23 มี.ค. 2020 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
ณ วันนี้ราคาหุ้นปรับตัวลงมาจนถูกระดับนึงแล้ว หลายคนเริ่มถามหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นกันแล้ว ส่วนจะเลือกซื้อตัวไหนดี Benjamin Graham มีคำตอบให้ครับ
ถือว่าผมอ่านหนังสือ The Intelligent Investor เล่มนี้ได้ถูกเวลาจริงๆ เพราะอ่านจบในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 กระจายไปทั่วโลกพอดี ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุนมากๆ เรียกได้ว่าราคาถูกที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
2
แต่ก็ไม่ใช่ว่าหุ้นทุกตัวจะน่าลงทุนไปทั้งหมด คำถามก็คือจะคัดเลือกยังไงดี ??
ดังนั้นผมจะเล่าวิธีการเลือกหุ้นของ Benjamin Graham ให้ฟังโดยแบ่งออกมาให้ย่อยง่ายๆ 10 ข้อ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของแต่ละคนไม่มากก็น้อยนะครับ
มาเริ่มกันเลยครับ
*** คำศัพท์ทางการเงินเยอะนิดนึงนะครับ จะพยายามอธิบายให้เท่าที่ทำได้
1. ถ้าเลือกหุ้นไม่ได้/ไม่มีเวลา ให้ซื้อกองทุนดัชนีไปเลย
สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีเวลาศึกษางบการเงินมากมายนัก การเลือกซื้อกองทุนดัชนีที่มีการคัดเลือกเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ เช่น SET50 หรือ SET100 ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี เพราะหุ้นส่วนใหญ่ในดัชนีเหล่านั้นมีคุณสมบัติที่ Graham ตั้งเอาไว้สำหรับการลงทุนอยู่แล้วนั่นเอง
ส่วนเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเลือกแบบนี้ อ่านไปจะมีคำตอบตอนท้ายครับ
*** ตามต้นฉบับจะพูดถึงดัชนี DJIA (Dow Jones Industrail Average) และ S&P500 Index แต่เราขอเปรียบเทียบเป็นดัชนี SET ให้เหมาะกับนักลงทุนไทย
2. ถ้าจะเลือก ก็ต้องเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆได้
ถ้าเอาแค่คำว่าเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆได้ เราจะนึกถึงบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็น อย่างพวกอาหารการกิน/ยารักษาโรค ที่ไม่ว่ายังไงก็ขายได้ หรือเลือกจากบริษัทที่ที Fix Cost ต่ำ ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบมากในช่วงที่ขาดรายได้
ยกตัวอย่างบริษัทที่ได้รับผลกระทบ เช่นในช่วงนี้ธุรกิจสายการบินถือว่าน่ากลัวมาก เนื่องจากแบก Fix Cost ไว้สูง แต่รายได้นั้นแทบจะไม่มีเลย
ส่วนคำว่าพื้นฐานที่แข็งแกร่งนั้นจะต้องคำนึงถึง 6 ปัจจัย ซึ่งจะขออธิบายเรียงไปในทีละข้อตั้งแต่ข้อ 3 ไปจนถึง ข้อ 8 ครับ
3. บริษัทต้องมีขนาดที่ใหญ่พอ (Adequate Size)
การเลือกจากบริษัทที่ใหญ่นั้นถ้ามองในด้านตรงกันข้ามจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก และจะช่วยทำให้พอร์ทการลงทุนของเรามีความมั่นคงมากขึ้น
ขนาดที่ใหญ่นี้จะหมายถึงทั้งเรื่องของสินทรัพย์ (Asset) และยอดขาย (Sales) โดยผมลองกรองหุ้นใน SET ที่มียอดขายสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ก็จะมีหุ้นให้เลือกอยู่ 157 หุ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ
1
4. โครงสร้างเงินทุนแข็งแรง (Strong Financial Condition)
โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงนั้นประกอบไปด้วยอัตราส่วนสองตัว ก็คือ Current Ratio ที่แสดงถึงสภาพคล่องในระยะสั้น และ Debt to Equity Ratio อัตราส่วนของหนี้สินเมื่อเทียบกับทุน
โดย Graham กำหนดไว้ว่า Current Ratio ควรจะมีค่ามากกว่า 2 ส่วน Debt to Equity Ratio นั้นจะต้องไม่เกิน 2 ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ยังสามารถใช้ได้ในปัจจุบัน แต่อาจจะปรับให้มีความเข้มงวดที่น้อยลงนิดนึงก็ได้ครับ
5. มีกำไรสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ปี และ กำไรเติบโตรวมอย่างน้อย 33% ใน 10 ปีย้อนหลัง (Earning Stability & Growth)
กำไรสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ปีนั้นแสดงถึงความมั่นคงในบริษัท แต่จะต้องมีการเติบโตของกำไรด้วย อย่างน้อย 33% ภายใน 10 ปี หรือถ้าเฉลี่ยออกมาแล้วจะอยู่ที่ปีละประมาณปีละ 2.89% หรือพูดง่ายๆก็คือ “กำไรมั่นคงยังไม่พอ แต่ต้องมีการเติบโตของกำไรในระยะยาวด้วย”
*** ที่กำหนดเป็นการเติบโตของกำไร 10 ปี นั่นก็เพื่อดูภาพรวมในระยะยาว และลดความผันผวนของตัวเลขที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในบางปี
6. จ่ายปันผลติดต่ออย่างสม่ำเสมอ (Dividend Record)
จากปัจจัยในข้อ 3-5 เราจะได้บริษัทที่มีขนาดใหญ่, สถานะทางการเงินที่ดี, มีกำไรสม่ำเสมอ และเติบโตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถ้ามีคุณสมบัติครบตามนี้บริษัทก็น่าจะมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่ดี
ดังนั้นปัจจัยถัดมาที่เราสนใจก็คือการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอด้วยนั่นเอง ซึ่งอาจจะมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ด้วยเช่น ในหนังสือกำหนดจ่ายปันผลติดต่อกันอย่างน้อย 10 ปี เป็นต้น
*** ทั้งนี้บางบริษัทที่ดีอาจจะไม่มีการจ่ายปันผล เพราะนำกำไรกลับไปลงทุนหมด ในเคสนี้ก็สามารถตัดปัจจัยนี้ทิ้งเพื่อเปิดโอกาสให้เราเลือกบริษัทเหล่านี้ได้ด้วยครับ
7. P/E Ratio ต่ำ (Moderate P/E Ratio)
Price to Earning Ratio นั้นเป็นอัตราส่วนที่สำคัญในการเลือกซื้อหุ้น ถ้าแปลตรงตัวมันก็คือตัววัดว่านักลงทุนยอมจ่ายเงินกี่บาท เพื่อแลกกับกำไร 1 บาทของหุ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นถ้า P/E Ratio = 20 แหลว่าราคาเป็นเป็น 20 เท่าของกำไร หรือ เราต้องจ่ายเงิน 20 บาทเพื่อได้ส่วนแบ่งกำไร 1 บาทนั่นเอง
หุ้นที่น่าลงทุนก็คือหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ตัวนี้ต่ำ ซึ่งแสดงว่าราคาไม่แพงเกิน โดย Graham กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 15 เท่า ซึ่งในสถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้ราคาหุ้นก็ถูกลงมาจนถึงระดับนี้หลายตัวอยู่ครับ
8. P/BV Ratio ต่ำ (Moderate P/BV Ratio)
Price to Book Value Ratio คืออีกอัตราส่วนหนึ่งที่เปรียบเทียบราคาตลาดกับราคาทางบัญชี ถ้าอัตราส่วนตัวนี้สูงก็แปลว่าหุ้นมีราคาแพงเมื่อเทียบกับราคาทางบัญชี โดย Graham กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกิน 1.5 เท่า แต่ในปัจจุบันอาจจะหายากซักหน่อยผมเลยขอเพิ่มเกณฑ์?ไปเป็น 2.5 ละกันครับ
และยิ่งถ้าเราสามารถหาหุ้นที่มี P/BV ต่ำกว่า 1 ได้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นในตลาดมีราคาถูกกว่าราคาทางบัญชีซะอีก นั่นหมายความว่าถ้าบริษัทหยุดกิจการ ณ วันนั้นเลย ขายสินทรัพย์ใช้หนี้แล้วนำเงินที่เหลือมาแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นก็ยังได้กำไรอยู่ดี (แต่หุ้นแบบนี้อาจจะหายากซักหน่อยนะครับ)
*** เมื่อเรานำ P/E =15 กับ P/BV = 2.5 มาคูณกัน ก็จะได้ว่าหุ้นที่ดี ห้ามมีผลคูณของสองตัวนี้เกิน 37.5 ครับ โดยอาจจะอะลุ่มอล่วยโดยการดูจากผลคูณเอาได้ เผื่อหุ้นบางตัวมี P/E เกิน 15 แต่คูณกันออกมาแล้วไม่ถึง 37.5 ก็ได้
1
9. เมื่อกรองหุ้นด้วย 6 ปัจจัยในข้อ 3-8 แล้ว เราก็สามารถเลือกลงทุนในหุ้นเหล่านั้นได้
ซึ่งตามหลักของการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ก็ควรที่จะกระจายการลงทุนไปในหุ้นทุกตัวที่ผ่านการคัดเลือกแล้วครับ
ถ้ากรองหุ้นมาแล้วมีหุ้นที่คุณสมบัติครบถ้วนแค่ไม่กี่ตัว ก็สามารถกลับไปปรับ Criteria ต่างๆให้เข้มงวดน้อยลงอย่างละนิดหน่อยเพื่อขยายทางเลือกได้ครับ เพราะอย่าลืมว่าการคัดเลือกหุ้นตามแบบฉบับของ Graham นั้นใช้ตัวเลขที่เก่า อีกทั้งยังเป็นตัวเลขของต่างประเทศด้วย
แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัจจัยทั้ง 6 นี้ก็เป็นพื้นฐานที่ดีและยังใช้ได้ในปัจจุบันถ้าเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆให้เหมาะสม
10. ส่วนถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่ามันวุ่นวาย ก็สามารถกลับไปซื้อกองทุนดัชนี SET50 หรือกองทุนดัชนีอื่นๆได้
เพราะจากการคัดกรองหุ้นในอเมริกาของ Graham ในหนังสือก็พบว่า หุ้นที่มีคุณสมบัติครบทั้งหมดนั้นมีจำนวนแค่ 5 ตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ
แต่ถ้าเอาค่าเฉลี่ยของทั้งดัชนี DJIA มาวัดก็พบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน นั่นเป็นเพราะดัชนีเหล่านี้มักจะรวบรวมหุ้นที่มีขนาดใหญ่และความมั่นคงสูงไว้อยู่แล้ว
อย่างของไทยเราก็คือ SET50 ที่รวบรวมหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 อันดับแรกนั่นเองครับ ผมเองไม่สามารถหาข้อมูลค่าเฉลี่ยเพื่อมาทดสอบได้ แต่คาดว่าผลน่าจะออกมาในทางที่ดีครับ
*** ยกตัวอย่าง ผมลองคัดกรองหุ้นผ่าน th.investing.com โดยใช้ปัจจัยต่างๆสอดคล้องกับในหนังสือ โดยมีการปรับเปลี่ยนนิดหน่อยดังนี้
.
- ยอดขายสูงกว่า 10,000 ล้าน
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) มากกว่า 1
- D/E Ratio น้อยกว่า 2
- กำไรเติบโต 16% ในระยะเวลา 5 ปี
- P/E Ratio ต่ำกว่า 15
- P/BV ต่ำกว่า 2.5
.
ผลออกมาพบว่ามีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบซึ่งก็คือ VNT แต่พอค่อยๆปรับเปลี่ยนตัวคัดกรองลดลงบ้างก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 13 ตัวครับ อยากรู้ว่าเป็นหุ้นอะไรบ้างเปิดดูใน Comment ได้เลย
1
ขั้นตอนการคัดเลือกหุ้นคร่าวๆก็ประมาณนี้ ใครอ่านแล้วพอได้แนวทางจะลองไปคัดเลือกด้วยตัวเองก็ได้นะครับ ได้ตัวไหนมาก็มาคอมเม้นบอกแอดมินบ้างก็ได้ 😂😂
ขอให้เลือกได้ถูกตัวและจับจังหวะเข้ากันให้ถูกนะครับ และ อย่าเอาเงินไปลงในหุ้นหมดเพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอน
.
** วิธีการคัดเลือกด้วยวิธีนี้เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกที่ไม่ได้การันตีผลกำไรนะครับ ยังต้องใช้ปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เล่านำเสนอเพื่อเป็นอีกทางเลือกนึงเท่านั้น
แล้วในอนาคตจะมาสรุปเนื้อหาของทั้งเล่มให้อีกทีครับ ส่วนของการคัดเลือกหุ้นนี้จริงๆเป็นแค่บทเดียวในหนังสือเอง แต่ผมก็หยิบเอาเนื้อหาของบทอื่นๆมาใส่นิดหน่อย เอาเป็นว่าที่เล่าไปนั้นแค่ 10-20% ของทั้งเล่มเอง
1
ส่วนถ้าใครอดใจรอไม่ไหวจะไปลองซื้อมาศึกษากันในช่วงหุ้นตกแบบนี้สามารถเข้าไปสั่งซื้อได้เลย โดยขอแปะลิ้งค์ของ Asiabooks ร้านหนังสือภาษาต่างประเทศสัญชาติไทยนะครับ ช่วงนี้ต้องช่วยๆกันอุดหนุนคนในชาติ 😁
แต่!! แอดแนะนำว่ารออีกไม่กี่วันจะถึงช่วงงานหนังสือที่ปีนี้จัดออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนลดและโปรโมชั่นต่างๆด้วย น่าจะได้ราคาถูกกว่าครับ แล้วเดี๋ยวจะรวบรวมโปรโมชั่นที่น่าสนใจมาให้ในอนาคต รอชมได้เลย 🤓🤓
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคต
ส่วนถ้าใครไม่อยากพลาดทุกโพสต์ของเพจ “เล่า” แอดมินแนะนำให้กด See First เอาไว้ด้วยครับ :)
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน blockdit ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #TheIntelligentInvestor #คัดกรองหุ้น
โฆษณา