16 มี.ค. 2020 เวลา 12:53 • ประวัติศาสตร์
#ตามรอยจักรวาลในเปลือกนัทตอนที่2
#BeyondLimits
#ฉันอยู่นี่จักรวาลที่รัก
เรื่องราวจากตอนที่ 1 จบลงตรงที่การแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ในงานทฤษฎี Singularity เป็นสมาชิกของสมาคมนักปราชญ์อันทรงเกียรติ The Royal Society
และ อีกตำแหน่งสูงสุดในอาชีพนักวิชาการ ที่ฮอว์กิ้งได้มาในปี 1979 ก็คือ “เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน” (Lucasian Chair of Mathematics) หรือ ปราชญ์แห่งปราชญ์ - ผู้บรรลุศาสตร์สูงสุดในสาขาคณิตศาสตร์ ที่เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์เฉพาะสำหรับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เท่านั้น เป็นตำแหน่งที่มีมานานกว่า 350 ปี จนถึงปัจจุบันมีสุดยอดนักวิชาการที่บรรลุได้ถึงตำแหน่งนี้เพียง 19 คนเท่านั้น
2
ด้วยความมีจิตวิญญาณความเป็นอาจารย์อยู่ในตัว เขาจึงเกิดความคิดว่า อยากจะเขียนหนังสือสักเล่ม อธิบายศาสตร์แห่งจักรวาลวิทยาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
เขาเคยหยิบโครงการหนังสือประเภททฤษฎีไอน์สไตน์ 101 สำหรับคนทั่วไปมาเล่าให้เพื่อนฝูงศาสตราจารย์ฟัง ใครต่อใครต่างก็ส่ายหน้า และคิดว่าการอธิบายเรื่อง (โครต)ยากให้ง่าย มันก็ยากพอๆกับการทำความเข้าใจเรื่องยากๆนั่นแหละ
แล้วอีกอย่าง ไม่มีใครที่ไหนเขาจะหยิบหนังสือทฤษฎีกำเนิดจักรวาล ควอนตัมฟิสิกส์มาอ่านเพื่อความบันเทิง สิ่งที่ฮอว์กิ้งควรใส่ใจเหนือสิ่งอื่นใดคือสุขภาพของตัวเขาเองมากกว่า
เพราะตอนนี้อาการของเขาแย่ลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ดั่งใจ ที่สร้างปัญหาการพูด ลิ้นเปลี้ย ทำให้ออกเสียงลำบาก จนมีคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถจับใจความในสิ่งที่เขาพูดได้ ดังนั้นการบรรยายในชั้นเรียนฮอว์กิ้งจำเป็นต้องสื่อสารผ่านผู้ช่วย รวมถึงงานเขียนของเขา ต้องพูดออกมาให้ผู้ช่วยถอดความออกมาทีละคำจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
1
การทำงานด้วยสภาพร่างกายของฮอว์กิ้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี พระเจ้าก็ประทานความท้าทายใหม่ให้กับฮอว์กิ้งยิ่งขึ้นไปอีก
2
ในปี 1985 สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม ด้วยสภาพร่างกายของฮอว์กิ้งที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ทีมแพทย์ไม่มีทางเลือกในการรักษามากนัก จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเจาะคอ (Tracheotomy) เพื่อช่วยพยุงระบบหายใจของเขา การผ่าตัดเจาะคอในครั้งนั้น ทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการออกเสียงไปตลอดกาล
จากเดิมที่สื่อสารได้อย่างจำกัดอยู่แล้ว ตอนนี้กลายเป็นบุคคลที่แม้แต่พูดก็ยังไม่ได้ เส้นทางการทำงานของเขาแทบจะเรียกได้ว่าจบสิ้น!!!
ข่าวการสูญเสียเสียงของฮอว์กิ้ง ได้ยินไปถึงหูของ วอลท์ วูลทอสซ์ โปรแกรมเมอร์มือฉมังในแคลิฟอร์เนีย วูลทอสซ์ ได้ส่งอุปกรณ์สื่อสารพิเศษมาให้ฮอว์กิ้ง เป็นตัวจับความเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปลายนิ้ว การขยับศีรษะ หรือหนังตา เพื่อเลือกเมนูภาษาสำเร็จรูปที่จะปรากฏบนหน้าจอ ผสมคำออกมาเป็นประโยค แล้วส่งข้อมูลต่อไปยัง Synthesizer เพื่อแปลงเป็นเสียงอิเล็กทรอนิคอีกทีหนึ่ง ซึ่งฮอว์กิ้ง ตั้งชื่อเครื่องมือชุดนี้ว่า "Voice" - เสียงของข้าพเจ้า
นอกจากนี้ อุปกรณ์นี้ยังช่วยบันทึกข้อมูลประโยคของผู้ใช้ แล้วสั่งพิมพ์ออกมาได้อีกด้วย ทำให้ฮอว์กิ้งกลับมาลุยงานสอน และ ร่ายบทความทางวิชาการได้อีกคร้้ง ฮอว์กิ้งชื่นชมผลงานของวูลทอสซ์มาก ที่ช่วยให้เขาสามารถสื่อสารได้ดีกว่าเดิม ด้วยความเร็ว 15 คำต่อนาที 😅
จากความทุ่มเทอันไม่สิ้นสุดของฮอว์กิ้งด้วยข้อจำกัดมากมาย เขาก็สามารถตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก ภายใต้คอนเซปท์ จักรวาลง่ายนิดเดียว ออกมาจนได้ในปี 1988
หนังสือเล่มนั้นคือ A Brief History of Time - ประวัติย่นย่อของกาลเวลา เป็นหนังสือที่อธิบายศาสตร์จักรวาลวิทยาด้วยภาษาเรียบง่าย สอดแทรกอารมณ์ขัน สะท้อนการมองโลกในเชิงบวกของฮอว์กิ้ง เป็นหนังสือที่ติดอันดับหนังสือขายดีนานถึง 10 ปี มียอดพิมพ์มากกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก และถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 35 ภาษา
1
ผลงานของฮอว์กิ้ง ทำให้วิทยาศาสตร์ ด้านจักรวาลวิทยา กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลัก มีผู้คนเริ่มสนใจมากยิ่งขึ้น หลังจากความสำเร็จติดลมบนของหนังสือเล่มแรก ฮอว์กิ้งยังเขียนหนังสือออกมาอีกหลายเล่ม ที่มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วบางส่วนก็มีดังนี้
- The Universe in a Nutshell - จักรวาลในเปลือกนัท
-On the Shoulders of Giants - บนบ่าของยักษ์ใหญ่
การทำงานในชีวิตของฮอว์กิ้งเต็มไปด้วยเรื่องน่าตื่นเต้น และความท้าทาย ฮอว์กิ้งไม่เคยหยุดตามล่าสิ่งที่เขาค้นหา หลายคนอาจจะมองว่าฮอว์กิ้งมีสติปัญญาเหนือมนุษย์ที่น่าทึ่ง แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าความอัจฉริยะของเขาหลายเท่านั้นคือพลังใจในการใช้ชีวิตของเขาต่างหาก
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮอว์กิ้งได้ฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีเพื่อนศาตราจารย์มาร่วมอวยพรวันเกิดเขามากมาย ฮอว์กิ้งในวัย 70 ยังคงมีแววตาแจ่มใส มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเขาจะสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อร่างกายภายนอกเกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พอจะขยับได้เล็กน้อยมีเพียงซีกแก้มเท่านั้น
แต่เพื่อนร่วมงานยังคงสัมผัสได้ว่าในสมองของฮอว์กิ้งยังคงจินตนาการไกลถึงทฤษฎีในเอกภพอันไกลโพ้น และยังสามารถกล่าวปาฐกถากลางหอประชุมได้อย่างกระตือรือร้น และมีความสุข ราวกับความผิดปกติในร่างกายของเขาเป็นเพียงเรื่องโกหก
1
และแล้ว สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ก็ได้จากไปอย่างสงบในบ้านพักของเขาที่เคมบริดจ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2018 ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ เพราะวันที่ฮอว์กิ้งเสียชีวิต คือวันคล้ายวันเกิดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์พอดี (ไอน์สไตน์เกิด 14 มีนาคม 1879)
เกิดในวันตายของกาลิเลโอ
ตายในวันเกิดของไอน์สไตน์
1
ชีวิตของฮอว์กิ้งนั้นเรียกได้ว่า เหนือปาฏิหารย์จริงๆ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า
"There are only two ways to live your life. One is as though nothing is a miracle. The other is as though everything is a miracle."
"คนเรามีวิธีการใช้ชีวิตอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือให้ใช้ชีวิตโดยคิดว่าโลกนี้ไม่มีปาฏิหารย์ หรือไม่ก็เชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคือปาฏิหารย์"
แต่สำหรับฮอว์กิ้ง ชีวิตของเขาคือปาฏิหารย์ที่สร้างด้วยพลังใจของตัวเองอย่างแท้จริง เหมือนพระเจ้าที่ไม่ได้สร้างจักวาลจากการทอยลูกเต๋า ฉันใดก็ฉันนั้น 😀
1
Space, here I come. - สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง. 2007.
2
ตามรอยจักรวาลในเปลือกนัทตอนที่1
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรม Wikipedia
โฆษณา