2 มี.ค. 2020 เวลา 13:31 • การศึกษา
“รื้อผนังห้องแถวที่ใช้ร่วมกันโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของห้องแถวข้างเคียง อาจต้องรับโทษถึงติดคุก!?”
อาคารพาณิชย์หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าตึกแถว หรือห้องแถวนั้น มักจะเป็นที่นิยมของคนที่ทำการค้าขาย หรือให้บริการต่าง ๆ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลใกล้ชุมชน หรือติดถนนซึ่งสัญจรไปมาสะดวก
1
แต่ห้องแถวก็มีข้อเสียอย่างที่ทุกคนรู้กันอยู่ คือ มีพื้นที่ไม่ค่อยกว้างขวาง เว้นแต่จะซื้อห้องข้างเคียงมาทุบฝาผนังออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
สำหรับคดีตัวอย่างในวันนี้จะเป็นเรื่องของการรื้อถอนฝาผนังในห้องแถวซึ่งมีพื้นที่ติดกัน แต่มีเจ้าของคนละคนกัน
ซึ่งโดยปกติแล้ว การจะเข้าไปรื้อฝาผนังห้องแถวซึ่งเป็นผนังที่ใช้ร่วมกันได้นั้น นอกจากจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าของห้องแถวข้างเคียงแล้ว ยังอาจจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเสียก่อนจึงดำเนินการรื้อถอนได้
เพราะการเข้าไปรื้อถอนหรือดัดแปลงโดยพลการ หรือโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึงเลยก็ได้
เรื่องมีอยู่ว่า สามี ภรรยาคู่หนึ่งได้ซื้อห้องแถวมือสองซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ไว้ห้องหนึ่ง เพื่อจะทำธุรกิจค้าขายเครื่องสำอาง
ซึ่งห้องแถวที่สามี ภรรยาคู่นี้ได้ซื้อเอาไว้นั้นเป็นห้องที่อยู่ตรงกลางของห้องแถวทั้งหลัง
โดยห้องที่อยู่ทางซ้ายและขวานั้น มีนายกำพลเป็นเจ้าของทั้ง 2 ห้อง แต่เนื่องจากนายกำพลต้องไปดูแลลูกที่เรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ จึงได้ปิดห้องแถวทั้ง 2 ห้องไว้และไม่มีผู้ใดพักอาศัย
สามี ภรรยาคู่นี้ ต้องการปรับปรุงซ่อมแซมห้องแถวของตน เพื่อขยายกิจการค้าขายเครื่องสำอาง จึงได้ว่าจ้างนาย ช. ให้ทำการซ่อมแซม
นาย ช. แจ้งว่าจะต้องทำการรื้อถอนผนังไม้ที่ติดห้องแถวของนายกำพลทั้ง 2 ด้าน และก่ออิฐฉาบปูนบนผนังทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะต้องเข้าไปในห้องแถวของนายกำพลเพื่อดำเนินการดังกล่าว
สามี ภรรยา จึงตกลงให้นาย ช. ดำเนินการรื้อถอนผนังไม้ทั้ง 2 ด้านออกและทำการก่ออิฐฉาบปูน โดยไม่ได้ขออนุญาตนายกำพล หรือแจ้งการรื้อถอนผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้ง 2 ด้านให้นายกำพลทราบก่อนแต่อย่างใด
ต่อมา นายกำพลรู้เรื่องเข้า จึงได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับสามี ภรรยาคู่นี้ ซึ่งเรื่องนี้ ศาลท่านจะตัดสินให้ทั้ง 2 คนมีความผิดในข้อหาใดบ้างนั้น เรามาดูกันเลยครับ
1)การกระทำของจำเลยทั้ง 2 (สามีภรรยา) เป็นการร่วมกันเข้าไปในห้องแถวทั้ง 2 หลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม (นายกำพล) เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน
หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย
และเมื่อจำเลยทั้ง 2 ร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364
2) นอกจากนี้ การที่จำเลยทั้ง 2 ว่าจ้างให้นาย ช. ปรับปรุงห้องแถวของตนด้วยการก่อสร้างเป็นผนังปูนแทนผนังร่วมไม้ทั้ง 2 ด้านโดยต้องรื้อถอนผนังอาคารไม้เดิมซึ่งเป็นผนังร่วมกับห้องแถวของโจทก์ร่วมทั้ง 2 หลัง
ย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้ง 2 ด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 811/2558)
งานนี้...นอกจากจำเลยทั้ง 2 คนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้ว ยังต้องถูกดำเนินคดีอาญาซึ่งมีโทษถึงจำคุกอีกด้วย (โชคยังดีที่โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี)
ดังนั้น การจะเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์
ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ดินซึ่งเป็นของผู้อื่น อย่างเช่นห้องแถวในคดีนี้ ก็ควรจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน
เพราะการเข้าไปโดยพลการหรือไม่มีเหตุอันสมควรนั้น อาจเป็นความผิดข้อหาบุกรุกได้
และยิ่งเข้าไปทำให้ทรัพย์สินของเขาเสียหายด้วยแล้ว ก็อาจจะเป็นความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์อีกด้วยครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา