6 มี.ค. 2020 เวลา 00:30 • ธุรกิจ
2020 ปีที่ต้องเตรียมแผนรับมือให้ดีและต้องระวัง(กว่าที่คิด)
ท่ามกลางข่าวมากมายที่มีการอัพเดทกันรายชั่วโมง บทความนี้จะมาสรุปปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของเศรษฐกิจประเทศไทย รวมไปถึงกับแนวทางคร่าวๆในการลงทุนในแต่ละ Asset Class
เริ่มจากผลกระทบทางตรงจากภาคธุรกิจกันก่อนเลย เฉพาะด้านการท่องเที่ยวนั้น ในปี2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างรายได้ให้ประเทศไทยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 140,000-160,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าสมมติให้รายได้ส่วนนี้หายไปราวๆครึ่งนึงก็จะพบว่าเม็ดเงินจะหายไปเลยทันทีกว่า 70,000-80,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งผลกระทบนั้นโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ ห้างร้าน SME หรือแม้แต่ลูกจ้างที่มีตั้งแต่ลดชั่วโมงการทำงานจนไปถึงการ Lay off
ต่อเนื่องไปถึงระบบ Supply Chain โลกที่ปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกันสูงมาก เพราะแต่ละประเทศแยกกันไปผลิตสินค้าที่ตัวเองถนัดหรือมีความสามารถเรื่องต้นทุนที่ดี พอประเทศจีนมีปัญหาทำให้กระทบทั้งห่วงโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งมีการคาดการว่าภัยแล้งในไทยปีนี้อาจจะรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี แน่นอนว่าภาคการเกษตรก็คงไม่ดีนัก
เมื่อรวมปัญหาข้างต้นก็จะเห็นว่าทั้งการท่องเที่ยวและส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในหลายปีที่ผ่านมาน่าจะปัญหาแน่ๆ ลามไปถึงการบริโภคภายในที่จะมีปัญหาตามมา ถึงแม้คนบางกลุ่มอาจไม่ได้รับผลกระทบแต่เมื่อขาดความเชื่อมั่นก็จะชะลอการจับจ่ายไปอีก
ซึ่งถ้าประเมินแบบกลางๆว่าโควิดจะกระทบต่อภาคธุรกิจประมาณ5เดือน(อ้างอิงจาก Sar 2003) ภาคธุรกิจก็คงเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 แต่การฟื้นตัวจะเป็นแบบ V-Shaped หรือ U-Shaped นั้นก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ ซึ่งจากข่าวที่เพิ่งออกมาวันที่ 5 มีนาคมนี้ที่คลังจะแจกเงินคนละ 1,000-2,000 บาท ปล่อยกู้ Soft Loan และอาจจะดึง LTF กลับมาชั่วคราวเพื่อช่วยตลาดทุนนั้น ดูแล้วยังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ต่อเนื่องนัก ก็ได้แต่หวังว่ามาตรการชุดต่อๆไปจะเป็นการแก้ที่ดีกว่านี้
ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นมันก็เป็นเพียงปัญหาระยะสั้น เมื่อผ่านปีนี้ไปมันก็คงจะดีขึ้น ที่แน่ๆผู้ประกอบการใดที่ผ่านปีนี้ไปได้คงจะค้าขายดีขึ้นบ้างเพราะปีหน้าคู่แข่งจะน้อยลง....
แต่ถ้าถอยมาก้าวนึงแล้วมองในเชิงโครงสร้างต่างๆแล้วปัญหาระยะสั้นที่ว่าหนักหนา ปัญหาระยะยาวอาจจะยังน่าเป็นห่วงกว่า ที่พอจะนึกออก ได้แก่
1.ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยปัจจุบันไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุระดับ 1 คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10
แต่คาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20
ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
2.หนี้ครัวเรือน
ตัวเลขล่าสุดจากหอการค้าไทยในปี 2562 นั้นคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 ล้านบาท ต่อ 1 ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 60% และหนี้นอกระบบ 40% รวมกันแล้วต้องผ่อนชำระกว่า 22,000 บาทต่อเดือน
ซึ่งที่ผ่านมาถ้าใครตามข่าวทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตระหนักและพยายามจะแก้เรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่รู้จะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากคนส่วนใหญ่ยังไม่มีวินัยทางการเงิน
3.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
ปัจจุบันมีคิดเป็นราว 5.8% ของ GDP แต่คิดเป็นถึง 10% ของตัวเลขการส่งออก
โดยหากนับรวมยอดการผลิตรถยนต์นั้นไทยอยู่ในประมาณลำดับที่ 11 ของโลกถือว่าค่อนข้างมาก (ทั้งขายในประเทศและส่งออก)
แต่แทบทั้งหมดเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งการมาถึงของรถ EV นั้นอาจจะทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต้องหายไปจำนวนมาก ซึ่งคงมีเพียงผู้ประกอบการบางส่วนที่ปรับตัวทัน สองเดือนที่ผ่านมาสื่อเยอรมัน Handelsblatt ลงบทความอ้างแหล่งข่าวจากที่ปรึกษารัฐบาล ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้งานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีหายไปถึง 410,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 แต่ซึ่ง หากลองปรับตัวเลขกันเล่นๆตามสัดส่วนจำนวนรถที่เยอรมันผลิตมากกว่าไทยราวๆ 2.3 เท่าก็จะได้ตัวเลขประมาณ 180,000 ตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นกับไทย เทียบกับแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันมากกว่า 700,000 ตำแหน่งก็ดูน่าจะเป็นไปได้ แต่หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันตัวเลขก็มีโอกาสที่จะสูงกว่านี้ได้ไม่ยาก
4.ความแตกต่างทางความคิด และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เราเริ่มเห็นความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กับคนสูงอายุ โดยคนรุ่นใหม่นั้นมีแนวโน้มต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้นในขณะที่คนรุ่นเก่ายังเคยชินและไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงมากนักยังมองความมั่นคงเป็นหลัก
เมื่อรวมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆก็น่าเป็นห่วงว่าวันใดวันนึงจะปะทุรุนแรงขึ้นมาหรือไม่
กลับมาเรื่องการลงทุนเมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราทำอะไรได้บ้าง
ก็คงต้องบอกว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงครั้งใหญ่ ถ้ามองขาดและกระจายความเสี่ยงดีพอน่าจะเป็นโอกาสซื้อของดีในราคาถูกถ้ามองผิดก็อาจจะได้ของปลอมราคาถูกกลับบ้านแทน
1. หุ้นไทย
ถึงแม้ SET INDEX จะลงจากต้นปีที่ราวๆ 1600 มา 1400 จุดเป็นวิกฤตย่อมๆแต่ส่วนตัวยังมองว่าราคาแค่กลางๆไม่ได้ถูกอะไรเท่าไหร่
แต่ถ้ามองลึกไปถึงรายตัวก็เริ่มมีของดีราคาถูกบ้างแล้ว ค่อนข้างชอบวลีของ ดร.นิเวศน์ ที่กล่าวว่า "ให้มองหาหุ้นผิดราคา" ซึ่งเอาเข้าจริงหุ้นประเภทนี้มีอยู่ในทุกภาวะตลาดเพียงแต่ในภาวะตลาดรวมที่ไม่ดีจะยิ่งเห็นได้ง่ายขึ้น แต่ด้วยภาวะเช่นนี้เราคงต้องเน้นมากขึ้น แค่ถูกอย่างเดียวยังค่อนข้างอันตราย คงต้องเป็นทั้งถูก สามารถผ่านวิกฤตได้ และกำไรต้องหดแค่ชั่วคราว เพราะเอาเข้าจริงหุ้นที่จะเติบโตอย่างชัดเจนในSETนั้นก็หาค่อนข้างยาก การเล่นหุ้นธีมแข็งแกร่ง กำไรมั่นคง หนี้ไม่เยอะ มีกระแสเงินสดมาปันผลก็ค่อนข้างน่าสนใจ โดยเฉพาะ Sector ที่คนไม่ค่อยสนใจ รวมทั้งเน้นหุ้นใน SET100 เป็นหลักเพื่อแลกกับสภาพคล่องที่ดี เปลี่ยนใจหรือคิดผิดยังมีทางออกให้
และอย่าคิดไปเองว่าคนอื่นกำลังกลัวเราต้องกล้าสิ พอไปดูตัวเลขการซื้อขายก็ค่อนข้างน่าตกใจที่คนขายหลักคือต่างชาติ แต่รายย่อยแย่งกันซื้อเกือบตลอดทางการลงมารอบนี้
2. หุ้นต่างประเทศ
สมัยก่อนปลาเล็กว่ายไวกว่าปลาใหญ่ แต่สมัยนี้ปลาใหญ่ว่ายไวและแกร่งมากจนปลาเล็กไม่ได้คล่องตัวกว่าเสมอไปอีกแล้ว
มองไปฝั่งหุ้นอเมริกาอย่าง S&P500 PE ยังค่อนข้างแพงแต่หลายๆตัวก็เติบโตได้ดีตาม PE ทีเดียว ซึ่งหากปีนี้ตลาดลดราคาลงไปอีกความน่าสนใจก็จะคงมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีรายตัวที่มีโอกาสเติบโตอีกมากในราคาที่สมเหตุสมผลก็น่าทยอยสะสม หรืออย่างฝั่งหุ้นตลาดฮ่องกง HSI INDEX PE ถูกกว่าตลาดไทยเสียอีกและก็มีหุ้นหลายตัวที่น่าจับตา
ถ้ามองไปถึงการลงทุนระยะยาวหลายปีหรือหลักสิบปีดูแล้วตลาดอเมริกาค่อนข้างจะสดใสกว่า SET INDEX พอสมควร
3. อสังหาริมทรัพย์
ถ้าคนที่กำลังจะซื้อแล้วยังไม่ได้ซื้อ คงเป็นปีที่หาซื้อได้ในราคาสมเหตุสมผลขึ้น หลายๆDeveloper เริ่มลดแลกแจกแถมกันแล้ว ยอมหั่น Margin เพื่อดึงเงินสดเข้ามือก่อน ทั้งนำไปลดดอกเบี้ยเงินกู้หรือสำรองไว้ซื้อที่ดินราคาถูก รวมทั้งได้ลดพอร์ตสต็อคลดความเสี่ยง
แต่มองในแง่มูลค่าระยะยาวแล้วอาจจะต้องตั้งหลักกันใหม่เรื่องที่ได้ยินหรือโดนปลูกฝังกันมาตลอดว่าราคามีแต่ขึ้น ไม่ซื้อตอนนี้จะยิ่งแพง ผ่อนๆไปไม่นานก็เป็นของเรา หันกลับมาดูความเป็นจริงที่ปัจจุบันประชากรเราเพิ่มในอัตราต่ำมาก อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำเช่นกัน ทำให้ต้นทุนในการสร้างบ้านเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเวลาผ่านไป เผลอๆอาจจะลดลงเสียด้วยซ้ำหากเทคโนโลยีบางอย่างดีขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปอสังหาก็คงเหมือนหุ้นรายตัว ในแง่ที่หากทำเลที่ดีจริง มีจำนวนจำกัดในบริเวณนั้น Demand สูงมันก็ยังคงขยับขึ้นได้ แต่กลับกันทำเลทั่วๆไปหรือรองๆลงมา ราคาอาจจะขึ้นยากหรืออาจจะขยับลงด้วยซ้ำไป
4. ทองคำ
ค่อนข้างจะคาดเดาราคาลำบาก รวมทั้ง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ขึ้นมาเยอะ หากมีไว้เพื่อ Hedge หรือลดความผันผวนของพอร์ตบ้างก็น่าสนใจ แต่หากจะซื้อจำนวนมากเพื่อเก็งกำไรก็ดูเสี่ยงไม่น้อย เพราะทุกๆคนก็คิดคล้ายๆกันว่าเมื่อมีปัญหาก็หันไปมองทองคำ
5. Bitcoin&Crypto
ช่วงที่ผ่านมาถือว่าพอไปได้ แต่หากปีนี้เกิด Crisis ขึ้นมาจริงๆก็น่าคิดว่าราคามันจะไปทางไหน เพราะตัวมันเองก็ยังไม่เคยผ่าน Crisis ถ้าปีนี้เกิดจริงก็คงจะเป็นครั้งแรกของมันเหมือนกัน
6. Cash
คงจะเป็นพระเอกของปีนี้ และ เป็นรางวัลให้แก่คนที่เก็บออมหรือสำรองไว้บ้างไม่ลงทุนจนเต็ม 100%
หากมีจังหวะที่ดีก็น่าจะทยอยเอาออกไปลงทุน
ภาพรวมก็คงเป็นประมาณนี้ ถ้าจะให้สรุปสั้นๆก็คือคงเป็นปีที่ต้องมองความเสี่ยงก่อนเลยว่าถ้าพลาดจะเสียเหายเท่าไหร่
เก็บออมสำรอง Cash แต่เมื่อไหร่ถ้ามองแล้วว่าคุ้มค่าก็ต้องทยอยๆกล้าลงทุน และกระจายให้ดีพอที่รับ Worst Case Scenario ไหว
- Admin B
ติดตามเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/alphabetsreview/
โฆษณา