31 มี.ค. 2020 เวลา 08:25 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอย 'โรคระบาดมรณะ'
ประวัติศาสตร์น่าสะพรึงของมนุษยชาติ
หลังโคโรนาไวรัส หรือ ‘โควิด-19’ แพร่ระบาดในจีนได้ไม่นาน การคมนาคมสัญจรระหว่างพื้นที่ก็ทำให้มันแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยรอบ ลุกลามสู่ประเทศใกล้เคียง ก่อนข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังทวีปห่างไกลอย่างตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา แอฟริกา
.
แม้เราจะไม่รู้ว่าในอนาคตโรคนี้จะค่อยๆ เบาบางลงเมื่อใด ทว่าเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่าเคยมีโรคระบาดมรณะที่คร่าชีวิตไปนับล้านอยู่หลายครั้งและรุนแรงกว่าปัจจุบันมาก
.
มาร่วมย้อนรอยโรคระบาดมหาภัยในอดีตได้ในบทความนี้
.
.
1.โรคระบาดสมัยจัสติเนียน (Plague of Justinian) - ปฐมบทกาฬโรค
.
กาฬโรคนี้เริ่มระบาดครั้งแรกในปี ค.ศ.541-542 ณ มณฑลอียิปต์ของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian I) เรือที่ขนส่งธัญญาหารจากอียิปต์ได้พาหนูที่เป็นพาหะแพร่เชื้อไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลและทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชนกลุ่มใดที่ติดต่อกับชาวโรมันต่างได้รับเชื้อไปตามๆ กัน ผู้คนในหมู่เกาะบริเตนไปจนถึงเปอร์เซียล้วนแต่สังเวยชีวิตให้โรคร้ายนี้ ถนนหนทางเต็มไปด้วยคนป่วยกับซากศพ
.
อาการของโรคคือมีตุ่มหนองพองเฟะตามร่างกาย มีเนื้อตายจนกลายเป็นสีดำตามมือและเท้า มีผู้สังเวยชีวิตให้โรคมฤตยูนี้ราว 25-50 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 25% ของประชากรโลกในยุคนั้น ที่เลวร้ายกว่านั้นคือมันยังกลับมาอีกหลายระลอก กระทั่งค่อยๆ หายไปในศตวรรษที่ 8 จนได้รับขนานนามให้เป็นหนึ่งในโรคระบาดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
.
.
2.มฤตยูดำ (Black Death) -กาฬโรครีเทิร์น
.
ในปี 1347 เรือจากคาบสมุทรไครเมียได้พาผู้ป่วยโรคประหลาดพร้อมหนูจำนวนมากเข้าสู่เมืองท่าหลายแห่งในยุโรป มันคือกาฬโรคแบบเดียวกับสมัยจัสติเนียน เชื้อโรคนี้แพร่มาจากตะวันออกไปตามเส้นทางสายไหม ผ่านเข้าสู่ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และอินเดียที่ต้องรับเคราะห์ไปก่อน จากนั้นจึงแพร่ต่อไปยังยุโรป มีช่วงพีคตั้งแต่ปี 1347-1351 และค่อยๆ หายไปในปี 1353
.
อาการคือเกิดแผลพุพองและตามมาด้วยเนื้อตายที่เปลี่ยนเป็นสีดำทะมึนเหมือนโรคระบาดครั้งก่อนไม่ผิด มีผู้เสียชีวิตราว 100-200 ล้านคนในยุโรปและเอเชีย ยุโรปยุคกลางที่กำลังเฟื่องฟูกลับต้องชะงักงันไป เพราะมีผู้เสียชีวิตราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งทวีป ประชากรโลกราว 30-60% ต้องสังเวยชีวิตให้กับมฤตยูดำนี้
.
.
3.ฝีดาษ (Smallpox) - ตุ่มหนองที่ทำลายชนพื้นเมืองอเมริกัน
.
ฝีดาษเป็นโรคดึกดำบรรพ์ที่ถือกำเนิดในโลกเก่าตั้งแต่หลายหมื่นปีก่อน มันเคยระบาดในจักรวรรดิโรมัน ในญี่ปุ่น และอินเดีย ต่อมาเมื่อชาวยุโรปล่องเรือไปทวีปอเมริกา พวกเขาได้นำเชื้อฝีดาษติดตัวไปด้วยโดยไม่รู้ตัว ชนพื้นเมืองอเมริกันที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้มาก่อนได้พบกับนักเดินจากต่างทวีป เชื้อฝีดาษจึงแพร่กระจายในหมู่ชนพื้นเมืองอย่างรวดเร็วราวไฟป่า คาดว่าชนพื้นเมืองอเมริกันต้องสังเวยชีวิตไปราว 90% ให้โรคร้ายนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา จำนวนของพวกเขาลดลงมากจนแทบถูกแทนที่โดยคนผิวขาวไปแทบทุกพื้นที่
.
โรคฝีดาษยังเป็นปัญหาหนักเรื่อยมาทั่วทั้งโลก คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตตลอดศตวรรษที่ 20 ทะลุถึง 300 ล้านคน โดยเฉพาะในปี 1967 มีผู้ติดเชื้อมากถึง 15 ล้านคน แต่ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษได้แพร่หลายจนได้รับการประกาศให้เป็นโรคที่ถูกปราบได้สำเร็จไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
.
.
4. กาฬโรคครั้งที่ 3 (Third Plague Pandemic) – การกลับมาอีกครั้งของมฤตยูดำ
.
แม้จะเคยระบาดไปแล้วถึง 2 ครั้งใหญ่ แต่กาฬโรคยังหาทางกลับมาแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกครั้งตั้งแต่ปี 1855 ไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีต้นกำเนิดจากแคว้นยูนนานในจีน รัชสมัยของจักรพรรดิเสียนเฟิง (Xianfeng) แห่งราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) จากนั้นเริ่มแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและข้ามไปถึงฮ่องกง ในฮ่องกงมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน จากนั้นหนูที่เป็นพาหะได้ติดไปกับเรืออังกฤษที่เดินทางไปมาระหว่างอินเดียกับฮ่องกง เชื้อโรคจึงแพร่กระจายไปสู่อินเดียอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเริ่มจากเมืองท่าอย่างบอมเบย์ แล้วแพร่กระจายไปเมืองอื่นอย่างปูเน่ กัลกัตตา ไปจนถึงเมืองการาจีในปากีสถานปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตในอินเดียราว 10 ล้านคน
.
ประกอบกับการเดินเรือที่เชื่อมโยงถึงกัน โรคนี้จึงแพร่หลายไปทั่วทุกทวีป และยังมีรายงานการระบาดละรอกย่อยในอาร์เจนตินาจนถึงช่วงปี 1960 แต่ด้วยการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียจึงไม่สูงมากเหมือนในอดีต
.
.
5.ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) – ไข้หวัดมรณะที่คร่าชีวิตคนหนุ่มสาว
.
เดือนมกราคม ปี 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่ทันจบดี ไวรัสมรณะก็คืบคลานเข้ามาอย่างเงียบเชียบ ไม่แน่ชัดว่าโรคนี้เริ่มต้นขึ้นที่ไหน แต่คาดว่าคงมาเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่กลายพันธุ์ในหมู่ปศุสัตว์ในยุโรปแล้วติดมายังมนุษย์ ด้วยความที่สงครามยังดำเนินอยู่ แต่ละชาติที่ร่วมสงครามต่างพยายามปกปิดข่าวการระบาดของโรคนี้ให้เงียบไว้เพื่อไม่ให้ขวัญกำลังใจตกต่ำ
.
ผลคือมีผู้คนที่ไม่รู้ว่ากำลังมีไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ระบาดอยู่ ประกอบกับระบบสาธารณสุขในยุคนั้นที่ยังไม่อาจรับมือกับไวรัสชนิดใหม่ได้ดี และที่แปลกประหลาดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่อื่นๆ คือเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่ภูมิคุ้มกันกำลังทำงานดีกว่าวัยอื่น เพราะปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่รุนแรงของคนหนุ่มสาวทำให้อาการของโรคนี้ยิ่งรุนแรงขึ้น
.
ในเวลาไม่นานไวรัสก็แพร่กระจายไปยังทวีปอื่นๆ สเปนเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศข่าวการระบาดของโรคอย่างจริงจัง และถูกโยนให้เป็นแหล่งที่มาของโรคทั้งที่มาจากประเทศอื่นๆ ภายในเวลา 2 ปี มีผู้คนกว่า 1 ใน 4 ของโลกรายงานว่าติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตราว 20-50 ล้านคนทั่วโลก
.
.
เรื่อง : อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
#โคโรนาไวรัส #โรคระบาดในประวัติศาสตร์ #กาฬโรค #ไข้หวัดใหญ่สเปน #ฝีดาษ #gypzyworld
/////////////////
โฆษณา