17 มี.ค. 2020 เวลา 04:34
ความต่าง ของ นักลงทุน และ นักเก็งกำไร
ช่วงวิกฤตโลกในเวลานี้ ทำให้ผมนึกถึงคำ 2 คำที่มีการใช้นิยามคนที่เข้ามาในตลาดการเงิน คือ คำว่า "ลงทุน" กับ คำว่า "เก็งกำไร" ซึ่งคำหลังความหมายอาจรวมไปถึง "พนัน" ด้วย
วิธีคิดของนักลงทุนแบบระยะยาว และนักลงทุนแบบเก็งกำไร เป็นอย่างไร มีผู้สรุปไว้สามารถดูจากภาพครับ วิธีคิดที่ต่างย่อมนำไปสู่วิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน
www.pexels.com
สำหรับคนที่จัดอยู่ในประเภทนักลงทุน ผมขอนำบทความบนสื่อต่างๆ ที่ผมได้อ่านในวันนี้รวม 3 เรื่องมาพูดในบทความนี้นะครับ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความเสี่ยงที่เป็นระบบที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ (Market Risk) เป็นความเสี่ยงที่มักแสดงผลในช่วงวิกฤตการทุกครั้ง
บทความแรกโดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนสาย VI ที่ลงในสื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง (ขออนุญาตให้เครดิตแบบไม่ระบุชื่อนะครับ ใครที่ได้อ่านบทความเดียวกันคงทราบว่าคือสื่อไหน)
ดร. นิเวศน์ เล่าย้อนให้เห็นถึงวิกฤตการทางการเงินตั้งแต่ 40 ปีก่อน เริ่มจาก วิกฤต "ราชาเงินทุน" "Black Monday" "สงคราอ่านเปอร์เชีย" "ต้มยำกุ้ง" "ซับไพร์ม" จนมาถึงวิกฤตจาก "โควิด-19" ในขณะนี้ ซึ่งวิกฤตครั้งนี้เราได้ทราบจากบทความและนักวิเคราะห์มาสักพักแล้วถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจต่างๆ และย่อหน้าสุดท้าย ดร. นิเวศน์ ก็ปิดท้ายบทความว่า ประวัติศาสตร์ของวิกฤตการที่ผ่านมาบอกว่าเมื่อปัญหาผ่านไปทุกอย่างก็จะกลับฟื้นขึ้นมาอยู่ที่จะช้าหรือเร็ว ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรโควิดก็จะจากไปและโลกก็จะฟื้นตัวกลับมา และสำหรับ ดร. นิเวศน์ นี่เป็นเวลาซื้อหุ้น
บทความที่สอง พูดถึงการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษที่จะใช้วิธี Herd Imunity ในการรับมือวิกฤติการไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดในอังกฤษ ซึ่งมาจาก 2 เหตุผล คือ
1. ความพร้อมและความสามารถในการรักษาพยาบาลทั้งด้านการแพทย์และงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถเทียบกับจีนที่รักษาคนป่วยทุกคน
2. ผลการศึกษาอัตราการตายและลักษณะของโรค ซึ่งคาดว่าในอังกฤษอาจมีอัตราเสียชีวิต 5% และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เท่านั้น
ผลการศึกษาทำให้เห็น 3 แนวทางการรับมือ และพบว่าหากชะลอการระบาดไปเรื่อยๆ จะทำให้มีผลกระทบกับประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจประมาณ 2 ปี แตถ้าหากให้เกิดการระบาดใหญ่จนคนมีภูมิก็จะแก้ปัญหาในระยะยาวและไม่มีปัญหาด้านงบประมาณ เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในปลายไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป และอังกฤษบอกว่าจะเลือกใช้วิธีนี้
บทความที่สาม พูดถึงผลกระทบของธุรกิจต่างๆ และคาดว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมน่าจะมีธุรกิจปิดตัวหรือล้มละลายจำนวนมากทั่วโลก
ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ข้อมูลจาก 3 บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เป็นนักลงทุนที่ในเวลานี้เปรียบเหมือนเรือที่กำลังเผชิญพายุลูกใหญ่ท่ามกลางมหาสมุทร และกำลังใช้ความสามารถเต็มที่เพื่อผ่านพ้นพายุไปให้ถึงเป้าหมายครับ
ขอปิดท้ายด้วยข่าวเก่าตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่กำลังเกิดในเวลานี้อาจเป็นคำตอบว่าทำไมกูรู VI ผู้นี้ถึงถือเงินสดมากมายในช่วงที่ผ่านมา และตอนนี้คำถามที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็คือ เขาจะเริ่มใช้เงินที่มีอยู่ในมือเมื่อไหร่
ขอบคุณที่อ่านจนถึงย่อหน้าสุดท้าย บทความนี้ไม่ได้ชี้นำอะไรเพราะเชื่อว่าทุกคนต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการตัดสินใจครับ
สุดท้ายขออวยพรให้กัปตันเรือทุกคนผ่าพายุนำเรือของตนไปถึงจุดหมายที่ต้องการครับ
โฆษณา