9 มี.ค. 2020 เวลา 04:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ
ถอดรหัสพันธุกรรมหมึกยักษ์ Giant squid สูงเท่าตึก 4ชั้น
ไดโนสคูล
“สำเร็จแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ” สำหรับการถอดรหัสจีโนมพันธุกรรมของหมึกยักษ์หรือ Giant squid
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Architeuthis dux
อยู่ในจำพวก (Class) cephalopods
เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีหนวด 10 เส้น
เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงล่าสุดจากคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen)
หลายท่านที่ชอบฟังเรื่องประวัติศาสตร์
คงเคยได้ยินนิยายปรัมปราเรื่องประหลาดๆเกี่ยวกับหมึกยักษ์
ซึ่งเขาว่าเล่ากันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1851
ว่าด้วย เรือของชาวประมง ที่ล่องไปในทะเลน้ำลึก
แล้วก็มีหนวดหมึกโผล่ขึ้นมาจากน้ำ
โอบพันรอบเรือ แล้วดึงลงไปจมลงไปสู่ก้นทะเล
และที่นั่น..ชาวประมงก็ได้พบกับหมึกยักษ์ตัวใหญ่
ความสูงประมาณ 13 เมตร (เทียบเท่ากับตึก4 ชั้นค่ะ)
นี่อาจเป็นนิทานปรัมปราที่หาข้อพิสูจน์ได้ยากเช่นเดียว
หากไม่เพราะมีการประกาศใน 160 ปีต่อมา
ว่าจะถอดถอดรหัสพันธุกรรมของหมึกยักษ์เจ้าตัวโตนี้
หลายคนก็คงไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ!
หมึกยักษ์ตัวหนึ่ง น้ำหนักประมาณเกือบ 1 ตัน (900 กิโลกรัมโดยประมาณค่ะ)
ปกติแล้วในทะเลน้ำลึก เรามักจะเคยเห็นแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
บางอย่างก็ไม่มีตา เพราะว่าน้ำลึกไม่จำเป็นจะต้องมองเห็นอย่างชัดเจน
แต่หมึกยักษ์ เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่มหึมา
มีพฤติกรรมที่ซับซ้อน มีวิธีการคิดเอาตัวรอด
ทำให้มันมีอายุยาวนานได้ถึงปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจถอดรหัสจีโนมหมึกยักษ์
เพื่อเผยความลับอันสลับซับซ้อนที่ซ่อนอยู่
ว่าเหตุใดมันจึงสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์จะมาถึงปัจจุบันได้
โดยไม่สูญพันธุ์อย่างสัตว์มีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ อย่างไดโนเสาร์
หรือนกยักษ์และสัตว์บกอีกหลายชนิด ที่ได้ลาโลกไปก่อนหน้านี้นานแล้ว
และผลลัพธ์ที่ได้ยังต่อยอดความรู้เพื่อยังประโยชน์แก่มนุษย์ พืชและสัตว์ได้อีกอย่างแน่นอน
เมื่อกล่าวถึงเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรม (Genomic sequencing)
รหัสพันธุกรรมของคน หรือ สายพันธุ์ homo sapiens เริ่มมีการถอดรหัสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ค่ะ
ซึ่งก่อนหน้านั้นเขามีไอเดียมาล่วงหน้าประมาณ 6 ปีแล้ว (ค.ศ.1984)
กระทั่งถึงปี ค.ศ. 2003 ก็ได้ประกาศว่า
Human genome Project ประสบความสำเร็จแล้ว
จากจุดนั้น เท่ากับเปลี่ยน “ยุคสมัย” ในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์
ทำให้เราได้พบกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเข้าใจร่างกาย พยาธิสภาพ การป้องกัน การบำบัดโรคด้วยสารธรรมชาติและสารสังเคราะห์ทางการแพทย์มากมาย
จำนวนคู่เบสหรือ DNA base pair ของพันธุกรรมของคนจะมีจำนวน3.2 พันล้านคู่
อยากให้คุณลองทายว่าของหมึกยักษ์ที่วิเคราะห์สำเร็จได้กี่คู่คะ
3
2
1
ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีโนมมนุษย์ค่ะ
คือ 2.7 พันล้าน Base pair!!
ยิ่งการค้นพบรหัสพันธุกรรมที่ซับซ้อนอย่างยิ่งยวดนี้ถูกเปิดเผยมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งเท่ากับเรากำลังได้พบความลับ ที่นำเราก้าวไปสู่อีกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อีกระดับหนึ่ง
หมึกยักษ์ ถึงแม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขนาดใหญ่ ไม่น่ามีใครทำอันตรายได้
แต่คุณรู้ไหมคะ ว่ามันก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ตัวเล็กๆ (อีกเช่นเคย)
นั่นก็คือปัญหา Global warming และการสะสมของสารพิษในทะเลและมหาสมุทร
เพราะมีการพบว่าในเนื้อของหมึกยักษ์มีสารปรอทที่เป็นอันตรายสะสมอยู่ด้วย
อย่างผลกระทบที่ขั้วโลกเหนือ
นกได้เคยเสนอเรื่องของหมีขั้วโลก (Polar bear) ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
ในพฤติกรรม “กินเนื้อพวกเดียวกันเอง” หรือ Cannibalism
เนื่องจากภาวะ Climate change ทำให้ขาดแหล่งอาหาร
ในประเด็นนี้ นกขอเสริมเรื่องการบริโภคอาหารเสริมที่มีวัตถุดิบจากสัตว์ทะเล
โดยเฉพาะที่อยู่ในวงจรชั้นบนของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพวกมันจะกินปลาปูกุ้งหอยตัวน้อย ๆ เป็นอาหาร
เมื่อเราไปบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำกลุ่มนี้เป็นประจำ
เช่น ในรูปแบบน้ำมันสกัด เนื้อปลา แคลเซียม ฯลฯ
โดยไม่พิจารณาเลือกบริษัทให้รอบคอบ ว่ามีการันตีผ่านการทดสอบโลหะหนัก
ก็เท่ากับความเสี่ยงได้รับสารปรอทเข้ามาสะสมในตัว และอาจมีผลร้ายในระยะยาวได้
ขอท้าวความอีกนิดไปถึงในอดีต
เราเคยได้ยินพิษของการสะสมของสารปรอท
ทำให้เป็นโรคมินามาตะ (Minamata) ในชาวญี่ปุ่น
จากการได้รับสารปรอทจากโรงงานปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนปรอทลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
ซึ่งเกิดเหตุการณ์พิษจากปรอทมาก เป็น 2 ใน 4 ของ Big Four Pollutionในญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ. 1956-1965
เห็นผลชัดเจนในเด็กญี่ปุ่น ทำให้มีการเสียความสามารถในการดูแลตัวเองไปแบบถาวร
เพราะปรอทมีผลทำลายระบบสมอง ทำให้ไม่สามารถพูด-ฟังได้ปกติ
แขนขามีอาการบิดงอกระตุก
เวลาผ่านมา
กระทั่งเด็กในวันนั้น กลายเป็นผู้ใหญ่สูงวัยในวันนี้
ก็กลายเป็นคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้อยู่เช่นเดิน
(แต่โชคดีที่บางท่านก็ยังอยู่อย่างมีความสุขกับครอบครัวที่พร้อมดูแลได้)
ชมภาพและรายละเอียด เรื่องพิษปรอท..โรคมินามาตะ ที่นกเคยเล่าไว้ในตอน “ปรอทอุดฟันอันตรายหรือไม่?” ได้ค่ะ 👇
รหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ว่าดูซับซ้อนแล้ว
แต่มันก็ยังถูกค้นพบ และนำมาไล่เรียงลำดับDNA sequenceได้
.
.
ทำให้นกคิดถึงสิ่งหนึ่ง
ที่เราไม่สามารถไล่เรียงลำดับหรือเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์
ก็คือ “ความคิด” ของมนุษย์ค่ะ
ความคิดของคนเราเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุด
การเรียนรู้เรื่องของความคิดความจำต่างๆ หรือ Cognitive Sciencesเป็นเรื่องที่ไม่สิ้นสุดจริงๆค่ะ
แล้วก็ทำให้นกนึกถึง “กลอนติดใจ” จากวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่
เรื่องของพระอภัยมณีค่ะ
ท่านสุนทรภู่ มีชีวิตอยู่จริงในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-4 ของกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นบุคคล “สี่แผ่นดิน” อีกท่านหนึ่ง
วรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี ท่านแต่งไว้ ช่วงปี พ.ศ. 2364 - 2366
ซึ่งตรงกับรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ภายหลังจากที่สุนทรภู่ได้ผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดในชีวิตมา ประสบเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์
“กำเนิดสุดสาคร” เป็นตอนหนึ่งของเรื่องนี้ ที่ถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอน จัดเป็นวรรณกรรมเยาวชนด้วยค่ะ
กลอนบทที่นกกำลัง “อ่านทำนองเสนาะ” ให้ฟัง (ทาง Podcast)
เชื่อว่าท่านผู้อ่าน(และผู้ฟัง)เคยได้ยินและอาจท่องได้ด้วย
กลอนตอนนี้ กล่าวถึง สุดสาคร ซึ่งเป็นลูกของพระอภัยมณีที่เกิดกับนางเงือก
(พระอภัยมณีเป็นคน มีภรรยาเป็นนางเงือก และนางยักษ์ ภรรยาต่างคนก็ต่างมีลูก)
สุดสาคร มีของวิเศษคู่กาย คือ ม้านิลมังกรและไม้เท้าวิเศษ
ครั้งที่ออกไปตามหาพระอภัยมณี บังเอิญเคราะห์ร้าย พบกับชีเปลือย
ซึ่งมีใจละโมบปรารถนาของวิเศษของเด็กน้อย
จึงหลอกล่อด้วยวาจาให้ตามไป แล้วผลักสุดสาครตกลงไปในเหว
จากนั้น ผู้ที่มาช่วยจากสถานการณ์สุดคับขัน ก็คือ พระโยคี
เมื่อพ้นวิกฤตแล้ว ท่านก็สอนสุดสาคร ว่า...
“..แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี..”
ท่านผู้อ่านที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาบ้าง
คงซาบซึ้งถึงสิ่งที่ท่านสุนทรภู่สอดแทรกในกลอนแปดบทนี้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าหลังจากนั้น เรื่องราวเป็นอย่างไรหลังจากสุดสาครได้รับความช่วยเหลือจากพระโยคี
.
.
คำตอบคือ..
สุดสาครก็ได้เดินทางต่อ เพื่อไปตาม 'ของสำคัญ' คืนจากชีเปลือย
โดยไปที่เมืองการะเวก
ซึ่งท่านเจ้าเมือง คือ ท้าวสุริโยทัย ก็โปรดปรานในความเฉลียวฉลาดน่าเอ็นดูของสุดสาครมาก
จึงรับไว้เป็นลูกบุญธรรม และมีลูกสาว ชื่อ เสาวคนธ์ เป็นเพื่อนเล่นด้วยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับบทความตอนนี้
ยังคงเป็นเรื่องเล่าที่เริ่มต้นจากวิทยาศาสตร์
และลงท้ายด้วยเรื่องเล่าให้ข้อคิดเช่นเดิมนะคะ
นกไดโนสคูล
โฆษณา