23 มี.ค. 2020 เวลา 18:20 • ประวัติศาสตร์
“แฮชิ” ปกปักรักยุติธรรม กับ เรื่องราวของ ความยุติธรรม โรคระบาด และแนวคิด “อาณัติแห่งสวรรค์”
ในช่วงนี้ที่รัฐบาลให้หยุดงานอยู่กับบ้าน 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เชื่อว่าหลายๆคนคงเก็บตัวอยู่ในบ้าน แล้วนั่งดูซีรี่ย์ใน Netflix ที่ค้างเอาไว้รอเวลาที่จะนั่งดูกันแบบยาวๆ
โปสเตอร์ซีรี่ย์เรื่อง “แฮชิ” ปกปักรักยุติธรรม
ในช่วงหยุดเก็บตัว 3 - 4 วันมานี้ เลยได้โอกาสหยิบซีรี่ย์
เกาหลีของปีก่อน เรื่อง“แฮชิ” ปกปักรักยุติธรรม มาดู ซึ่งเป็นเรื่องราวอิงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าซุกจง (กษัตริย์องค์ที่ 19) จนถึงช่วงต้นรัชสมัยพระเจ้ายองโจ (กษัตริย์องค์ที่ 21) แห่งราชวงศ์โชซอน
โดยตัวละครหลักของเรื่องแฮชิ ก็คือ เจ้าชายอีกึม ซึ่งต่อมาคือพระเจ้ายองโจ ที่ครองราชย์ยาวนาน ถึง 52 ปี (ค.ศ.1724 - 1776) ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดแห่งราชวงศ์โชซอน และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นสมัยที่อาณาจักรเกาหลีมีความเจริญรุ่งเรื่องที่สุดสมัยหนึ่ง
พระบรมสาทิสลักษณ์ ของของพระเจ้ายองโจ กษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งราชวงศ์โชซอน
เนื่องจากทรงสามารถสลายความขัดแย้งของขุนนางที่แบ่งเป็นฝ่ายโซนน และ ฝ่ายโนนน ลงได้ และทำให้พระองค์สามารถปฏิรูปบ้านเมืองจนเกิดความสงบสุข
สำหรับเนื้อหาในการดำเนินไปก็เป็นสืบสวนและการเชือดเฉือน วางเกมทางเมืองเพื่อชิงอำนาจทางระหว่างพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางในกลุ่มโซนน และ โนนน โดยที่ตัวละครหลักที่แวดล้อมองค์ชายอีกคมจะมีบทบาทอยู่ใน “ซาฮอนบู” หรือ สำนักตรวจการที่ช่วยไขปริศนาของปมการช่วงชิงอำนาจต่างๆ
การแต่งกายและการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ในสำนักตรวจสอบ หรือ ซาฮอนบู ในเรื่อง แฮชิ
สำหรับ สำนักตรวจการ หรือ ซาฮอนบู (Saheonbu/사헌부) ในสมัยโชซอนนั้น ถือเป็น 1 ใน 3 สำนักราชการหลักของราชสำนัก ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1478 โดยพระเจ้าซ็องจง กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์โชซอน
การจัดระบบราชการของโชซอนในยุคดังกล่าว ได้รับอิทธิพลด้านการปกครองตามคติแบบขงจื้อ จากราชวงศ์หมิง ของจีน ที่เรียกว่า “สามสถาบัน หกกระทรวง”
โครงสร้าง สามสถาบัน หกกระทรวง ของราชวงศ์หมิง ซึ่งใช้สืบเนืีองมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย
ซึ่ง 3 สถาบัน ประกอบด้วย สำนักราชการทั้ง 3 (삼사) ที่คอยตรวจสอบการทำงานของขุนนางผู้ใหญ่กลุ่มขุนนางเก่า หรือแม้แต่องค์กษัตริย์เอง โดยประกอบด้วย
1. ฮงมุนกวาน (Hongmungwan /홍문관) สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษ มีหน้าที่ดูแลห้องสมุดของราชสำนักและทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยเพื่อศึกษาปรัชญาของขงจื๊อและตอบคำถามของกษัตริย์
2. ซากันวอน (Saganwon/사간원) สำนักตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำหรือนโยบายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เช่นพระราชกฤษฎีกาที่สำคัญของกษัตริย์จะได้รับการตรวจสอบโดยซากังวอนก่อนเสมอ
3. ซาฮอนบู (Saheonbu/사헌부) สำนักผู้ตรวจการ มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการทุจริตหรือการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ
สำนักผู้ตรวจการ หรือ” ซาฮอนบู”มีหน้าที่ตรวจตราและไต่สวนการทุจริต ประพฤติมิชอบของขุนนางและพระราชวงศ์ ซึ่งแม้แต่กษัตริย์ก็ทรงไม่แทรกแทรงในการทำงาน
โดยในเรื่อง สำนักผู้ตรวจการ จะมีสัญลักษณ์เป็น แฮชิ (해태) สัตว์ในเทพปกรณัมของเอเชียตะวันออก ซึ่งในจีนเรียกว่า เซี่ยจื้อ (獬豸) ที่เชื่อกันว่า สามารถแยกแยะถูกผิดได้โดยสัญชาตญาณ จึงถือกันเป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรม
รูปสลักหินแฮซิที่พระราชวังคย็องบก
การแต่งกายของขุนนางระดับสูงที่เป็นหัวหน้าสำนักตรวจการ(ชุดสีเลือดหมู) สังเกตว่าที่ป้ายบอกตำแหน่งที่เครื่องแบบจะมีภาพแฮชิ ติดอยู่ที่ชุดขุนนาง และที่ตราหน้าหมวก
แฮชิ ฉบับการ์ตูนน่ารักๆ สัญลักษณ์ประจำกรุงโซล ในปัจจุบัน (กรุงโซล ก็คือ นครฉันยาง เมืองหลวงของอาณาจักรโลซอยในอดีต)
ส่วน 6 กระทรวง เป็นหน่วยงานในการบริหารราชการ ซึ่งประกอบด้วย
1
1. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ควบคุมกองทัพและด้านกำลังทหาร
2. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่คุมข้าราชการงานเมือง และโครงสร้างบริหารต่างๆ
3. กระทรวงคลัง มีหน้าที่ควบคุมการจัดเก็บภาษี งบประมาณ และรายได้ของราชสำนัก
4. กระทรวงพิธีการ มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติและกิจการในพระราชวัง
5. กระทวงยุติธรรม มีหน้าที่ควบคุมเรื่องกฎหมาย ว่าความ กฎระเบียบมณเฑียรบาลต่างๆ
6. กระทรวงโยธา มีหน้าที่ควบคุมเรื่องงานก่อสร้าง ซ่อมแซม เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ
ภาพการ์ตูนอธิบายโครงสร้างการทำงานของ “สามสถาบัน หกกระทรวง” ในสมัยโชซอน
หน่วยงานที่กล่าวมานี้ ถูกกล่าวถึงในเนื้อเรื่องโดยตลอดในบรรยากาศของการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและตำแหน่งขุนนางของกลุ่มโซนน และ โนนน ซึ่งไปเกี่ยวพันจนสำนักซาฮอนบู ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
โดย พัก มุนซู ที่เป็นผู้ตรวจการ ของซาฮอนบู ได้มีส่วนในการคลีคล้ายปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเกมการเมืองที่มุ่งเล่นงาน องค์ชายอีกึม เช่น ข้อกล่าวหากบฏ ในช่วงเป็นองค์รัชทายาทจากขุนนางกลุ่มโซนน ในรัชสมัยพระเจ้าคย็องจง (กษัตริย์องค์ที่ 20)
พัก มุนซู ขุนนางผู้ตรวจการ ที่ได้รับการยกย่องในความซื่อตรง ในสมัยพระเจ้าจองโจ
จนเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าคย็องจง ก็มีการต่อต้านการสืบสืบทอดราชสมบัติขององค์ชายอีกึม ด้วยชาติกำเนิดที่มีพระราชมารดาเป็นสามัญชนและข้อครหาเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตอย่างกระทันหันของพระเจ้าคย็องจง
อย่างไรก็ตามซาฮอนบูก็สามารถรักษาความยุติธรรมต่างๆไว้ และทำให้องค์ชายอีกึม สามารถขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ายองโจ ได้สำเร็จ แต่ความวุนวายจากเกมการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจก็ไม่สิ้นสุดลง
ฉากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายอีกึม เป็นพระเจ้ายองโจ ใน ค.ศ.1724 ซึ่งขนบธรรมเนียมต่างๆ ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื่อในสำนักจีน
การขึ้นเป็นกษัตริย์ของเจ้าชายอีกึม ได้เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ไปเป็นการใช้เรื่องของความชอบธรรมตามคติจารีตการปกครองเข้ามาเป็นเครื่องมือในเกมการเมืองที่แยบยลยิ่งขึ้น
ซึ่งในซีรีย์เรื่อง แฮชิ ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ นั้นก็คือ “โรคระบาด” ซึ่งจะนำมาสู่ข้ออ้างในการโค่นล้มกษัตริย์ที่หมดความชอบธรรมนั้นเอง
ฉากการระบาดของโรคปริศนาที่นำไปสู่การออกมาตรการกักกันโรคและหาสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคระบาดนอกฤดูกาล
โดยความชอบธรรมนั้น เป็นไปตามคติในการปกครองของจีนเรื่อง “อาณัติแห่งสวรรค์” ที่เชื่อที่ว่า สวรรค์ได้มอบหมายสิทธิอำนาจในการปกครองแผ่นดิน แก่บุคคลที่มีฐานะเป็น ”โอรสสวรรค์” ผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การค้นพบและได้ครอบครองของสำคัญต่างๆ
โดยเมื่อผู้ที่ได้ความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์ ขึ้นปกครองในฐานะกษัตริย์ ซึ่งในระยะแรกหากปกครองดีประชาชนก็จะมีความสุข บ้านเมืองก็เป็นไปด้วยความราบรื่น สงบร่มเย็น
แต่หากปกครองไม่ดี เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งถือเป็นการเตือนจากสวรรค์ หากแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้แล้วลุกลามต่อไปจนประชาชนเดือดร้อน ก็จะก่อจราจลขึ้น เมื่อนั้นผู้ปกครองเดิม จะขาดความชอบธรรม และถึงคราวที่สวรรค์จะส่ง “โอรสสวรรค์” คนใหม่มาแทนที่
วัฏจักรราชวงศ์ หรือ กฎของอาณัติสวรรค์
ด้วยเหตุนี้ความเชื่อเรื่อง อาณัติแห่งสวรรค์ จึงมักใช้เป็นข้ออ้างถึงความชอบธรรมในการลุกขึ้นมายึดอำนาจหรือโค่นล้มกษัตริย์และราชวงศ์เก่าอยู่เสมอ
ตรงจุดนี้เองในเรื่อง แฮชิ ได้นำประเด็นเรื่องโรคระบาด ที่ลุกลามขึ้นอย่าเป็นปริศนา หลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้ายองโจ ซึ่งสร้างความหวาดหวั่นให้พระองค์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อมั่นและความชอบธรรมของพระองค์เอง
ในเรื่องแฮชิ พระเจ้ายองโจ ทรงตกพระทัยมากเรื่องโรคระบาดที่เกิดหลังขึ้นครองราชสมบัติไม่นาน
โดยในซีรี่ย์ได้โยงเรื่องโรคระบาดว่าเป็นแผนการหนึ่งของ อีอินจวา ที่ใช้ปลุกกระแสความไม่ชอบธรรมจากการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับพระเจ้ายองโจ ว่ามีส่วนปลงพระชนม์ของพระเจ้าคย็องจงเพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ สวรรค์จึงลงโทษด้วยการทำให้เกิดโรคระบาดตามมา
อีอินจวา ผู้ว่างแผนใช้สถานการณ์ของโรคระบาด ทำลายความชอบธรรมของพระเจ้ายองโจ ในฐานะโอรสสวรรค
ข่าวลือและโรคระบาดนี้ส่งผลให้ขุนนางฝ่ายโซนน และราษฎร เกิดความไม่พอใจและขาดความเชื่อมั่นในตัวพระเจ้ายองโจ ทำให้มาตรการในการป้องกันโรคระบาดไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย และกำลังกลายเป็นจราจลขึ้นภายในเมืองหลวง
ทัศนคติของขุนนางและราษฎร ที่เชื่อในเรื่องอาณัติสวรรค์ ที่มองว่าโรคระบาดเป็นคำเตือนถึงการหมดความชอบธรรมของพระเจ้ายองโจ
ในตอนนี้เอง ที่ชีรี่ย์ได้ได้นำเสนอถึงความพยายามในการหยุดโรคระบาดด้วยการบัญชาการด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด และเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นในฐานะกษัตริย์ที่ไม่ทอดทิ้งประชาชนในยามวิกฤต
พระเจ้ายองโจทรงบัญชาการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด และ เสด็จไปเยี่ยมราษฎร เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริหารสถานการณ์ของพระองค์
ความพยายามของพระเจ้ายองโจ ทำให้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง และได้ทำให้มหาเสนาบดีฝ่ายโซนน และ โนนน เริ่มเปิดใจยอมรับถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้
ขุนนางทั้ง 2 ฝ่ายต่างยอมรับในคุณสมบัติและความชอบธรรมของพระเจ้ายองโจในฐานะกษัตริย์ของอาณาจักรโชซอน หลังการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามหลังการแก้ไขโรคระบาดไม่ทันจะจบลงด้วยดี อีอินจวา ได้ใช้สถานการณ์นี้ ก่อกบฏขึ้นเพื่อยึดบัลลังก์ให้กับองค์ชายมิลพง ใน ค.ศ. 1729 โดยใช้ขออ้างด้านความชอบธรรมตามข่าวลือและการลงโทษของสวรรค์มาเป็นข้ออ้าง
ใบปลิวข่าวลือที่กลุ่มกบฎอีอินจวา พยายามโจมตีพระเจ้ายองโจ เพื่อทำลายความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์
วิธีการของ อีอินจวา และ เจ้าชายมิลพุง เป็นการใช้ประโยชน์เรื่องอาณัติแห่งสวรรค์ มาใช้ในการยึดอำนาจในครั้งนี้ แต่สำหรับพระเจ้ายองโจ กลับจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการพิสูจน์พระองค์ในการทุ่มเทแก้ปัญหาต่างๆร่วมกับเหล่าขุนนางและราษฎร
เจ้าชายอินพุง
เมื่อเอาชนะโรคระบาด ความเชื่อมั่นในตัวพระเจ้ายองโจในฐานะกษัตรย์ผู้เป็นโอรสสวรรค์ของขุนนางและราษฎรก็สูงขึ้น และกลายเป็นแรงสนับสนุนที่พระองค์ใช้ในการต่อสู้กับการก่อกบฏได้จนมีชัยชนะในที่สุด
ฉากชัยชนะของทหารหลวงที่มาจากการรวมมือกันของขุนนางและราษฎรในการปราบกบฎ อีอินจรา และเจ้าชายมิลพุง
คติเรื่องอาณัติแห่งสวรรค์นั้น เป็นเพียงกุศโลบายที่ทำให้กษัตริย์แห่งโลกตะวันออกต้องยึดหลักแห่งความยุติธรรมและไม่ละเลยความทุกข์ร้อนของราษฎร เพราะในความจริงแล้ว เสียงของราษฎร ก็คือ เสียงของสวรรค์
เมื่อใดที่ราษฎรเดือดร้อนเมื่อนั้นเสียงเตือนแห่งความโกรธแค้นไม่พอใจ ดังขึ้นจนเกิดจราจล เมื่อนั้นความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์ก็จบสิ้นลงเช่นเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
- Jae Un-Kang, Jae Eun-Kang. The land of scholars: two thousand years of Korean Confucianism.
โฆษณา