19 มี.ค. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
เมื่อคุณแม่ฉันแชร์ Fake news
เมื่อวานนี้ คุณแม่แชร์คลิปวิดีโอจากต่างประเทศให้ดิฉันกลางดึก ผ่านทางแอพ Line ว่า
"กินกล้วยหอมได้ เป็นยาสมุนไพร covid-19 กลัว และป้องกันได้ตามข่าว วิดีโอที่แนบมาให้ดู"
เมื่อดิฉันนั่งดูคลิปดังกล่าวจบ รู้สึกว่าโลโก้สำนักข่าวมันดูแปลก ๆ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง ใจความบอกว่า "มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่า กล้วยหอมสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้" เราก็เลยลองกูเกิ้ลดูว่า สรุปคลิปที่ได้มาเป็นข่าวปลอมค่ะ
ก่อนคลิปนี้จะมาถึงมือคุณแม่ดิฉัน คงผ่านกลุ่มไลน์เพื่อน ๆ ผู้เกษียณอายุราชการ ชมรม สมาคมต่าง ๆ เป็นร้อย ๆ พัน ๆ คน ป่านนี้บางคนอาจจะไปซื้อกล้วยหอมมาตุนไว้ หรือกินกล้วยหอมต่างข้าวอยู่ก็เป็นได้ค่ะ (นี่ขนาดคลิปเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็แปลกันได้หมด)
เรื่อง Fake news (ข่าวลวง) ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องควรระวัง เพราะกลุ่มผู้สูงวัยเป็นเหยื่อของข่าวลวง และมิจฉาชีพไซเบอร์ได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูงด้วย
สำหรับเทคนิคง่าย ๆ ในการตรวจสอบข่าวลวง ก็ลองกูเกิ้ลดูค่ะ เลือกคำที่สำคัญ ๆ ในใจความข่าวมาค้นดู เช่น
"มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่ากล้วยหอมสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้"
ค้นด้วย 3 คำ "Queensland University + Banana + Coronavirus" ผลออกมาก็ตามภาพด้านบนเลยค่ะ ฟ้องว่า False ตั้งแต่แหล่งแรกเลย
ใครมีผู้สูงวัยอยู่ที่บ้านก็ควรหมั่นสอบถาม และสังเกตดูด้วยนะคะว่า ท่าน ๆ แชร์ข่าวอะไรกันบ้าง ซื้อของออนไลน์อะไรบ้าง ถ้าพลาดซื้อมาแล้วก็พยายามเปรียบเทียบให้ว่า สิ่งที่ท่านซื้อมาเป็นของที่ได้คุณภาพหรือไม่ ซื้อมาราคาเกินจริงหรือไม่ (คุณแม่ดิฉันซื้อเครื่องกรองน้ำด้วยการดูโฆษณาออนไลน์ 1 แถม 1 โอนเงินทันที สรุปของที่ได้มาราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 3 เท่า ถึงแม้ว่าจะได้มา 2 ชิ้นก็ตาม ก็ต้องพาท่านมานั่งดูที่คอมพิวเตอร์ด้วยกันว่าที่อื่นราคาเท่าไหร่ หลังจากนั้นเวลาจะซื้ออะไรออนไลน์ก็จะถามหรือสั่งให้เราซื้อให้เสมอค่ะ)
ใครอยากทราบวิธีตรวจสอบข่าวปลอมแบบละเอียด ลองย้อนกลับไปอ่านโพสต์เก่าของดิฉันเรื่อง "ข่าวจริง หรือ ข่าวลวง รับมืออย่างไรดี" ตามลิงก์ที่ให้ไว้ด้านล่างนะคะ
โฆษณา