14 มี.ค. 2020 เวลา 02:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
#14มีนาคม2018 วันเสียชีวิตของสตีเฟน ฮอว์คิง
(ภาพประกอบโดย เจตวัฒน์ วงศ์ษา)
สตีเฟน ฮอว์คิง เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 1942
 
ในช่วงมัธยม ฮอว์คิงไม่ได้เรียนโดดเด่น แต่ก็ชอบประดิษฐ์ของต่างๆ ร่วมกับครูและเพื่อนๆ
ต่อมาเขาตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทว่าขณะที่ฮอว์คิงอายุ 21 ปี และกำลังศึกษาฟิสิกส์ด้านเอกภพวิทยาอยู่นั้น เขาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) หรืออีกชื่อคือ Lou Gehrig’s Disease ทำให้เขาเริ่มต้องใช้ชีวิตลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดต้องนั่งรถเข็นและใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงในการสื่อสาร
ในปี 1974 ฮอว์คิงเผยแพร่งานวิจัยที่ทำให้โลกฟิสิกส์สั่นสะเทือน เพราะเขาทำการคำนวณร่วมกับนักฟิสิกส์คนอื่นๆ แล้วพบว่าหลุมดำมีอุณหภูมิค่าหนึ่งด้วย โดยหลุมดำยิ่งมีมวลมากก็ยิ่งมีอุณหภูมิต่ำ
1
นักฟิสิกส์รู้มานานแล้วว่าวัตถุใดๆ ที่มีอุณหภูมิมากกว่าศูนย์สัมบูรณ์ (−273.15°C) จะมีการแผ่รังสีออกมาเสมอ ในตอนนั้นฮอว์คิงเสนอว่าหลุมดำก็ควรจะมีการแผ่รังสีออกมาเนื่องจากอุณหภูมิของมันเช่นกัน
แต่การแผ่รังสีของหลุมดำดูเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของหลุมดำที่ไม่มีสิ่งใดหลุดออกมาจากภายในหลุมดำได้
1
ฮอว์คิงสามารถอธิบายกลไกการแผ่รังสีของหลุมดำได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งทุกวันนี้นักฟิสิกส์เรียกรังสีที่หลุมดำแผ่ออกมาว่า รังสีของฮอว์คิง (Hawking Radiation) แต่กลไกการแผ่รังสีของหลุมดำนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเข้าใจได้ค่อนข้างยาก
จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันและตรวจจับรังสีของฮอว์คิงจากหลุมดำได้ แต่นักฟิสิกส์หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าถ้ามีการตรวจจับรังสีจากหลุมดำได้ ฮอว์คิงก็น่าจะได้รับรางวัลโนเบลอย่างไม่ต้องสงสัย
ในด้านการทำงาน ฮอว์คิงเคยได้รับตำแหน่งศาตราจารย์ลูเคเชียนด้านคณิตศาสตร์ (Lucasian Professor of Mathematics) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติที่ เซอร์ ไอแซก นิวตัน เคยได้รับ
Lucasian Professor of Mathematics ของไอแซก นิวตัน
หนังสือขายดีที่สุดทั่วโลกของฮอว์คิงและเป็นหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์แห่งยุคมีชื่อว่า ประวัติย่อของเวลา (A Brief History of Time) ได้รับการแปลมากกว่า 35 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทย
ต่อมาเขาเขียนหนังสือ The Universe in a Nutshell (2001) ซึ่งมีการใช้รูปภาพอธิบายขยายความเนื้อหาที่เคยกล่าวไว้ในหนังสือ A Brief History of Time ให้เข้าใจง่ายขึ้น แน่นอนว่าหนังสือเล่มนั้นก็ติดอันดับหนังสือขายดี
ผมเชื่อว่าหนังสือ ประวัติย่อของเวลา ได้สร้างนักฟิสิกส์และทำให้คนทั่วไปหลายคนสนใจฟิสิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แม้อ่านแล้วจะไม่ได้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดก็ตาม อย่างน้อยๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนเรียนมัธยมปลายแล้วรู้สึกสนใจเอกภพและธรรมชาติของกาลเวลาจนเลือกเรียนต่อด้านฟิสิกส์
 
นอกจากนี้ฮอว์คิงยังเป็นเพื่อนกับนักฟิสิกส์ชื่อ คิป ธอร์น ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Interstellar และเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงด้วย
แม้ว่า สตีเฟน ฮอว์คิง จะจากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่งานวิจัยของเขายังคงส่งแรงกระเพื่อมในโลกฟิสิกส์อย่างรุนแรง เพราะทุกวันนี้นักฟิสิกส์ทั่วโลกพยายามไขปริศนาเรื่องการแผ่รังสีและข้อมูลสูญหายในหลุมดำกันอยู่ กล่าวได้ว่าทั้งหนังสือ งานวิจัย และการใช้ชีวิตของเขาได้กลายเป็นมรดกทางสติปัญญาให้กับมนุษยชาติตลอดไป
[ขายหนังสือ]
สนใจหนังสือเรื่อง "หลุมดำ :วัตถุปริศนาแห่งเอกภพ"
สั่งได้ทาง inbox เพจนี้ หรือ ทาง shoppee
จัดส่งพร้อมลายเซ็นผู้เขียน
โฆษณา