10 มี.ค. 2020 เวลา 00:09 • ปรัชญา
ยันต์สร้างสังคม..อุดมสุข
วันก่อนพูดถึงสังคมได้เริ่มเปลี่ยนไป ด้วยการมีพฤติกรรมที่ บั่นทอนสภาพแวดล้อมทำให้ระบบนิเวศน์การเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ
คนกลายเป็นอวตาร..ร่างทรงที่เคลื่อนไหวเพื่อการแสวงหาประโยชน์และความได้เปรียบในสังคม
ยิ่งนานวันยิ่งสร้างความสับสน ลดความสุขในชีวิตของผู้คน เพราะต่างรักและสนใจเพิ่มทักษะ
"ช่วงชิง.. ชิงชัง..ชอบสิ่งลวง..แชร์สิ่งร้าย..ชี้นิ้วใส่กัน..เชื่ออย่างหลับหูหลับตา"
แล้วเราจะทำให้ดีขึ้นกันได้อย่างไรบ้าง
ผมเชื่อว่าเป็นไปได้...
เพราะการปรับสภาพสังคมที่"อุดมด้วยปัญหา" ให้กลายเป็น"สังคมอุดมสุข"ได้นั้นคือการ..เริ่มต้นที่ตนเองก่อน
เมื่อปรับจากใกล้ตัว ออกไปสู่ไกลได้ทีละน้อย
จากตนเอง..สู่ครอบครัว..จากหน่วยงาน..สู่สังคม..แล้วภาพโดยรวมก็ย่อมจะออกมาดี
อย่าถามหาการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน หากไม่คิดที่จะเริ่มที่ตนเอง
มีคำตอบแนวทางที่เป็นต้นแบบ ให้ตระหนัก อย่างชัดเจน คือการสร้างระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม"ที่พอเพียง "เท่านั้น..
มีองค์ความรู้มากให้ยึดถือใช้ประยุกต์นำทาง..เพียงแค่เดินตามเท่านั้น คนเราจะสามารถนำพาไปสู่การมีระบบนิเวศน์ทางสังคมใหม่ได้
เริ่มที่จุดไหน ลองไปหาอ่านและถอดรหัสความคิดไปสู่ปัญญาปฎิบัติของแต่ละคนได้ จากบทความหนึ่งของท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักท่านกันดี
หัวข้อ"ตำบลคือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ"...ตั้งแต่ มิถุนายน2560
ท่านชี้บ่งถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือระดับย่อย หรืออาจเรียกว่าในระดับอนุภาคเล็กๆ ที่ตำบล เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
ผมอ่านแล้ว รู้สึกหูตาสว่าง มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เป็นความหวังของการสร้าง"สังคมให้มีความอุดมสุข"ได้
ยิ่งหากได้ผู้นำและผู้คนที่ พร้อมจะพลิกเปลี่ยน นำไปเป็นแผนที่นำทาง..ตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ เสริมสร้างปัจจัยต่างๆที่ท่านอาจารย์ได้พูดถึง ย่อมสำเร็จแม้จะไม่สมบูรณ์แบบไปทั้งหมดก็ตาม
จากการได้อ่าน จึงขอนำมาสรุปเขียนเป็น..ความเชื่อมโยงในแผ่นเดียว บางคนอาจเรียกว่าเป็นคัมภีร์ บางคนอาจเรียกว่าเป็นยันต์ ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าตัวแบบนี้คือ"ลายแทงไปสู่การสร้างสังคมอุดมสุข"..ให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้
ขอเพียงมีคนที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงศึกษาและทุ่มเท ย่อมค้นพบความลึกซึ้ง ในความคิดของท่านอาจารย์ ได้วางกรอบแนวทางการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าได้
โดยเริ่มจากจุดเล็กๆใกล้ตัวที่เป็นอนุภาคของสังคมส่วนย่อยๆให้เป็นจริงได้ก่อน เพราะฐานคืออนุภาคเล็กๆ ที่เป็นจุดเชื่อมโยงคน
ในแผนภาพเชื่อมโยงบูรณาการที่สรุป..สิ่งที่ท่านอาจารย์เน้นนั้น ในประเด็นหลักๆคือ
(1)ต้องสร้างให้เกิดระบบของความเชื่อมโยง
ใน 8แกนหลักที่สำคัญ...ให้เกิดดุลยภาพ คือจุดทั้งแปดทิศ
(2)การสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงที่เป็นระบบนั้น คือ"การเน้นสร้าง..เครื่องมือ..กลไกและผลลัพธ์"ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ
ให้เกิดขึ้นที่ฐานชุมชน ที่ตำบล ซึ่งเป็นอนุภาคที่สำคัญของสังคม มีทั้งสิ้น17ประการ
(3)สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัย"การเรียนรู้ร่วมกันในทางปฏิบัติ"
ด้วยความเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนเรา เป็นกระบวนการเปลี่ยนความยากไปสู่ความสำเร็จ
สร้างเสริมสภาวะภราดรภาพแห่งความไว้วางใจ เพื่อให้เกิด"ปัญญาปฏิบัติร่วม"
จึงจะเกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ มีความน่าอยู่ยิ่งขึ้น
เมื่อส่วนย่อยเข้มแข็งคือตนเอง..ครอบครัว และชุมชน ย่อมเป็นภูมิคุ้มกัน ทุกสิ่งได้..
ผมชอบคำว่า"ศีลธรรม..ไม่ใช่วิชา แต่คือวิถีชีวิต"
ท่านนิยามความหมายของศีลธรรมที่กว้างแต่ชัดเจน ว่าคือ"การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ"
เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม และที่ฐานล่างของสังคมคือ"ที่อยู่ของศีลธรรม"
สังคมที่เน้นเรื่องอำนาจ เงิน และมายาคติ..ไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัย..ของศีลธรรม
ดังนั้นพึงตระหนักความจริงที่แยกแยะคนคือ
"คนที่มองถึงประโยชน์สุขของสังคมที่แท้นั้น ชุดของความคิด คำพูดและการกระทำ ของเขาจะหลุดไปจากกรอบที่มุ่งตนเอง ไปสู่การคำนึงถึงผู้อื่น"
เมื่อใดก็เมื่อนั้น...วันที่มาถึงคือวันที่เกิดการถักทอ"สังคมอุดมสุข...ด้วยผู้คนอุดมด้วยปัญญา"
ทั้งหมดคือ"..การสร้างคน สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาส และสร้างสังคม "ที่มีดุลยภาพอย่างยั่งยืน "LL&L 10/3/63
อ้างอิง
29 มิ.ย. 2560 · ตำบลคือจุดยุทธศาสตร์ของการ พัฒนาประเทศไทย เขียนโดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี.
โฆษณา