16 มี.ค. 2020 เวลา 14:27
6 นาทีแห่งความผิดพลาด สู่ความ พัง พังมาก พังที่สุด
ออกตัวก่อนว่า นี่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะของคนทำงานโปรดักชั่นทีวีแบบผม ไม่ได้มีความคิดจะโจมตีใคร แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ชิ้นงานหนึ่งชิ้นที่ถูกผลิตออกมาสู่สายตาประชาชน ด้วยเงินภาษีของประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ
ก็คงจะได้รับชมไปแล้วสำหรับแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาพูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกไปในทิศทางคล้ายๆ กันคือ เราได้อะไรจากแถลงการณ์นี้บ้าง?
ขอแสดงความเห็นเป็นส่วนๆ สำหรับงานโปรดักชั่นของคลิปวีดีโอนี้ โดยผมจะใช้คำศัพท์ในงานโปรดักชั่นเรียกในแต่ละจุดที่จะแสดงความเห็น โดยมีทั้งหมด 4 จุดคือ สคริป ฉาก แอคติ้งโค้ช และนักแสดง เพื่อให้เกิดการมองภาพตามอย่างเข้าใจง่ายๆ
1. สคริป = บทที่ใช้ในการพูด ซึ่งสิ่งที่ผู้ชมได้ยินมาตั้งแต่ต้นจนจบนั้นก็คงกำลังหาคำตอบว่า ที่พูดมาทั้งหมด สรุปใจความสำคัญของเรื่องคืออะไร? เพราะผู้ชมทุกคนต่างรอดูว่าสิ่งที่นักแสดงสื่อสารออกมา มันจะต้องมีประโยชน์อย่างมาก หรือต้องรู้สึกพิเศษจริงๆ เพราะมันคือแถลงการณ์จากนักแสดงเบอร์ใหญ่ที่โผล่มาในช่วงเวลาไพร์มไทม์ 19.00 น. เช่น มาตรการที่ชัดเจนเด็ดขาด หรือการยืนยันสถานการณ์ ยกตัวอย่างคือ คำสั่งปิดกรุงเทพฯ ตั้งแต่เที่ยงคืนนี้เป็นต้นไป หรือเราพบวัคซีนที่ทำงานได้ 100% แล้ว เป็นต้น เพราะการที่นักแสดงเบอร์ใหญ่ระดับนี้ออกมาเล่นเอง ไม่ควรที่จะออกมาพูดสคริปธรรมดาๆ ที่ทุกคนต่างก็พูดกันทุกๆ วัน เพราะมันคือสิ่งที่สังคมเฝ้าจับตารอ
ดังนั้นถ้านี่คือละครหรือภาพยนตร์ ก็นับเป็นผลงานที่บทอ่อนมาก และเล่นด้วยนักแสดงที่ตีบทไม่แตก ไม่เข้าใจบทที่แสดง ซึ่งในเมื่อในบทไม่มีประเด็นอะไรที่สำคัญมากเพียงพอที่จะให้คนดูรู้สึกว่ามันต้องฟังนะมันก็ไม่ต่างอะไรที่จะเอาใครก็ได้มาพูดแทน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบทแบบนี้ถูกปล่อยให้ผ่านออกมาได้อย่างไร ผ่านการตรวจพิจารณาจากบุคคลที่ทำงานระดับใกล้ชิดนักแสดงเบอร์ใหญ่คนนี้ได้อย่างไร เพราะผลตอบกลับก็คงเป็นอย่างที่หลายคนวิจารย์กันไป ซึ่งตรงนี้ผมขอไม่ย้ำก็แล้วกัน
2. ฉาก = ความผิดพลาดข้อต่อมาคือพื้นหลัง ที่ทำออกมาแล้วดูประดักประเดิดไปหมด ฉากที่ออกมาดูเป็นงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์มากกว่าใช้เพื่อแถลงการณ์ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ พื้นหลังสีฟ้า แล้วมีกราฟฟิกลายเส้นต่างๆ ที่สื่อไปถึงความเป็นงานวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการใส่สัญลักษณ์อะไรที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น สมอเรือ สัญลักษณ์กัมมันตรังสี หรือกล้องถ่ายรูป ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันธ์ใดๆ ต่อบริบทของเนื้อหาเลยแถมเป็นฉากที่ดาวน์โหลดมาทางอินเทอร์เน็ตด้วย จริงๆ ก็ไม่ผิดแหละถ้าโหลดมาอย่างถูกลิขสิทธิ์ แต่แค่มันดูไม่ใช่เท่านั่นเอง หรือแม้แต่ภาพที่เป็นลักษณะเหมือนหยดน้ำกระจายๆ ที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงไวรัส ก็ไม่ได้สื่อออกมาว่าเป็นไวรัส ดังนั้นทุกๆ อย่างมันเลยดู “หัวมังกุท้ายมังกร” ไม่มีอะไรเข้ากันไปหมด
ถ้าให้ผมแนะนำเรื่องฉาก ผมจะขอแนะนำว่า ยืนฉากปกติเรียบๆ แบบฉากที่ยืนแถลงข่าวทั่วไปยังจะดูดีเสียกว่า และไม่ต้องเล่นลวดลายอะไรมาก เพราะมันจะดูทางการ น่าเชื่อถือ และเป็นมืออาชีพมากกว่า
3. แอคติ้งโค้ช = ในที่นี้อาจจะหมายถึงผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ หรือเลขาฯ ของนักแสดง เพราะก่อนมายืนหน้าเซตเพื่อบันทึกเทป จะต้องมีการพูดคุย ซักซ้อม หรือทำความเข้าใจในบทบาทก่อนว่า ท่าทางแบบไหนที่แสดงออกมาแล้วมันดูน่าเชื่อถือ เพราะสิ่งที่นักแสดงกำลังแสดงไปตามบท มันผิดเพี้ยนไปหมด การเริ่มต้นเข้ามาด้วยการยิ้ม ทั้งๆ นี่เป็นเนื้อหาการแถลงที่ควรจริงจัง นิ่งๆ ดูสุขุม น่าเชื่อถือ และสิ่งที่เป็นความผิดพลาดมากที่สุดก็คือ คำพูดและท่าทางตอนจบ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกบรีฟมาให้ทำ หรือนักแสดงคิดและใส่เข้าไปเพื่อให้ได้ซีน แต่จะบอกว่าซีนของคุณแย่มาก เพราะการใช้ภาษากายแบบนั้นมันทำให้ทุกอย่างที่พูดมาดูอ่อนอยู่แล้ว ยิ่งติดลบไม่มีค่าไปเลย
เพราะในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่ผู้ชมต้องการเห็นมากที่สุดคือ การแสดงภาวะผู้นำที่จริงจัง ไม่เล่น เพราะการเล่นมันไม่ได้ทำให้เกิดความน่าเอ็นดู เพราะนักแสดงคนนี้ก็ไม่ใช่เด็กๆ ซึ่งผลของการแสดงสีหน้าท่าทางออกมาอย่างไม่ถูกต้อง กลายเป็นผลสะท้อนกลับมาในด้านลบแทน ก็คงจะโทษใครไม่ได้ เพราะคนที่เป็นผู้กำกับปล่อยผ่านออกมาแบบนั้นเอง นักแสดงก็โดนเละไป
4. นักแสดง = ในเมื่อละครเรื่องนี้ต้องใช้นักแสดงคนนี้เท่านั้น มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ เพราะนักแสดงเบอร์ใหญ่คนนี้ ความนิยมในสายตาประชาชนลดลงไปแล้ว แต่ด้วยบทบาทที่เปลี่ยนไม่ได้ มันก็จำเป็นต้องให้เขาแสดงต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้ในการกู้คะแนนนิยม สร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง และทีมงานทั้งหมดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ด้วยปัจจัยทั้ง 3 ข้อที่ไม่เอื้อต่อการแสดงได้อย่างมืออาชีพ นักแสดงก็จำเป็นต้องแบกละครทั้งเรื่องไว้ทั้งหมด จนผลออกมาก็เป็นอย่างที่เห็น
อีกอย่างก็คือ นักแสดงอาจจะไม่แม่นเรื่องท่องบท ทำให้มีบางจุดรู้เลยว่ามีการตัดต่อ ไม่ใช่การแถลงสดๆ เพราะมันมีช่วงที่ภาพกระโดด หรือในภาษาโปรดักชั่นเรียกว่า “ภาพเจิ๊ก” ซึ่งทำให้คนดูรู้เลยว่ามันคือการอัดเทปไว้ก่อนแล้วค่อยมาออนแอร์ทีหลัง ซึ่งยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงไปอีก รวมทั้งการท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ด้วยเสียงโมโนโทนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา มันเลยทำให้คนชมหรือฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดอะไร เพราะไม่สามารถจับใจความได้เลย และการฆ่าตัวตายต่อหน้าสาธารณะชนก็คือการแสดงท่าทางที่ผิดที่ผิดทาง ผิดเวลา ยิ่งตอกย้ำความไร้คุณค่าของแถลงการณ์นี้อีกด้วย
สำหรับผมแล้ว คลิปวีดีโอสด(หลอก) เรื่องนี้ถือว่าสอบตกงานโปรดักชั่นในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่กระบวนการเลือกประเด็น เขียนบท ถ่ายทำ กำกับภาพ องค์ประกอบศิลป์ และนักแสดง ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ เพราะแทนที่คลิปวีดีโอนี้จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลับกลายเป็น "พลิกวิกฤติเป็นพินาศ" แทน และก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นบทเรียนหรือไม่ในการทำงานของทีมงานสำนักนายกฯ เพราะสิ่งที่ทำออกมานั้น มันคือการสื่อสารสู่สาธารณะชนในสภาวะวิกฤติ แต่ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ผ่อนคลาย หรือสร้างความมั่นใจใดๆ ได้เลย
**ทำไมภาพลักษณ์ถึงสำคัญ**
การที่ผู้นำระดับประเทศจะออกมาพูดหรือแถลงการณ์อะไร นั่นคือเรื่องที่ต้องมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการออกมานอกเวลาปกติ ประชาชนก็คาดหวังจะได้ยินอะไรที่มีชัดเจน ประเด็นนี้อาจต้องมองไปถึงทีมงานหลังบ้านทั้งหมดด้วย เพราะถ้าทีมงานทั้งหมดเตรียมการดี ทำออกมาได้ดี ก็จะเป็นการเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของคนหน้าฉาก
ทำไมผู้นำองค์กรต่างๆ หรือผู้นำในประเทศต่างๆ เวลาเราดูเขาแถลงการณ์ เราถึงชื่นชมคนเหล่านั้นได้ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ดีเวอร์เกินไปกว่าที่คนทั่วไปทำได้ ก็เพราะว่าทุกอย่างมันผ่านกระบวนการคิด วางแผนไว้อย่างละเอียดหมดแล้ว ทุกกระบวนการที่รวมไปถึงเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ก็ถูกจัดไว้อย่างตั้งใจ ไม่ใช่จะใส่อะไรก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ใส่เสื้อเชิ้ตสีชมพู ไม่ใส่สูท ดูเหมือนเป็นคุณลงธรรมดาๆ แต่จริงๆ แล้วทีมพีอาร์ที่ดูแลภาพลักษณ์ ได้คิดเอาไว้แล้วว่าต้องการคอนเซ็ปให้ดูเข้าถึงง่ายๆ สบายๆ ไม่ทางการมาก แต่ข้อมูลต้องดี แน่น ชัดเจน ตรงไปตรงมา วางใจได้ ภาพลักษณ์ที่ออกมาจึงดูดี แม้จะดูเรียบง่ายก็ตาม
ภาพลักษณ์มันสำคัญมาก เพราะมันคือสิ่งที่จะทำให้คนที่มองมารู้ว่ามันน่าเชื่อถือหรือไม่ พวกจุดเล็กๆ น้อยๆ มันช่วยเสริมบุคลิกทุกๆ มิติ ที่จะทำให้คนดูสนใจหรือเบือนหน้า และมันค่อนข้างสำคัญมาก ไม่อย่างนั้นผู้นำทั่วโลกก็คงจะไม่แคร์เรื่องภาพลักษณ์กันหมดแล้ว
การวิจารณ์บนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่การทำลายความตั้งใจ แต่ในเมื่อมันมีจุดบกพร่องตรงไหนก็ต้องบอกกัน รู้ว่าทุกคนเหนื่อย ผมเองก็เหนื่อย เพราะผมก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์โควิด แต่ถ้าเหนื่อยมันต้องออกมาดี ให้สมกับที่เหนื่อย มันก็คุ้มค่าไม่ใช่เหรอ
ทั้งนี้การให้กำลังใจคนทำงานก็คือเรื่องหนึ่ง แต่ให้กำลังใจได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะวิจารณ์ไม่ได้ เพราะอะไรที่มันควรจะดีได้ มันควรดี ซึ่งถ้ามันดีได้ผลดีก็เกิดขึ้นกับทั้งต่อการทำงานและต่อประชาชน ฉะนั้นอย่าความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด มาเป็นบรรทัดฐานในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตชน แล้วบอกว่าชมคืออวย ไม่ชมคือเกลียด โลกนี้มันมีที่ยืนตรงกลางเสมอ
โฆษณา