19 มี.ค. 2020 เวลา 12:19 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ทำไมคุณถึงคบกับคนนี้” “ทำไมคุณซื้อไอโฟนรุ่นล่าสุด” “ทำไมคุณโหวตให้พรรคพลังประชารัฐ” เหตุผลของคำถามเหล่านี้คืออะไร ทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจแบบนั้น
Petter Johansson เปิดประเด็นด้วยคำถามข้างต้น (ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ) เขาไม่เชื่อซะทีเดียวว่าคนเราจะให้เหตุผลของการตัดสินใจได้อย่างตรงไปตรงมา เขาเลยนำทีมทำการทดลองเพื่อหาคำตอบซะเลย คำถามคือแล้วจะทำยังไงดีล่ะ เขาเป็นเพียงนักจิตวิทยาการทดลอง เขาจึงไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักมายากล ให้มาช่วยออกแบบการทดลองครั้งนี้
การทดลองง่ายมาก ลองนึกภาพตามว่าคุณ Johansson จะถือการ์ดในมือ 2 ใบ ซ้ายมือ 1 ใบ และขวามืออีก 1 ใบ ในการ์ดจะมีภาพหน้าคนแบบสุ่ม สิ่งที่เราต้องทำเพียงแค่เราต้อง ‘ตัดสินใจ’ ว่าเราชอบคนไหนมากกว่า แล้วให้เหตุผลว่าทำไมถึงชอบมากกว่าอีกฝั่ง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประเด็นก็คือว่าบางครั้งคุณ Johansson แอบเล่นกลสลับเอาไพ่ที่เราไม่ได้เลือกมาให้เรา เช่น เราเลือกคุณผู้หญิงผมตรงยาวฝั่งซ้ายมือ แต่พอหงายการ์ดมากลับกลายเป็นคุณผู้หญิงผมหยิกแทน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือผู้เข้าทดลองทุกคนไม่มีใครรู้เลยว่าการ์ดถูกเปลี่ยน! แถมทุกคนให้เหตุผลต่อได้ว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกภาพนั้น ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เลือก!
อีกหนึ่งการทดลองคือคุณ Johansson พาทีมไปลงพื้นที่ทำแบบสำรวจเรื่องการเมืองตามที่สาธารณะ คำถามในกระดาษจะเป็นช้อยส์แบบวัดระดับความรู้สีก เช่น “รัฐบาลควรสอดแนมข้อมูลออนไลน์ของเราเพื่อป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศไหม” และให้ตอบลักษณะแบบสเกลเห็นด้วยมากน้อยวัดระดับ 1-10 สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมคุณ Johansson ก็แอบเล่นกลอีกรอบโดยการแอบดูว่าผู้ทำแบบสำรวจตอบฝั่งไหนแล้วก็แอบกาฝั่งตรงข้าม แล้วเอาคำตอบที่ทำขึ้นเองไปใส่กระดาษของผู้ถูกสำรวจ และถามเหตุผลต่อว่าทำไมถึงเลือกข้อนั้น คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่มักจะตอบว่าอ่านคำถามผิด ขอตอบใหม่ (แปลว่ารู้ตัวว่าค้านกับความรู้สึกหรือทัศนคติส่วนตัว) แต่ที่น่าสนใจกว่าคือพอทีมให้ทำใหม่และตอบเหตุผลอีกรอบ ตรรกะจะประหลาดมาก ๆ คือจะเอาตรรกะของทั้งสองฝั่ง (เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) มารวมกันในความคิดและตอบออกมาเป็นค้านความรู้สึกตัวเอง
คุณ Johansson สรุปผลจากการทดลองสองอันข้างต้นได้ว่า แท้จริงแล้วการรู้จักตัวเอง (self-knowledge) คือการตีความด้วยตัวเอง (self-interpretation) เราตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อน และพอเราถูกถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกแบบนั้น เราจึงพยายามหาคำตอบหรือเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจอันนั้นของเรา แต่กระบวนการนี้ใช้เวลาสั้นมากจนเราคิดว่าเรามีเหตุผลอยู่แล้วก่อนตัดสินใจ และนี่คือการตีความฉะนั้นเป็นธรรมดาที่มันจะผิด เหมือนเวลาเราอยากจะเข้าใจคนอื่นแล้วไปคิดแทนเขา เป็นการตีความที่ผิดแบบเดียวกัน
ฉะนั้นก่อนจะถามคนอื่นว่า ‘ทำไม’
“ทำไมคุณถึงคบกับเขา” “ทำไมคุณซื้อไอโฟนรุ่นล่าสุด” “ทำไมคุณโหวตให้พรรคพลังประชารัฐ”
จงตระหนักไว้ก่อนว่าสิ่งที่ตามมาในคำตอบเหล่านั้นที่จริงแล้วอาจจะเพิ่งถูกคิดขึ้นมาตอนนั้นจากทัศนคติของคนตอบ ไม่ได้มีอยู่ก่อนที่จะถูกถามก็ได้
มองในแง่ดี เราคล่องตัวมากกว่าที่เราคิด เราสามารถเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของเราได้ ยิ่งไปกว่านั้นเราสามารถเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ด้วย หากเราช่วยให้เขาได้มีส่วนร่วมและมองเรื่องนั้นจากมุมมองอื่น สิ่งที่เราชอบเมื่อปีที่แล้ว อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบในวันนี้ ความชอบของเราไม่ได้คงอยู่อย่างนั้นอย่างสม่ำเสมอ การกำจัดคำว่า ’สม่ำเสมอ’ ออกไปได้ทำให้ชีวิตและความสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างมาก
น่าจะปิดท้ายได้ว่า “จงรู้ตัวว่าคุณนั้นไม่ได้รู้จักตัวเองเลย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ดีเท่าที่คุณคิด”
-
โฆษณา