อมพระสุริโยทัยซึ่งเป็นพระมเหสี ยกทัพหลวงสามหมื่นไปหยั่งเชิงข้าศึกที่ทุ่งมะขามหย่อง จนเกิดปะทะเข้ากับทัพหน้าหงสาวดีที่บัญชาการโดยเจ้าเมืองแปร ทำให้พระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์
การรบที่ทุ่งมะขามหย่อง
หลังปะทะกันที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพอยุธยาก็ไม่ได้ออกมารบกับหงสาวดีอีก แต่ใช้เรือบรรทุกปืนใหญ่ระดมยิงค่ายหงสาแทบทุกวัน สังหารไพร่พลมอญพม่าล้มตายไปมาก
1
ระหว่างนั้น พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทรงได้ข่าวว่า พระมหาธรรมราชา เจ้าผู้ครองพระพิษณุโลก ราชบุตรเขยของพระมหาจักรพรรดิ นำไพร่พลจากหัวเมืองฝ่ายเหนือสองหมื่นนายยกลงมาหมายตีกระหนาบทัพหงสาวดี ประกอบกับยามนั้นเสบียงอาหารของหงสาร่อยหรอลง ไพร่พลก็ป่วยเจ็บเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงจำต้องถอยทัพกลับ
เมื่อทราบว่า ทัพพม่ากำลังถอยกลับ พระมหาจักรพรรดิจึงทรงให้พระโอรสสองพระองค์ คือ พระราเมศวรและพระมหินทร์ นำทัพไล่ตามเพื่อประสานกับทัพของพระมหาธรรมราชาตีกระหนาบทัพพม่า ทว่าทัพอยุธยากลับต้องกลศึกของบุเรงนองจนแตกพ่าย ทำให้พระราเมศวร พระมหินทร์และพระมหาธรรมราชาถูกจับเป็นเชลย ฝ่ายอยุธยาได้ส่งทูตมาเจรจาขอทั้งสามพระองค์คืนแลกกับการส่งชัางศึกปีละ 30 เชือก กับเงินอีก 300 ชั่ง ให้หงสาวดี จากนั้นสองฝ่ายก็ทำไมตรีกัน แล้วต่างเลิกทัพกลับไป
2
ด้วยเหตุที่สงครามนี้ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ไม่อาจตีกรุงศรีอยุธยาได้ดังพระทัยหมาย ทำให้โทมนัสผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังเสด็จกลับจากอยุธยา พระองค์หมกหมุ่นแต่การเสวยน้ำจันท์และทรงเกรี้ยวกราด ลงโทษข้าราชบริพารโดยปราศจากความผิด อีกทั้งไม่ใส่ใจออกว่าราชการ จนทำให้ความภักดีในหมู่ข้าราชบริพารในหงสาวดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอญลดลง
1
ค.ศ.1550(พ.ศ.๒๐๙๓) สมิงทอราม อนุชาต่างมารดาของพระเจ้าตะกายุตพี ได้ก่อกบฏที่เมาะตะมะ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ให้บุเรงนองนำทัพไปปราบ ครั้นเมื่อบุเรงนองยกทัพออกจากหงสาวดีแล้ว สมิงสอตุด กรมวัง ได้วางแผนกบฏ โดยปล่อยข่าวว่ามีคนพบช้างเผือกในป่านอกกรุงหงสาวดี ทำให้พระเจ้าตะเบงชเวตี้สนพระทัยและเสด็จไปคล้องช้าง จากนั้น สมิงสอตุดก็ใช้โอกาสที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ประทับอยู่ในป่านำกองทหารมอญเข้าปลงพระชนม์พระองค์ด้วยดาบ
1
พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้เป็นหนึ่งใน นัต หรือภูตที่มีฤทธิ์มากและเป็นที่นับถือของชาวพม่า
หลังพระเจ้าตะเบงชเวตี้สิ้นพระชนม์ บรรดาเมืองขึ้น ต่างตั้งตนเป็นอิสระ ส่วนทางหงสาวดีนั้น สมิงสอตุดได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจ แต่ก็ขัดแย้งกับสมิงทอรามที่ยกทัพมาจากเมาะตะมะและถูกอีกฝ่ายหนึ่งสังหาร จากนั้นสมิงทอรามก็ขึ้นครองหงสาวดี ทว่าใน ค.ศ.1553(พ.ศ.๒๐๙๖) บุเรงนองซึ่งซ่องสุมกำลังที่ตองอู ก็ยกพลเข้าตีเมืองต่างๆที่แยกตัวเป็นอิสระได้ทั้งหมด ก่อนยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีและปลงพระชนม์สมิงทอราม หลังจากนั้นก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
35 บันทึก
103
33
35
35
103
33
35
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย