7 มี.ค. 2020 เวลา 07:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
SARS-CoV-2 เกิดการกลายพันธุ์?
ข่าวในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของโรคไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19
เชื่อว่าหลายท่านคงทราบกันดีถึงการแพร่กระจายที่รวดเร็วของ Covid-19 ซึ่งอุบัติขึ้นในช่วงปลายธันวาคมปี 2019 ณ เมืองอู่ฮั่น จากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยในขณะนี้ (วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2563) มีการรายงานการพบผู้ป่วยเป็นจำนวน 78,959 เคสในจีน เสียชีวิต 2,791 คน และอีก 3,664 เคส ใน 46 ประเทศ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ทำการศึกษาตัวอย่าง 103 ยีนจากไวรัส SARS-CoV-2 โดยได้ค้นพบการเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยในขณะนี้เชื้อไวรัสดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ S และ L type
จากการศึกษาลำดับยีนจากตัวอย่าง 103 ตัวอย่างพบว่า SARS-CoV-2 เกิดการกลายพันธุ์ของลำดับเบส1ตำแหน่ง (SNPs) โดยบางส่วนของการกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้เกิดการสังเคราะห์กรดอะมิโนที่แตกต่างกัน โดย L type นั้นมีวิวัฒนาการมาจาก S type ซึ่งมีลักษณะคล้ายโคโรน่าไวรัสในค้างคาว โดยตัว L type พบมากถึง 70% ของผู้ป่วยในช่วงแรกของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในอู่ฮั่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าการกลายพันธุ์เกิดขึ้นจากมนุษย์หรือจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ซึ่ง จากการทดลองพบว่า L type อาจมีความรุนแรงมากกว่า S type !?!
แล้วเรื่องนี้สำคัญยังไง?
งานวิจัยนี้ได้สร้างสมมุติฐานใหม่ว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อาจเกิดการกลายพันธุ์อีกรอบและอาจมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยดังกล่าวยังค่อนข้างจำกัดและยังต้องการงานวิจัยอื่นๆ มารองรับต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ มีผลอย่างไรต่อการแพร่กระจายและการก่อโรคของไวรัส
โฆษณา