18 มี.ค. 2020 เวลา 01:08 • การศึกษา
มาค้นพบสไตล์การเรียนรู้ภาษาของแต่ละคนกัน!
พวกเรานักเรียนภาษาจีนคงอาจสงสัยตั้งคำถามกับตัวเองว่า
我是什么学习风格? Wǒ shì shénme xuéxí fēnggé?
สไตล์การเรียนรู้ของผม/ฉันเป็นแบบไหนกันนะ?
ก่อนจะไปถึงประเภทของสไตล์การเรียนรู้ เรามาเข้าใจคำนิยามของคำว่าสไตล์การเรียนรู้กันสักหน่อย
学习风格是学习者自然倾向于吸收、处理记忆住信息和技能的方式。学习风格与人们学习时物理感觉、与他人互动的方式以及思维方式有关。学习风格影响了我们是如何学习以及怎么学习最好。
Xuéxí fēnggé shì xuéxí zhě zìrán qīngxiàng yú xīshōu, chǔlǐ jìyì zhù xìnxī hé jìnéng de fāngshì. Xuéxí fēnggé yǔ rénmen xuéxí shí wùlǐ gǎnjué, yǔ tārén hùdòng de fāngshì yǐjí sīwéi fāngshì yǒuguān. Xuéxí fēnggé yǐngxiǎngle wǒmen shì rúhé xuéxí yǐjí zěnme xuéxí zuì hǎo.
สไตล์การเรียนรู้คือ ความโน้มเอียงตามธรรมชาติในกระบวนการดูดซับ จัดการประมวลผลข้อมูลความจำและทักษะของผู้เรียนแต่ละคน สไตล์การเรียนรู้จะผูกโยงกับความรู้สึกนึกคิดในขณะเรียนรู้ ตลอดจนเกี่ยวพันกับวิธีการใช้ความคิด และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สไตล์การเรียนรู้นี้มีอิทธิพลต่อวิธีการเรียนรู้ของเรา และการจะเรียนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกด้วย
学习风格 อาจแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ที่อยู่กับคู่เทียบ ดังนี้
1.
场独立型 (chǎngdú lìxíng) (field dependent) เรียนได้ดีเมื่อมีบริบทตัวอย่างของการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่างๆ ผู้เรียนกลุ่มนี้มักพัฒนาความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาได้ไว (เน้นสื่อสารใช้ภาษามากกว่าสนใจความเป๊ะในการใช้ภาษา)
场依存型 (chǎngyì cúnxíng) (field independent) เรียนได้ดีแบบเป็นขั้นเป็นตอน จากง่ายไปหายากตามที่ครูหรือแบบเรียนกำหนดมาให้ ผู้เรียนกลุ่มนี้มักสนใจในการเรียนแบบเน้นความถูกต้องในการใช้ภาษา (ความสนใจในการใช้ภาษาให้ถูกต้องมีมากกว่าความคล่องแคล่ว)
2.
分析型 (fēnxīxíng) (analytic) ชอบเรียนคนเดียวมากกว่าเรียนเป็นกลุ่ม เพราะต้องการปรับความช้าไวในเนื้อหาความยากง่ายด้วยตัวเองมากกว่าการถูกกำหนดโดยครูหรือแบบเรียน ผู้เรียนกลุ่มนี้มักมีความมั่นใจในตัวเองสูง
综合型 (zōnghéxíng) (global) ชอบเรียนเป็นกลุ่มมากกว่าเรียนคนเดียว เช่น ชอบเล่นเกม ทำกิจกรรมในชั้นเรียน มักมีความกระตือรือร้นที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นผู้เรียนที่ชอบเข้าสังคม
3.
审慎型 (shěnshèn) (reflective) เรียนได้ดีเมื่อได้ใช้เวลาตรึกตรอง คิดพิจารณา ทบทวนให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูดหรือเขียนเพื่อตอบคำถาม ผู้เรียนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่ชอบคิดวิเคราะห์เป็นพิเศษ
冲动型 (chōngdòng) (impulsive) เรียนได้ดีเมื่อตอบคำถามหรือตอบกลับข้อมูลแบบทันที เป็นกลุ่มผู้เรียนที่ชอบความตื่นเต้น และกล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวที่จะพูดหรือเขียนผิด เพราะถือว่าผิดเป็นครู
4.
视觉学习模式 (shìjué xuéxí móshì) (visual) เรียนได้ดีเมื่อเห็นข้อมูลภาษาผ่านการมองรูปภาพ วัสดุของใช้ สิ่งของ หรือการใช้จินตนาการเพื่อเชื่อมโยงภาษากับความคิด
听觉学习模式 (tīngjué xuéxí móshì) (auditory) เรียนได้ดีจากการฟังข้อมูลต่างๆ ผู้เรียนกลุ่มนี้มีความสามารถในการแยกแยะเสียงได้ดี ชอบฟังมากกว่าอ่าน
体验学习模式 (tǐyàn xuéxí móshì) (kinesthetic) เรียนได้ดีจากการใช้ประสาทสัมผัสทางมือหรือเนื้อตัว เช่น การจับต้องหรือสัมผัสสิ่งของ
动手操作模式 (dòngshǒu cāozuò móshì) (tactile) เรียนได้ดีจากการเคลื่อนไหวร่างกาย เก่งในการเชื่อมโยงความหมายทางภาษาโดยใช้กริยาท่าทาง
5.
生理 (shēnglǐ) (physical) การเรียนรู้มีเงื่อนไขจากสิ่งแวดล้อม เช่น แสง(ความสว่าง) อุณหภูมิ เสียง​ โต๊ะ เก้าอี้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนชอบนอนอ่านหนังสือบนเตียง​ และอาจเปิดเพลงคลอไปด้วย ขณะที่บางคนต้องไปอ่านในห้องสมุด หรือในสวนสาธารณะ
社交 (shèjiāo) (sociological) การเรียนรู้ที่ดีมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น​ ชอบอ่านหนังสือถามตอบประเด็นต่างๆ​ กับเพื่อน ชอบที่จะถามและได้ feedback จากครูผู้สอน เป็นต้น
6.
歧义容忍度 (qíyì róngrěn dù) (tolerance of ambiguity) ระดับความทนทานต่อความกำกวมในการเรียนภาษา หมายถึง ผู้เรียนบางคนจะรู้สึกสนุกที่จะค้นหาความหมายใหม่ๆ และปล่อยผ่านความหมายปลีกย่อยที่ไม่ได้แทรกแซงต่อการทำความเข้าใจ เช่น เมื่อฝึกอ่านภาษาจีนจากข่าว ผู้เรียนที่มีความต้านทานความกำกวมสูงมักจะเน้นเอาความหมายหลักที่เข้าใจ แล้วเรียนในส่วนอื่นต่อไปเพื่อแสวงหาความคล่องแคล่วในการอ่าน นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นในการเรียนค่อนข้างสูงเพราะเชื่อว่าคำตอบอาจมีมากกว่าหนึ่งคำตอบ ขณะที่ผู้เรียนที่มีความทนทานต่อความกำกวมต่ำมักต้องการทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ชอบการปล่อยผ่านเมื่อเวลาทำความเข้าใจข้อมูลใหม่ๆ กลุ่มนี้มักชอบคำตอบที่ตายตัวชัดเจน ถ้ามีการสอนในชั้นครูต้องแปลความหรือบอกความหมายให้ครบ
สไตล์การเรียนรู้เหล่านี้มีประโยชน์มากไม่เพียงแต่สำหรับครูผู้สอนที่ต้องเข้าใจสไตล์การเรียนที่หลากหลายของผู้เรียน แต่ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อพวกเราในฐานะนักเรียนภาษาจีน
อย่างไรก็ดีผู้เรียนคนหนึ่งอาจมีสไตล์การเรียนรู้ได้มากกว่าหนึ่งอย่างที่อาจมีการโน้มเอียงในสไตล์อย่างใดอย่างหนึ่งแตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะส่วนตัว ความชอบ ประสบการณ์ส่วนตัวหรือแม้แต่อิทธิพลจากครูผู้สอน
อย่างตัวผู้เขียนเองมีสไตล์การเรียนแบบ เรียนจากบริบท ไม่ชอบเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป (ชอบเรียนแบบข้ามไปข้ามมา) ชอบวิเคราะห์แต่ก็ชอบเสี่ยงตอบทันที ไม่ค่อยกลัวผิด (ผิดช่างมันค่อยแก้เอา) ผู้เขียนยังเรียนได้ดีจากการฟังมากกว่าการอ่าน ชอบเรียนอยู่คนเดียวที่บ้าน แถมยังทนทานต่อความกำกวมทางความหมายได้ค่อนข้างสูง
แล้วทุกคนละ มีสไตล์การเรียนภาษาแบบไหนกันบ้าง? ลองมาแชร์กันดูครับ^^
Ref:Principles of language learning and teaching, a course in second language acquisition, Pearson Education
โฆษณา