12 มี.ค. 2020 เวลา 08:00 • สุขภาพ
“COVID-19”…สรุปแล้วพวกมัน”ฟุ้งกระจาย”อยู่ในอากาศได้หรือไม่!
เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่กำลังสงสัย... โคโรน่าไวรัสสายพันธ์ุใหม่ ล่องลอยอยู่ในอากาศที่พวกเขาหายใจอยู่ได้หรือไม่!
เริ่มมีข่าวมากมายที่สร้างความกังวลนี้ โดยอ้างอิงงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าพวกมันสามารถฟุ้งกระจายได้จริง
โดยถ้าพวกมันฟุ้งกระจายได้จริง การใส่หน้ากากอนามัยทั้งวันก็อาจจะไม่สามารถป้องกันคุณได้อีกต่อไป เพราะพวกมันจะสามารถลอยผ่านหน้ากากอนามัยของคุณได้เหมือนฝุ่นPM2.5 และทุกคนก็จะต้องใช้หน้ากากพิเศษอย่าง N95 แทน!
ดังนั้นหมอขอมาอธิบายให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์นี้กันหน่อยดีกว่า
บทความนี้ จะว่าด้วยเรื่อง “เชื้อโรคระบบหายใจ” อย่างเช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และรวมถึง COVID-19 ด้วยเช่นกัน
และเพื่อที่คุณจะเข้าใจว่า”โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่สามารถฟุ้งกระจายได้หรือไม่?” หมอขอเกริ่นนำให้คุณรู้ก่อนว่าการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบบหายใจทั่วไป เกิดได้ทางใดบ้าง...
ซึ่งโรคติดเชื้อระบบนี้ ถ้าไม่นับการสัมผัสเชื้อโดยตรง พวกมันจะสามารถกระโดดจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อยู่ 2 วิธีด้วยกัน!
1. การติดต่อทางละอองขนาดใหญ่ (Droplet transmission)
ละอองขนาดใหญ่ที่ว่านี้ ก็คือเศษเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอจามออกมา
ทีนี้ เรามาดูที่รายละเอียดของการไอจามกันก่อน การไอจามส่วนใหญ่จะทำให้เกิดเศษ “ละอองขนาดใหญ่(Droplet)” เป็นหลัก ซึ่งหลายๆครั้งก็จะขนาดใหญ่จนคุณสามารถเห็นละอองได้ด้วยตาเปล่า
แต่อย่างไรก็ตาม เศษละอองเสมหะหรือน้ำมูกส่วนน้อยส่วนหนึ่ง ถูกแรงปะทะจนทำให้แตกเป็น ”ละอองขนาดเล็ก(Aerosol)” ซึ่งสามารถเล็กได้ถึงขนาดของ PM2.5 เลยทีเดียว
ทีนี้ ละอองขนาดใหญ่ และละอองขนาดเล็กนั้นแตกต่างกันอย่างไร?
คำตอบก็คือ เชื้อโรคส่วนใหญ่ชอบอยู่ในละอองขนาด"ใหญ่"มากกว่า! พวกมันชอบเศษเสมหะขนาดใหญ่ที่ชุ่มชื้นสมบูรณ์ และมีพรรคพวกมันอาศัยอยู่ด้วยกันมากกว่า
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคระบบหายใจชนิดใด พวกมันอาศัยการติดต่อด้วยวิธีแรกนี้เป็นหลัก! ซึ่งก็คือผ่านละอองขนาดใหญ่นั่นเอง
โดยจุดเด่นของการติดเชื้อด้วยวิธีนี้ก็คือ ต้องเป็นการ”ไอจาม”ใส่กัน”โดยตรง”หรือ”ใกล้ๆกัน”เท่านั้น!
เพราะเชื้อโรคเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะหรือน้ำมูกซึ่งเป็นละอองขนาด”ใหญ่” พวกมันจึงตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็วตามเเรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งก็ตกลงไปพร้อมๆกับเศษเสมหะหรือน้ำมูกนั้นๆนั่นล่ะ
ดังนั้น เชื้อโรคพวกนี้จึงไม่”ฟุ้งกระจาย”อยู่ในอากาศ!
ถ้าบริเวณนั้นไม่มีใครไอจามอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ต้องนั่งกังวลว่าอากาศที่เราหายใจนั้นมีเชื้อฟุ้งอยู่หรือไม่
การป้องกันเชื้อโรคที่ติดต่อด้วยวิธีนี้จึงค่อนข้างง่าย “หน้ากากอนามัย”ทั่วไปก็เพียงพอแล้ว เพราะละอองเสมหะและน้ำมูกมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถทะลุหน้ากากมาได้แน่นอน
2. การติดต่อทางละอองขนาดเล็ก(Airborne transmission)
ตามที่ได้เล่าไปว่าเชื้อโรคระบบหายใจชอบการแพร่กระจายโดยวิธีแรกมากกว่า เพราะพวกมันอยู่ในละอองขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ชุ่มชื่น พวกมันจึงมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีซูเปอร์เชื้อโรคบางกลุ่ม ที่สามารถอยู่รอดได้ในละอองที่มีขนาดเล็กขึ้นไปอีกกว่าพันเท่า!
เชื้อโรคพวกนี้จึงสามารถอยู่ในละอองเสมหะหรือน้ำมูกที่มีขนาดเล็กมากๆได้ และยังสามารถอยู่กับฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศได้อีกด้วย!
ดังนั้นเชื้อโรคพวกนี้จึง “ฟุ้งกระจาย” !!
ต่อให้คนที่ไอจามเดินหายไปนานแล้ว เชื้อโรคก็ยังอาจฟุ้งกระจายอยู่ตรงนั้นได้นานอาจถึงชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดของละอองและความอึดของเชื้อโรคแต่ละตัว
ดังนั้นการแพร่เชื้อวิธีที่2 จึงเป็นการติดต่อผ่านทางอากาศของ”แท้"!
การติดเชื้อด้วยวิธีนี้จึงป้องกันได้ยากกว่าวิธีแรกหลายเท่า และหน้ากากอนามัยทั่วไปก็อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ถ้าละอองมีขนาดเล็กมากจริงๆ
ซึ่งต้องใช้เป็น”หน้ากาก N95” เท่านั้น!
โดยเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายด้วยวิธีนี้ได้ จะเรียกว่า”Airborne pathogen”
เอาล่ะ จบการเกริ่นนำแล้ว
ทีนี้มาเข้าเรื่องคำถามที่ว่า “โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV)” นั้นใช้วิธีใดในการแพร่กระจายเชื้อ
แน่นอนว่าพวกมันแพร่กระจายด้วยวิธีแรกได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ พวกมันติดเชื้อผ่านทางวิธีที่ 2 ละอองฟุ้งกระจาย หรือเป็น “Airborne pathogen” ด้วยหรือไม่?
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ หมอขอยกตัวอย่างเชื้อโรคที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ...
“ไวรัสไข้หวัดใหญ่(Influenza virus)”
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่อยู่ในประวัติศาสตร์โลกมานานนับร้อยปี และสังหารผู้คนทั่วโลกไปนับร้อยล้านคนด้วยเช่นกัน
เป็นเวลานานนับร้อยปี ที่วงการแพทย์มองว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่เหล่านี้ ติดต่อผ่านทาง”ละอองขนาดใหญ่ (Droplet)”
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือบุคลากรทางการแพทย์ ก็ต่างใช้”หน้ากากอนามัยทั่วไป”ในการป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจจับเชื้อที่ดีมากขึ้น พวกเราก็พบว่า พวกมันสามารถอาศัยอยู่ใน”ละอองขนาดเล็ก(Aerosol)”ได้ด้วยเช่นกัน!
มีหลักฐานงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนเรื่องนี้ จนทำให้เกิดข้อพิพาทที่น่าปวดหัวที่สุดก็คือ...
“ไวรัสไข้หวัดใหญ่” สามารถแพร่เชื้อผ่านทางละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศได้จริงๆใช่ไหม!...
แล้วจึงเกิดอีกคำถามว่า... แล้วทำไมไวรัสไข้หวัดใหญ่ถึงยังไม่ถูกจัดให้เป็น “Airborne pathogen” อย่างเป็นทางการเสียที?
เพราะถ้าสรุปว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถฟุ้งกระจายและติดเชื้อด้วยวิธีนี้ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ... ประชาชนทุกคนต้องใส่ “หน้ากาก N95” ที่ราคาแสนแพงเพื่อป้องกันโรค!
เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกคนก็ต้องถูกแยกใน”ห้องแรงดันลบ(Negative-pressure room)” ซึ่งมีอยู่เพียงไปกี่ห้องในประเทศไทย
นี่คือสิ่งที่ตามมาเมื่อมีการสรุปว่าเชื้อหนึ่งๆ สามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองขนาดเล็ก(Aerosol)ได้ สิ่งที่ตามมานั่นก็คืองบประมาณอันมหาศาลที่ต้องใช้เพื่อการป้องกันโรคนั้นๆ และความตื่นตระหนกวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นกับผู้คน
ดังนั้นการสรุปว่าเชื้อโรคหนึ่งๆว่าเป็น “Airborne pathogen” นั้น จึงมักไม่ขึ้นอยู่กับคำถามที่ว่าพวกมันสามารถฟุ้งกระจายได้จริงหรือไม่อย่างเดียว แต่ยังมักไปพิจารณาถึงอีก 2 คำถามหลักๆด้วย นั่นก็คือ
1. พวกมันก่อโรคที่รุนแรงหรือไม่? และ
2. พวกมันใช้วิธีการฟุ้งกระจายเป็นการติดต่อหลักหรือไม่?
คำถามแรกหมายความว่า ถ้าเชื้อโรคที่แม้มีหลักฐานว่าฟุ้งกระจาย แต่เป็นโรคที่ไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตน้อย อย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ มันก็ไม่คุ้มที่จะสรุปว่ามันเป็น Airborne pathogen จริงๆ เพราะพวกเราก็คงไม่อยากต้องทุ่มงบมหาศาลเพื่อป้องกันโรคเล็กๆน้อยๆที่ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมากมายนัก ใช่มั๊ยล่ะครับ
แม้ไข้หวัดใหญ่จะสังหารคนทั่วโลกมากมายมหาศาล แต่เมื่อดูที่อัตราการเสียชีวิต ถ้าไม่นับไข้หวัดใหญ่สเปน ก็ถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก น้อยกว่า 1%
ดังนั้นสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ แม้ว่ามีการรู้กันในใจ ว่าพวกมันน่าจะมีโอกาสสูงมากที่จะแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศได้ แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่แนะนำถึงการใช้“หน้ากาก N95” ในการป้องกันอยู่ดี
ดูง่ายๆเลย คุณไปโรงพยาบาล คุณเคยเห็นหมอใส่ หน้ากาก N95 ตรวจคนไข้ไหมล่ะ แทบไม่เคยเห็นเลยใช่ไหมล่ะ ถ้าต้องให้หมอทุกคนใส่หน้ากาก N95 ตรวจผู้ป่วยทุกคนทุกวัน โรงพยาบาลก็คงจะขาดทุนจนเจ๊งได้เลย
จริงๆแล้วก็ยังมีเชื้อโรคที่เข้าข่ายฟุ้งกระจายได้แต่ไม่ได้สรุปว่าเป็น”Airborne pathogen”อีกจำนวนมาก อย่างโรคหวัดทั่วๆไปที่ทุกๆคนเป็นกันบ่อยๆ ก็เริ่มมีหลักฐานพิสูจน์เหมือนกันว่าฟุ้งกระจายได้ แต่เราก็คงไม่ขี่ช้างจับตั๊กแตน ซื้อหน้ากากไฮโซเพื่อป้องกันพวกมันหรอก ใช่มั๊ยล่ะครับ
ส่วนคำถามที่ 2 หมายความว่า การที่เชื้อหนึ่งๆอยู่ในละอองขนาดเล็กได้ ไม่ได้แปลว่าพวกมันจะสามารถก่อโรคได้มากเสมอไป เพราะการก่อโรคติดเชื้อได้ยังต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น จำนวนเชื้อ ความหนาแน่นเชื้อ การระบายอากาศ ห้องปิดหรือเปิด สภาพแวดล้อม เป็นต้น เพราะเชื้อโรคที่แพร่กระจายทางการฟุ้งกระจายละอองขนาดเล็ก ก็มักมีความหนาแน่นของเชื้อที่น้อยมากๆ และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทีละน้อย ซึ่งถ้าไม่ใช่เชื้อโรคที่มีความรุนแรงมากจริงๆ ก็จะไม่สามารถก่อโรคได้ถ้าเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ทีละตัวสองตัว
ดังนั้นเมื่อพิจารณาทุกคำถาม คำว่า “Airborne pathogen” หรือเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายในอากาศได้ จึงมักสงวนไว้ใช้กับโรคติดเชื้อที่พิสูจน์แล้วว่าติดต่อได้มากโดยละอองฟุ้งกระจาย และต้องมีความรุนแรงมากด้วยเช่นกัน!
ยกตัวอย่าง วัณโรค หัด เมอร์ส เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อถามว่า “โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV)” นั้นฟุ้งกระจายในอากาศเป็นเวลานานๆได้หรือไม่?
คำตอบก็คือ ไวรัสระบบทางเดินหายใจทุกชนิดมี"โอกาส"ที่จะอยู่ในละอองขนาดเล็กและฟุ้งกระจายได้ทั้งหมดนั่นล่ะครับ เพียงแต่ว่า มันมี”นัยสำคัญ”มากแค่ไหน?
นัยสำคัญที่ว่าก็คือ แม้ว่าพวกมันฟุ้งกระจายได้จริง แต่พวกมันสามารถทำให้เกิดโรคติดเชื้อโดยการฟุ้งกระจายได้มากและรุนแรงแค่ไหน มากเพียงพอที่จะคุ้มต่อการป้องกันประชาชนทุกคนโดยการใส่หน้ากากพิเศษอย่าง N95 ที่ราคาแสนแพงหรือไม่ หรือมากเพียงพอที่จะต้องกักกันผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกคนให้อยู่ในห้องแรงดันลบที่มีอยู่น้อยนิดในประเทศหรือไม่
ณ ปัจจุบัน ถ้ามองโดยภาพรวม หมอก็คงต้องตอบว่า “ยังคงไม่”
แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ ถ้ามีบางประเทศที่เกิดโรครุนแรงมากๆ ประเทศนั้นๆก็อาจสร้างมาตรการป้องกันโดยมองว่ามันฟุ้งกระจายได้เหมือนกัน
แต่มองภาพรวมตอนนี้ ด้วยอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยราวๆ 3% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆในอนาคตจากยาใหม่ๆและวัคซีน พวกมันก็ยังมีความรุนแรงที่ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่มากนัก ซึ่งเมื่อเทียบกับโรค SARS และ MERS โรคพวกนี้มีความรุนแรงที่สูงมาก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10% และ 30% ตามลำดับเลยทีเดียว
และแม้ว่าพวกมันอาจฟุ้งกระจายได้ แต่พวกมันก็ติดต่อผ่านทางละอองเสมหะขนาดใหญ่ที่ตกลงพื้นแบบไม่ฟุ้งกระจายเป็นหลักอยู่ดี จากข้อมูลบันทึกสถิติของประเทศจีน ก็ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนั้นมีหลักฐานการติดต่อกันในครอบครัวจากละอองเสมหะขนาดใหญ่(Droplet) ไม่ใช่การกระจายจากละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจาย(Aerosol)
ดังนั้น หน้ากาก N95 ก็ยังคงไม่จำเป็นนักกับประชาชนทั่วไป แค่หน้ากากอนามัยทั่วไป ตอนนี้ก็หายากเสียยิ่งกว่าทองคำแล้ว!
ตามคำแนะนำของWHO และ CDC การล้างมืออย่างสม่ำเสมอและการใส่หน้ากากอนามัยทั่วไปเวลาออกที่สาธารณะนั้นก็เพียงพอและเหมาะสมเเล้วสำหรับการป้องกันโรค COVID-19 ในคนทั่วไป
สรุปแล้ว หมอคิดว่าสำหรับ COVID-19 นี้ ก็คงลงเอยไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไป
คือพวกเรารู้กันในใจ... ว่า”พวกมันก็คงน่าจะฟุ้งกระจายได้นั่นแหละ” แต่ก็เพียงเก็บไว้ในใจ ไม่ต้องไปใส่ใจ และไม่ต้องไปกังวลกับมัน...
📥Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
#นพ.เวชกร รัตนนิธิกุล
📥ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา