13 มี.ค. 2020 เวลา 05:17 • ความคิดเห็น
เมื่อวาน ผมได้มีโอกาส ไปดู คุณยายคนหนึ่ง นั่งปั้นเครื่องปั้นดินเผา
ซึ่งจากการนั่งดู คุณยายทำสักพักหนึ่ง ทำให้ผมเห็นว่า กว่าจะมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปร่างสวยงามได้สักหนึ่งใบ ไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องผ่านการปัด กรีด ตกแต่ง ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง กว่าจะได้ออกมาเป็นโอ่งใบเล็ก ๆ หนึ่งใบ
ยังไม่พอนะครับ หลังจากได้เป็นรูปเป็นร่างที่ต้องการแล้ว ยังต้องนำไปแกะสลักอีกครั้งหนึ่งอีก
เรียกว่า กว่าจะได้ออกมาใบหนึ่งนี่ ใช้เวลากันเป็นวัน ๆ เลยทีเดียว
จากการเฝ้าดูมันทำให้ผม มองและคิดตกตระกอนอะไรบางอย่างได้ครับ
1. คือ ถ้าผมเดินผ่านร้านเครื่องปั้นดินเผา เหล่านี้โดยไม่เห็นวิธีการปั้น ผมจะรู้สึกเฉย ๆ กับอุปกรณ์เหล่านี้มาก อย่างมากก็มองว่ามันสวยดี ไม่ได้รู้สึกอยากได้หรืออะไร
แต่พอ ผมได้นั่งลงดูยายแกปั้นเท่านั้นแหละครับ ไอ้ของที่ผมมองตอนแรกว่าเฉย ๆ มันดูน่าสนใจมากขึ้นในทันที เพราะได้เห็นเรื่องราวความเป็นมา ของ สินค้าชิ้นนี้ แบบต่อหน้าเลย ว่ากว่าจะมาเป็นได้มันใช้ความปราณีต ความลำบากมากแค่ไหน
2. เรื่องราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เชื่อไหมครับว่าตอนแรกเห็นราคาแล้ว คิดทันทีเลยว่าแพง โถใบหนึ่งไม่ใหญ่มาก 350 บาท แต่มีลวดลายที่สวยงามนะครับ
และก็เป็นเช่นเดียวกับตอนแรกเหมือนกันครับ พอได้นั่งดูคนเขาแกะสลักลวดลาย ว่ากว่าจะได้ออกมาเป็น โถ 1 ใบ มันใช้ความปราณีต และความมุ่งมั่นตั้งใจแค่ไหน หลังจากที่ดูเสร็จ บอกเลยว่า 350 นี่มันน่าจะถูกไปด้วยซ้ำ กับสิ่งที่เขาทำออกมาขาย (ตอนนั้นคิดในใจเลยนะครับว่า ถ้าใครมาต่อราคานะ จะเดินเข้าไปช่วยป้าแกเลย)
จากเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่า Story หรือเรื่องราวของสินค้า มันช่วยได้เยอะมากจริง ๆ
ต้องบอกว่า งาน Handmade ทั้งหลายแหล่ สินค้า OTOP บ้านเรา นี่มีมูลค่ามหาศาล ในด้านการปราณีต พิถีพิถัน ในการทำออกมา เรียกว่า เผลอ ๆดีกว่าสินค้า แบรนด์ดัง ๆ บางแบรนด์อีกก็ว่าได้ แต่มันติดตรงที่ ไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการลงมือ ความพิถีพิถัน ที่กว่าจะได้ออกมาเชยชมให้ได้เห็น ณ ตรงหน้านี่แหละ จึงทำให้ผู้คนบางคนมองว่า "มันไม่ดี" หรือ "แพงเกินไป" ผมคิดว่าถ้าสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้ มูลค่าที่แท้จริง ของสิ่งของชิ้นนั้น มันจะถูกปรากฎออกมาให้เห็นเอง
ของที่ดี บางทีต้องมีเรื่องราวประกอบ เพื่อเสริมคุณค่านั้น ให้กับตัวสินค้า การขาดเรื่องราวในการถ่ายทอดออกไป อาจทำให้คนที่เห็น ไม่ได้รับรู้ถึงความตั้งใจและพิถีพิถันของคนที่ตั้งใจทำออกมา
สุดท้ายมีอีกเรื่องที่ผมเองเห็น นั่นก็คือ การทำงานฝีมือ แบบไทย ๆ ปราณีตแบบนี้ คนรุ่นใหม่ มักไม่สนใจ ทั้ง ๆ ที่ เป็นอะไรที่มีคุณค่าเอามาก ๆ บางทีสิ่งที่ขาด มันอาจจะเป็นช่องว่างระหว่างวัยเด็ก กับวัยผู้ใหญ่ ที่ต้องช่วยกันสานต่อ ถึงแม้เด็กจะไม่สนใจทำงานฝีมือ แต่ก็มีหัวคิดก้าวหน้าช่วยสร้าง แบรนด์ ขยายฐานสินค้าให้กับผู้ใหญ่ได้
อยากเห็นเด็กเก่ง ๆ กลับไปพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทย
เผื่อว่า เราอาจจะได้เห็น สินค้า ภูมิปัญญาไทย ๆ ได้ไปโด่งดังระดับโลกกับเขาบ้าง
โฆษณา