11 มี.ค. 2020 เวลา 04:24 • ประวัติศาสตร์
9 เหตุผลทำไมอเมริกาถึงแพ้สงครามเวียดนาม
.
ทำไมในปี 1975 สหรัฐอเมริกา ประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งมีกองทัพและยุทโธปกรณ์ระดับแถวหน้าของโลก จึงพ่ายแพ้ต่อเวียดนามเหนือ ประเทศโลกที่สามและมีแสนยานุภาพล้าหลังสหรัฐอเมริกามาก เราลองมาวิเคราะห์กันผ่าน 9 สาเหตุที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ พ่ายแพ้และต้องถอนทัพออกจากเวียดนามในที่สุด
.
.
1. สหรัฐกลัวสงครามบานปลาย
.
ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดของ 'สงครามเย็น' สหรัฐไม่สามารถรบแบบเต็มอัตราศึกและบุกข้ามเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือไปจนถึงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามเหนือได้ เพราะกลัวจีนและสหภาพโซเวียตผันตัวจากผู้สนับสนุนมาเป็นผู้ร่วมรบด้วยตัวเอง อาจทำให้สงครามบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งใหม่
.
สหรัฐจึงทำได้เพียงทิ้งระเบิดพื้นที่ต้องสงสัย ตัดกำลังสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม และปกป้องที่มั่นในเวียดนามใต้ ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถดำเนินยุทธวิธีได้อย่างอิสระและเป็นฝ่ายได้เปรียบหลายครั้ง
.
.
6
2. ทฤษฎีโดมิโนครอบงำความคิดสหรัฐ
.
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่่ออย่างแรงกล้าว่าหากประเทศใดกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศข้างเคียงจะพลอยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย เหมือนโดมิโนที่ล้มทับตัวต่อไปเป็นลูกโซ่ สหรัฐเชื่อว่าตนคือผู้นำโลกเสรีและทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเวียดนามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ตาม 'ทฤษฎีโดมิโน' โดยไม่สนใจว่าจะสูญเสียเท่าใดหรือจะสร้างความโกลาหลขนาดไหน
.
อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามสิ้นสุด เวียดนามรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ มีเพียงลาวเท่านั้นที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่ไทยและกัมพูชาไม่ได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย
.
.
3. โทรทัศน์กลายเป็นดาบสองคม
.
ในปี 1950 ชาวอเมริกันมีโทรทัศน์เพียง 9% แต่ในปี 1966 ชาวอเมริกันมีโทรทัศน์ถึง 93% โทรทัศน์กลายเป็นเครื่องใช้สามัญประจำบ้านและเป็นช่องทางสำคัญสำหรับติดตามข่าวสาร ขณะเดียวกันสำนักข่าวสหรัฐพยายามเผยแพร่เหตุการณ์ที่แนวหน้าเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าเพื่อนร่วมชาติของตนเป็นอย่างไรบ้าง
.
ผลคือนอกจากชาวอเมริกันจะทราบความคืบหน้าของสงครามอย่างใกล้ชิด พวกเขายังเห็นภาพความโหดร้าย ความสยดสยอง และการทำลายล้างจากสงครามที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ประหนึ่งสงครามอยู่ตรงหน้าพวกเขา ทำให้ชาวอเมริกันเรียกร้องให้สหรัฐยุติสงครามและถอนทัพจากเวียดนาม
.
.
1
4. ประชาชนสหรัฐประท้วงยุติสงคราม
.
แรกเริ่มชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม แต่ความสูญเสีย ความยืดเยื้อ และภาพความโหดร้ายทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเบื่อหน่ายสงครามและเรียกร้องให้ยุติสงครามโดยเร็ว
.
ชาวอเมริกันแบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านสงคราม มีการชุมนุมและเดินขบวนต่อต้านสงครามและการเกณฑ์ทหารตามที่ต่างๆ เช่นในเดือนตุลาคม 1967 ผู้ชุมนุมกว่า 3.5 หมื่นคนชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามบริเวณอาคารเพนตากอน ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1970 ที่เมืองเคนท์ รัฐโอไฮโอ เกิดเหตุกองกำลังสำรองสหรัฐยิงกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการบุกกัมพูชาของกองทัพสหรัฐ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 9 คน และในเวลาต่อมามีผู้ชุมนุมประท้วงเหตุดังกล่าวมากกว่า 1 แสนคนในวอชิงตัน ดี.ซี. และ 1.5 แสนคนในซานฟรานซิสโก กระแสต่อต้านรุนแรงและยาวนานจนรัฐบาลและประธานาธิบดีสหรัฐไม่อาจฝืนทำสงครามต่อไปได้
.
.
2
5. ทหารสหรัฐโหดร้ายทารุณ
.
จริงอยู่ที่ฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกง (กลุ่มต่อต้านสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลเวียดนามใต้) จะใช้ความโหดร้ายทารุณแก่พลเมือง แต่ฝ่ายสหรัฐกลับใช้โหดร้ายทารุณไม่ต่างกัน
.
มีการเผยแพร่ภาพทหารอเมริกันทารุณทหารและพลเมืองที่ต้องสงสัยว่าเป็นเวียดกงด้วยวิธีต่างๆ นาๆ ทั้งทุบตี ทรมานให้สารภาพ ฆ่าด้วยวิธีโหดเหี้ยม รวมถึงข่มขืนผู้หญิงและเด็ก ทั้งยังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่หมู่บ้านมายลาย (My Lai) ในวันที่ 16 มีนาคม 1968 ซึ่งมีชาวบ้านไร้อาวุธกว่า 500 คนเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็กและถูกข่มขืนก่อนลงมือฆ่า
.
เรื่องราวการสังหารหมู่ถูกเปิดโปงในปี 1971 และมีผู้รับโทษจำคุกเพียงคนเดียวคือร้อยโทวิลเลียม แอล. แคลลี (William L. Calley) ความโหดร้ายของทหารอเมริกันยิ่งส่งเสริมให้ชาวเวียดนามใต้หันไปเข้ากับฝ่ายเหนือมากขึ้น
.
.
6. ขวัญกำลังใจเวียดนามเหนือเต็มเปี่ยม
.
กองทัพสหรัฐเข้าใจว่ากองทัพเวียดนามเหนือรบเพื่อปกป้องอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ จึงพยายามกำจัดทหารเวียดนามเหนือและเวียดกงให้มากที่สุด ย้ายถิ่นฐานชาวบ้านเวียดนามใต้ไปอาศัยรวมกันในเขตค่ายทหารเพื่่อปกป้องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ และทำลายพื้นที่ต้องสงสัยเพื่อป้องกันหรือกำจัดพวกคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตัว
.
แต่การกระทำเหล่านี้กลับกลายสร้างขวัญกำลังใจให้ฝ่ายฝ่ายคอมมิวนิสต์ พวกเขาทั้งอยากแก้แค้นให้เพื่อนร่วมชาติที่พลีชีพ โกรธแค้นที่กองทัพสหรัฐทิ้งระเบิดและเผาทำลายดินแดนบ้านเกิด และต้องการกำจัดพวกนักรบต่างชาติให้ออกไปจากเวียดนาม ชาวเวียดนามเหนือยังเชื่อว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์คือผู้ปลดแอกเวียดนามจากการตกเป็นอาณานิคมและช่วยเวียดนามให้รอดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม
.
.
1
7. เวียดนามเหนือรบเพื่อกู้ชาติ
.
ฝรั่งเศสตั้งเวียดนามเป็นอาณานิคม 'อินโดจีนของฝรั่งเศส' วันที่ 17 ตุลาคม 1887 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อญี่ปุ่นบุกอินโดจีนในเดือนกันยายน 1940 และยึดเป็นอาณานิคมของตนวันที่ 11 มีนาคม 1945 แม้ญี่ปุ่นจะปกครองเวียดนามเพียงประมาณ 5 เดือน แต่ญี่ปุ่นกอบโกยทรัพยากรเวียดนามจนนำไปสู่เหตุขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่มีผู้เสียชีวิต 4 แสนถึง 2 ล้านคน หลังญี่ปุ่นออกไปฝรั่งเศสก็กลับมาปกครองอินโดจีนบางส่วนอีกครั้งในปี 1945 และยอมปล่อยมือจากอินโดจีนอย่างถาวรในปี 1954
.
ระยะเวลาเกือบ 66 ปีที่ฝรั่งเศสและ 5 เดือนที่ญี่ปุ่นปกครอง ทำให้ชาวเวียดนามจำนวนมากไม่พอใจที่มีชาวต่างชาติอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดและต้องการกอบกู้ชาติของตนคืนมา นอกจากนี้การที่สหรัฐหนุนหลังระบอบเผด็จการในเวียดนามใต้และความรุนแรงที่กองทัพสหรัฐก่อขึ้น ทำให้ชาวเวียดนามหลายคนมองว่าสหรัฐไม่ต่างอะไรจากชาวต่างชาติก่อนหน้าอย่างฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
.
.
8. ชัยภูมิเวียดนามเป็นต่อ
.
เวียดนามเป็นประเทศเขตร้อนชื้น มีที่ลุ่ม เทือกเขา ป่าดงดิบ และป่าเขตร้อนจำนวนมาก ทั้งยังมีฝนตกชุกและมรสุม ภูมิประเทศเวียดนามจึงเป็นชัยภูมิแก่ฝ่ายเวียดนามเหนือและอุปสรรคแก่ฝ่ายสหรัฐ โดยเวียดนามเหนือตระหนักดีว่าฝ่ายตนมีอาวุธและเทคโนโลยีล้าหลังกว่าสหรัฐ และมีกำลังพลจำกัด จึงใช้ภูมิประเทศเพื่อชดเชยจุดอ่อนด้านนี้
.
ฝ่ายเวียดนามเหนือทั้งหลบซ่อนและซุ่มโจมตีเพื่อลดการสูญเสีย ขุดเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินเพื่อกบดานและเคลื่อนพลลอดสายตาฝ่ายตรงข้าม เน้นการรบแบบกองโจรและซุ่มโจมตีแทนการรบประจันหน้า ขณะที่ฝ่ายสหรัฐต้องประสบความยากลำบากในการรบท่ามกลางภูมิประเทศเลวร้ายนี้ เช่น เน้นการลำเลียงพลทางอากาศเพื่อลดการสูญเสียจากการซุ่มโจมตีทางภาคพื้น ระเบิดทำลายและเผาป่าไม้เพื่อเปิดพื้นที่โล่งหาให้ข้าศึกง่ายขึ้น แต่วิธีดังกล่าวยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวพื้นเมือง
.
.
9. ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีพี่ใหญ่หนุนหลัง
.
ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่ได้รบตัวคนเดียวแต่มีคอมมิวนิสต์พี่ใหญ่อย่างจีนและสหภาพโซเวียตคอยหนุนหลัง โดยจีนสนับสนุนทั้งด้านการเงิน กำลังพล ยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารให้เวียดนามเหนือ รวมแล้วจีนส่งกำลังพลทั้งหมดประมาณ 3.2 แสนนาย ยุทโธปกรณ์มูลค่า 1.5 ร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี และเสบียงอาหารจำนวน 5 ล้านตัน ขณะที่โซเวียตส่งทหาร เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาทหารอย่างน้อย 3 พันนายไปร่วมรบกับเวียดนามเหนือ ทั้งยังส่งอาวุธ กระสุน ยานพาหนะ และยารักษาโรคไปสนับสนุน รวมมูลค่าต่อปีประมาณ 4.5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
.
2
เรื่อง: พชร อังคเรืองรัตนา
ภาพประกอบ: เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
อ้างอิง
.
ศนิโรจน์ ธรรมยศ. (2561). สงครามเวียดนาม The Vietnam War. กรุงเทพ : ยิปซี กรุ๊ป.
.
#เวียดนาม #สหรัฐอเมริกา #สงครามเวียดนาม #VietnamWar #สำนักพิมพ์ยิปซี #GypzyBook
//////////
โฆษณา