17 มี.ค. 2020 เวลา 09:50 • ธุรกิจ
“ผลกระทบของการทุบดอกเบี้ยจนเหลือ 0%”
สรุปบทความล่าสุดจาก Ray Dalio
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐหั่นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์จาก 1% เหลือ 0%
รวมกับการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องอีก 22.4 ล้านล้านบาท
1
เรย์ ดาลิโอ นักคิดระดับโลกผู้เขียนหนังสือขายดี Principles
ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านบทความ
“The Implications of Hitting the Hard 0% Interest Rate Floor”
เรย์ ดาลิโอย้ำว่าเขาไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลยในสภาวะตลาดแบบนี้
เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่มันแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ที่ผ่านมา
เรย์ ดาลิโอมีความกังวลว่าเศรษฐกิจตกต่ำรอบต่อไป
จะนำพาเราไปสู่การทำให้ดอกเบี้ยเหลือ 0%
และโลกของเราก็ยังมีหนี้มหาศาลในระบบ
ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครอง
ในลักษณะเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930
ดาลิโอประหลาดใจเช่นกันว่า โคโรนาไวรัสกลายมาเป็นสาเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำในรอบนี้
ในขณะที่โคโรนาไวรัสสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง แต่เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวกลับไม่ได้ทำให้เรย์ ดาลิโอหวาดกลัว
3
แต่เมื่อมันรวมเข้ากับอัตราดอกเบี้ย 0% มันกลับทำให้เรย์ ดาลิโอกังวล..
การลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดพื้นจนเหลือ 0%
หมายความว่ามูลค่าสินทรัพย์ทุกประเภทมีโอกาสร่วงลง
และผลกระทบเชิงบวกของการลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0%
ยังหมายความว่าเครื่องมือกระตุ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทุกประเทศก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว
การพิมพ์ธนบัตรและการไล่ซื้อตราสารหนี้ก็ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน..
เหตุผลก็เพราะว่าพันธบัตรไม่สามารถถูกดันขึ้นไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว และมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะถูกขายเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์อื่นๆ ของหน่วยงานที่กำลังประสบปัญหา
สิ่งที่ตามมาภายหลังอัตราดอกเบี้ย 0% ก็คือ..
ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบ หรือที่เรียกกันว่าเงินฝืด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินฝืด ก็คือ
ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง
เศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาเรื่องสินเชื่อ
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การช่องว่างของ Credit Spreads ที่จะกว้างขึ้น
Credit Spreads ก็คือส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระหว่างตราสารหนี้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล
Cr. See It Market
เมื่อส่วนต่างมากขึ้น
ภาระการจ่ายดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงขึ้น
ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อลดลงในที่สุด
เรื่องนี้จะส่งผลให้
สภาวะการปล่อยสินเชื่อตึงตัว
เกิดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
และการเติบโตติดลบ..
เรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อ mark to market หรือ วัดมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด หลังจากที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลกลดลง จะมีบางบริษัทที่อยู่ไม่ได้
สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกันที่มีหนี้สินระยะยาว
บริษัทเหล่านี้จะไม่มีเงินเพียงพอต่อภาระหนี้สินในระยะยาว
สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน (ทั้งที่เป็นประเทศและบริษัท)
ค่าใช้จ่ายจะมีมูลค่ามหาศาลมากกว่ารายได้
แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร?
อีกหลายบริษัทกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันนี้
ราคาตลาดที่ลดลงของสินทรัพย์ต่างๆจะกลายมาเป็นความกังวลอย่างจริงจัง
แต่เดิมนักลงทุนส่วนใหญ่และธุรกิจอยู่ในสภาวะผู้ซื้อ การถือสินทรัพย์เพื่อหวังว่าราคาในอนาคตจะเพิ่มขึ้น และผู้ซื้อโดยส่วนใหญ่กู้เงินมาซื้อ ซึ่งการกู้มาซื้อจะได้รับผลกระทบหนักกว่ามาก ถ้ามูลค่าสินทรัพย์ลดลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า เศรษฐกิจที่ผลกระทบต่อตลาด
ด้วยเหตุผลนี้ การคำนวณว่าใครกำลังมีสถานะอะไรอยู่ในตลาด และกำลังจะทำอะไรกับสถานะนั้น เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ใครจะตัดค่าใช้จ่าย ใครจะขายสินทรัพย์
สิ่งที่จำเป็นกับสถานการณ์ตอนนี้ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น..
เรย์ ดาลิโอมองว่า ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ มาจากผู้บริหารประเทศจัดการสถานการณ์นี้ได้ไม่ดีพอ..
เพราะสำหรับวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่นี้
มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเราต้องจัดการอย่างไร รวมถึงต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ
ซึ่งถ้ามีปัจจัยเรื่องความแตกแยกทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็จะทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก
แม้ว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังจะถูกนำมาใช้บ้างแล้ว
แต่ยังไม่เพียงพอต่อการถอนพิษจากการแพร่กระจายของไวรัสที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้
และนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้
ในสหรัฐอเมริกา:
จนถึงตอนนี้ การตอบสนองของนโยบายด้านการคลังและการเงินของสหรัฐอเมริกามาช้าและน้อยเกินไป
แต่ตอนนี้พวกเขา กำลังเข้าสู่ภาวะ “ยอมทำทุกอย่าง”
จนถึงตอนนี้งบประมาณการคลังที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ
3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน, ชุดตรวจโรค และการรักษาอื่น
2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับศูนย์ควบคุมและป้องโรค
1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัสในต่างประเทศ
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์, การเตรียมการทางด้านสาธารณสุข และศูนย์ชุมชน
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับช่วยเหลือ SME ด้านเงินกู้
500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบริการการรักษาทางไกล
300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการส่งมอบวัคซีนไปยังประชาชนด้วยต้นทุนที่ต่ำสุดหรือไม่มีเลย
ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องการลดภาษีเงินได้ ซึ่งก็ไม่น่าใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
มันเหมือนการลดภาษีในช่วงปี 2011-2012 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.6% ของ GDP
(โดยหากเป็นปัจจุบันจะคิดเป็นประมาณ 0.75% ของ GDP)
อย่างไรก็ตาม เราได้ยินประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุนให้ยกเว้นภาษีจนถึงช่วงหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน (เรื่องนี้ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะครอบคลุมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
Cr. The New York Times
แผนนี้มีโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก ส.ส.จากเดโมแครต รวมถึง ส.ส.รีพับลิกันบางคนไม่เห็นด้วย
เพราะการลดภาษีเงินได้ ไม่ส่งผลดีต่อกองทุนประกันสังคม และเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ อาจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่า มันจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดหรือไม่
เพราะสิ่งแรกที่ทรัมป์คิดตอนนี้คือ “การได้รับเลือกตั้ง”
และการที่เขาต้องการได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง เขาจึงยอมทำทุกอย่าง
ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านภาษี
สำหรับตอนนี้ เรย์ ดาลิโอ มองว่า สหรัฐอเมริกายังไม่มีมาตรการที่มาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
แม้ว่าจะทำทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ทั้งหมดก็ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับกลางเท่านั้น
เพราะฝั่งที่ต้องการความช่วยเหลือมากสุดตอนนี้คือ “ปัญหาหนี้สินและเศรษฐกิจ”
ซึ่งเรย์ ดาลิโอมองว่ามาตรการที่ออกมา ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้
ตอนนี้ยังไม่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรมมากพอ
ดังนั้นวิธีที่ดีสุดที่เป็นไปได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่
โดยเฉพาะกับบริษัทที่กู้เต็มวงเงินกับธนาคารแล้ว
แม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารต้องการ แต่ก็เป็นหนึ่งวิธีที่เงินจะไหลเข้าสู่ธุรกิจที่มีปัญหา
เรย์ ดาลิโอ เรียกวิธีการนี้ว่า “โปรแกรมป้องกันเงินให้กู้ยืม”
โดยให้ธนาคารกลางสหรัฐจัดหาเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำมาก รวมถึงการปกป้องธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อเหล่านี้
แม้ว่าการนำเงินไปให้กับบริษัท จะไม่ใช่งานที่เหมาะสมของธนาคารกลาง
แต่มันก็ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับธนาคาร
เพื่อจะนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยกู้กับผู้ที่ต้องการ
โดยสิ่งที่ผู้คุมนโยบายต้องทำก็คือ การป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทที่มีวงเงินกู้กับธนาคารอยู่แล้ว
ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังมีช่องว่างอยู่ และจะทำให้เกิดต้นทุนที่สำคัญตามมา
เรย์ ดาลิโอ กล่าวว่าเขาไม่รู้ว่าประธานาธิบดีหรือผู้กำหนดนโยบายการคลังได้ตรวจสุขภาพทางการเงินของหลายๆ บริษัทหรือไม่ แต่เขาเป็นกังวลมากว่า จำนวนหนี้สินในบริษัทเหล่านี้กำลังเป็นปัญหา และกำลังจะทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
เราอาจคาดได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะคงดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ว่าจะอยู่ในภาวะล้มละลาย
เรื่องนี้จะส่งผลด้านลบ เพราะนโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพ และความเปราะบางทางการเมือง
ซึ่งถ้าบริหารจัดการไม่ดี เรื่องนี้ย่อมกลายเป็นปัญหาด้านการเมืองและสังคมที่ยิ่งใหญ่
สำหรับทรัมป์ เรย์ ดาลิโอก็รู้สึกเห็นใจ
โดยเฉพาะเมื่อข่าวเพิ่มความรุนแรง ในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
แต่เขาก็ยังคาดหวังนโยบายที่ดีสุดสำหรับประเทศอยู่
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ เรย์ ดาลิโอมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐได้ทำสิ่งที่สามารถทำได้ไปหมดแล้ว
โดยยังไม่เข้าสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 3”
ขั้นแรกคือ (และเป็นสิ่งที่ควรทำ) การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระบบการเงิน เรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 1”
เมื่อวิธีนี้เริ่มไม่ได้ผลจึงเริ่มใช้ “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 2” ซึ่งก็คือการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
และถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายขาดดุลมากๆ และรัฐบาลต้องออกพันธบัตรขายให้ธนาคารกลาง (และหลังจากนั้นรัฐบาลก็นำเงินมาใช้จ่าย) ซึ่งนี่เองที่เรย์ ดาลิโอเรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 3”
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในวงจรหนี้ระยะยาว และเราต้องรอดูต่อไปว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินและการคลัง จะร่วมมือกันแก้ปัญหาได้หรือไม่
ซึ่งในมุมมองของเรย์ ดาลิโอ ทางที่ดีสุดคือการสนับสนุนธนาคาร ให้ความปลอดภัยด้านการเงิน
เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่ต้องการมันมากที่สุด
ในส่วนของยุโรป:
ทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็จะมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะกฏระเบียบด้านการคลัง
ดังนั้นนโยบายทางการคลังเวลานี้จะเน้นในการช่วยเหลือ บริการด้านสุขภาพต่างๆ และธุรกิจภาคส่วนอื่นๆที่กำลังเดือดร้อนในเวลานี้
โดยมีมาตรการในการลดภาษีและค่าธรรมเนียม รวมไปถึง ให้เงินชดเชยช่วยเหลือ และมาตรการอื่นๆสำหรับกลุ่มธุรกิจที่กระทบหนัก เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง และยานยนต์
โดยล่าสุดทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็เพิ่งเสนอการอัดฉีดเงินกว่า 25,000 ล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะชัดเจนขึ้นหลังจากการประชุมในวันที่ 16 มีนาคมนี้
แต่เรย์ ดาลิโอเชื่อว่า ท้ายที่สุดหลายๆประเทศใน EU จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศตัวเองอยู่รอด
และเมื่อถึงจุดนั้น ECB ก็อาจช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่เพราะมีข้อจำกัดอยู่มาก
Cr. Wikipedia
อย่างในตอนนี้ที่ต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ก็ต้องออกขายพันธบัตรอีกจำนวนมากเช่นกัน (กู้เพิ่ม) ซึ่งหาก ECB ไม่ซื้อพันธบัตร ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนั้นสูงขึ้น
แต่ ECB เองก็ไม่มีอำนาจในการลดดอกเบี้ยแล้ว และยังไม่สามารถซื้อพันธบัตรคืนตามปริมาณที่ต้องการได้อีกด้วย
และถึงแม้ ECB จะไม่ได้ออกมาแถลงปัญหานี้ตรงๆ แต่จากการกระทำในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ดูจะพูดแทนทั้งหมด เพราะ ECB ก็ไม่ได้มีการประกาศลดดอกเบี้ย โดยคงไว้ที่ -0.5% เหมือนเดิม แต่ก็มีนโยบายบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส โดยการทยอยซื้อพันธบัตรคืนมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านยูโรภายในสิ้นปี และยังมีนโยบายปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารต่างๆ ในอัตรา -0.75%
และนี่ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ ECB ทำได้เพราะปรับดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ (ต่ำกว่า -0.5%) อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
โดยตอนนี้ประธาน ธนาคารกลางยุโรปก็ได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือนโยบายการคลัง และมันจะเห็นผลมากกว่านี้หากรัฐบาลให้ความร่วมมือกับพวกเขามากขึ้นด้วย โดยให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะยังให้ธนาคารต่างๆปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
และบททดสอบต่อไปก็คือ การตัดสินใจว่าจะเพิ่มขีดจำกัดในการซื้อคืนพันธบัตรหรือไม่เพื่อพยุงอัตราดอกเบี้ยและ ลด Credit Spread ลง เพราะมันจะช่วยซื้อเวลาในการเยียวยาไปได้อีก แต่มันก็อาจจะยังไม่พอในระยะยาว
ในอิตาลี:
เริ่มมีนโยบายอย่างการลดภาษีในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การลดภาษี ช่วยเหลือสวัสดิการด้านสุขภาพ หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่มีรายได้ลดลง 25%
ซึ่งเรย์ ดาลิโอคิดว่านี่เป็นไอเดียที่ดีและหลายๆประเทศควรนำไปปรับใช้ในประเทศของตน
นอกจากนี้ทางอิตาลีก็ยังเตรียมนโยบายอื่นๆเช่น ดึงให้ต่างชาติมาลงทุน ซึ่งจะพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตามรัฐก็มีแผนที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ยิ่งขาดดุลงบประมาณมากขึ้นไปอีก
ซึ่งถึงแม้ธนาคารกลางยุโรป จะให้ความยืดหยุ่นแล้วแต่การกู้จำนวนมากขนาดนี้ก็จะทำให้อิตาลีนั้นยิ่งมีภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจาก ธนาคารกลางยุโรปต่อไป
และก็ต้องมาติดตามต่อไปว่า ทางรัฐบาลของอิตาลีจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ในเยอรมนี:
ชาวเยอรมันมีนิสัยประหยัดอดออม ซึ่งพวกเขาไม่ได้พิมพ์เงินและก่อหนี้มากเท่าไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเดินเข้าสู่ภาวะ “ยอมทำทุกอย่าง” เช่นกัน
จากแถลงของกระทรวงการคลัง “รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจและดำเนินการอย่างจริงจังในการต้านทานผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Coronavirus”
รัฐบาลได้พยายามสร้างเกราะปกป้องพนักงานและบริษัทต่างๆ ซึ่งเป้าหมายคือให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องและผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี พวกเขาได้เริ่มแผนงานบางอย่างซึ่งเฉพาะเจาะจง และในอนาคตก็จะขยายให้กว้างขึ้น
มาตรการเหล่านี้รวมถึงการลดชั่วโมงการทำงาน และค่าตอบแทนจากชั่วโมงที่น้อยลง และจัดหาสภาพคล่องทางการเงินผ่านธนาคาร
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการยืดเวลาจ่ายภาษี และค่าปรับสำหรับการจ่ายภาษีที่ล่าช้าต้องถูกยกเลิก ซึ่งมันจะยังสามารถสร้าง “เกราะป้องกัน” สำหรับธุรกิจ
ในฝรั่งเศส:
จนถึงปัจจุบันการมุ่งเน้นไปยังความช่วยเหลือในการผ่อนชำระหนี้และการบรรเทาในรูปแบบต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือในการผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่ 70% ของหนี้ขึ้นไป การยกเลิกค่าปรับจากการชำระที่ล่าช้าในสัญญาของรัฐและภาษีต่างๆ
ฝรั่งเศสมีโครงสร้างของสถาบันที่รวมศูนย์มากกว่าเยอรมนี และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมีความเป็น อนุรักษ์นิยมทางการคลังที่ตึงเครียดน้อยกว่า
ซึ่งหมายความว่านโยบายที่ขัดขวางการช่วยเหลือในฝรั่งเศสนั้นมีความอ่อนกว่า
ทำให้รัฐบาลสามารถบังคับใช้นโยบายความร่วมมือเชิงลึกในหลายๆภาคส่วนของเศรษฐกิจ และรัฐบาลก็ตอบสนองมากขึ้นต่อเสียงร้องของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณอย่ามหาศาสของฝรั่งเศส และการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการคลังของสหภาพยุโรป (3.2% ของ GDP) ทำให้ยังไม่มีการพูดถึงมาตการกระตุ้นทางการคลัง
ในญี่ปุ่น:
การตอบสนองของรัฐบาลในทางการคลังที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ บุคคลที่ได้รับผลกระทบ และบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะใน SMEs
การใช้จ่ายล่าสุดมีมูลค่ารวม 4.5 แสนล้านเยน เช่น กองทุนคลินิกทางการแพทย์ใหม่ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองที่ถูกบังคับให้ออกเนื่องจากโรงเรียนปิด และสนับสนุน SMEs
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ให้งบพิเศษถึง 1.6 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยเหลือ SMEs และธุรกิจอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
การกระทำแบบนี้มันดูดีในสายตาของเรย์ ดาลิโอ แม้ว่าในภาพรวมมันจะยังดูชัดเจนไม่พอ
ญี่ปุ่นยังมีการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งเป็นเงิน 13.2 ล้านล้านเยน ที่ได้ประกาศไปแล้วในเดือนธันวาคม ซึ่งการใช้จ่ายจะค่อยๆนำไปใช้ในหลายๆไตรมาส
ซึ่งรัฐบาลได้รายงานว่ากำลังพิจารณาแพ็กเกจทางการคลังในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเงินประมาณ 10-20 ล้านล้านเยน ซึ่งอาจรวมถึงการแจกเงินโดยตรงให้กับหลายครัวเรือน
BoJ หรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น กำลังถูกกดดันมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือค่าเงินแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด และมีการเติบโตที่ชะลอลง
Cr. Wikipedia
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังมีความยืดหยุ่นในการเลือกซื้อสินทรัพย์ รวมถึงปริมาณของการซื้อ ญี่ปุ่นซื้อหุ้นประเภท ETFs มากถึง 1 แสนล้านเยนต่อวัน เมื่อเทียบกับอัตราก่อนหน้าอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านเยนต่อวัน
ในจีน:
จีนมีการตอบสนองจากนโยบายทางการเงินที่แม่นยำและเหมาะสมที่สุด
นั่นเป็นเพราะประเทศจีนมีขีดความสามารถ
ในการประสานนโยบายการคลังและนโยบายทางการเงิน
ที่ไร้แรงเสียดทานจากข้อพิพาททางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว
และเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด
จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้มาจากประกาศมตรการทางการคลังที่คิดเป็น
มูลค่าประมาณ 1.2% ของ GDP ทั้งประเทศไม่รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
รวมไปถึงการยกเว้น และการลดค่าใช้จ่ายทางสังคม
(เช่น เงินบำนาญขององค์กร เงินชดเชยสำหรับการว่างงาน และเงินประกัน)
ลดเงินสมทบประกันสุขภาพ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบางองค์กร
ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส
ทั้งนี้ยังมีการอัดฉัดเงินสนับสนุนระดับท้องถิ่น
ในส่วนของระดับประเทศ รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมหลายอย่าง (เช่น ชะลอการรับรู้หนี้เสียของธุรกิจธนาคาร)
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ธนาคารกลางประเทศจีนจึงมีพื้นที่
ในการวางแผนอัตราดอกเบี้ยว่าควรขึ้น-ลงอยู่ในระดับใด
เมื่อเร็วๆนี้มีการลดอัตราดอกเบี้ย ลดเกณฑ์เงินสำรองขั้นต่ำ
เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบ และเริ่มอัดฉีดเงินสนับสนุนให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนบริหารประเทศ ด้วยความรอบคอบที่ยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา
พร้อมกับนำเสนออีก 30 มาตรการ
เพื่อพยุงบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs)
เช่น การปล่อยกู้เพิ่มเติม การลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม
เหล่านี้ก็เป็นความคิดเห็นของเรย์ ดาลิโอในแง่ของภาพรวมทั้งหมด
ทีนี้ก็มาถึงบทสรุป
เรย์ ดาลิโอเชื่อว่า..
1.การทุบอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% โดยที่ขาดเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นจากนโยบายทางการคลังมหาศาล
ซึ่งต้องมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
ด้วยความร่วมมือของธนาคารกลางที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบ
2.การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มากพอทั้งในเรื่องของขนาด จุดโฟกัส และความร่วมมือ
แต่เรื่องนี้มันก็แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ
3.ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีสัญญาณจากทั้งผู้กำหนดนโยบายทางการคลังและการเงินที่เกรี้ยวกราด
เสมือนว่าพวกเขากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อเดิมพันกับนโยบายที่ออกไป
4.ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครองจะเป็นบททดสอบความสามารถของสังคม และการเมืองในการร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แต่ถ้ามันไม่ผ่านบททดสอบ
ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครอง
จะยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอยู่ให้หนักขึ้น..
โฆษณา