14 มี.ค. 2020 เวลา 12:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
14 มีนาคม - Pi day, Albert Einstein , Stephen Hawking
วันที่ 14 มีนาคม สำหรับคนทั่วไป ก็คงเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง ไม่ได้เป็นวันที่มีความสำคัญหรือมีความพิเศษอะไรมากนัก แต่สำหรับสายกีค สายเนิร์ด และคนที่ชอบเรื่อราวของฟิสิกส์ วันที่ 14 มีนาคมของทุกๆปี จะเป็นวันที่พิเศษมากๆ เพราะเป็นวันที่กิมมิคพิเศษบางอย่าง และเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับนักฟิสิกส์ที่โด่งดังเป็นลำดับต้นๆถึงสองคนด้วยกัน
เริ่มกันที่ความพิเศษอย่างแรก ถ้าเราเขียนวันที่แบบอเมริกันที่เขียนเดือนนำหน้าวันที่ วันที่ 14 มีนาคมจะถูกเขียนเป็น 3/14 ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขชุดนี้ น่าจะผ่านตาทุกๆคนมาแล้วอย่างแน่นอน และทุกคนก็คงทราบว่า มันคือตัวเลขสามตัวแรกของค่าพาย (Pi) นั่นเองครับ
ซึ่งค่าพายนี้เป็นตัวเลขที่สำคัญมากๆในวงการคณิตศาสตร์ เพราะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงอัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวงต่อเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่คงที่สำหรับทุกวงกลม ทำให้ค่านี้จึงถูกนำมาใช้ในการคำนวณทุกสิ่งทุกอย่าที่เกี่ยวข้องกับความกลม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ เส้นรอบวง ปริมาตร รวมไปถึงการคำนวณค่ามุมต่างๆ อีกด้วย
ซึ่งความเจ๋งของมันอีกอย่างหนึ่งก็คือค่าพายเป็นจำนวนอตรรกยะ หรือจำนวนที่ไม่สามารถเขียนอยู่ในรูปทศนิยมซ้ำหรือเศษส่วนได้ ทำให้ค่าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงค่าประมาณเท่านั้น ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์สามารถคำนวณค่าพายได้มากสุดถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 50 ล้านล้านแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนทศนิยมต่อหลังอีกเป็นอนันต์ และเราคงไม่มีทางรู้ค่าที่แน่นอนของมันได้จริงๆ แต่ถ้าจะใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าพายที่ละเอียดถึงทศนิยมอันดับที่ 5-6 ก็คงน่าจะเพียงพอแล้วละครับ
ความพิเศษอย่างที่สอง นั่นคือเมื่อวันนี้ในปี ค.ศ. 1879 เป็นวันที่โลกได้พบกับสุดยอดอัจฉริยะนักฟิสิกส์ ที่มีชื่อว่า Albert Einstein เป็นครั้งแรก ที่เมือง Ulm ในประเทศเยอรมนี เรื่องความเก่งกาจของเขาคงไม่ต้องสาธยายอะไรให้มากความ เพราะทุกคนน่าจะรู้จักเขาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ผ่านผลงานอันเลื่องชื่ออย่างทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบพิเศษและทั่วไป การอธิบายปรากฎการณ์ Photoelectric Effect เขาได้พลิกมุมมองของคนทั้งโลกที่มีต่อเรื่องแรงโน้มถ่วงและเวลาไปโดยสิ้นเชิง รวมไปถึงวางรากฐานการศึกษาฟิสิกส์ในปัจจุบันด้วย ซึ่งชื่อเสียงของเขาโด่งดังมากๆจนแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้อยู่ได้วงการฟิสิกส์ก็เคยได้ยินชื่อ นับได้ว่าเป็น Icon คนหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ ที่ถ้าหากคนทั่วไปนึกถึงฟิสิกส์ทฤษฎี หน้าของ Einstein น่าจะเป็นสิ่งแรกที่คนนึกถึงเลยทีเดียว
และความพิเศษลำดับสุดท้ายของวันนี้ ก็เกี่ยวข้องกับนักฟิสิกส์ที่เป็นไอค่อนของวงการอีกคนหนึ่ง นั่นคือ Stephen Hawking แต่ดันเปนความพิเศษที่น่าเศร้า เพราะว่าในวันนี้เมื่อสองปีก่อน (ปี 2018) เป็นวันที่เขาได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยอายุ 76 ปี สำหรับ Stephen Hawking เป็นนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับหลุมดำ จักรวาลวิทยารวมไปถึงทฤษฎี Quantum Gravity และยังมีผลงานการเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งอย่าง A Brief History of Time อีกด้วย
แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนจดจำและยกย่องเขา นั่นคือการที่เขาสามารถสร้างทฤษฎีและผลงานมากมาย ทั้งๆที่เขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือ ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) ตั้งแต่อายุเพียงยี่สิบต้นๆเท่านั้น เขาใช้ชีวิตกว่าห้าสิบปีในสภาพคนอ่อนแรงที่นั่งบนรถเข็นและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้างเสียงพูด แต่เขาก็ยังสร้างทฤษฎีฟิสิกส์ชั้นเยี่ยม และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักฟิสิกส์และคนอื่นๆอีกมากมายทั่วโลกผ่านการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและอุปสรรคในชีวิตอีกด้วย
ด้วยความพิเศษเหล่านี้ วันที่ 14 มีนาคม จึงกลายเป็นวันที่พิเศษและสำคัญมากๆสำหรับสายกีค สายเนิร์ด และคนที่หลงใหลในศาสตร์แห่งฟิสิกส์นั่นเองครับ
Happy PI day, Happy Birthday to Einstein, and Rest in Peace,Hawking.
Fun Fact: หากเราไปดูสมการที่สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งสองคน อย่าง Einstein’s Field Equations และ Hawking Radiation เราจะพบว่าทั้งสองสมการนี้มี “ค่าพาย” อยู่ในสมการทั้งคู่อีกด้วย
โฆษณา