24 มี.ค. 2020 เวลา 08:06 • บันเทิง
Robin Williams เคยกล่าวว่า Dead Poets Society คือหนึ่งในผลงานที่เขาชอบที่สุด
และยกให้ Peter Weir เป็นผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เขาเคยร่วมงานมา
Dead Poets Society เป็นเรื่องของนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณครูคนใหม่นามว่า จอห์น คีตติ้ง (Williams) ที่สอนลูกศิษย์ให้สนใจใฝ่รู้มากกว่าเพียงตัวหนังสือในตำรา
สอนให้ฟังทุกสิ่งรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่ภาพถ่ายและกำแพง
สอนให้ตั้งคำถาม สอนให้ขบคิด สอนให้ใช้ใจสัมผัสให้ถึงแก่นของสรรพสิ่ง
และเหนืออื่นใด ครูคีตติ้งสอนให้นักเรียนรู้จักที่จะค้นหาตัวเองให้พบเจอ
บอกได้เลยว่านี่คือหนังบันดาลใจชั้นเยี่ยม ใครยังไม่เคยดูต้องขอแนะนำเลยจริงๆ ครับ
หนังเรื่องนี้คุ้มค่าที่เราจะให้เวลามันสัก 2 ชั่วโมงนิดๆ เพื่อนั่งซึมซับเรื่องราวที่หนังร้อยเรียงมาให้เราเก็บไปคิด นำไปไตร่ตรองประหนึ่งเหมือนเป็นการบ้านวิชาชีวิต
(***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องครับ - Spoiler Alert***)
Dead Poets Society ได้เค้าโครงมาจากเรื่องจริงครับ
บทหนังถูกเขียนโดย Tom Schulman ซึ่งนำประสบการณ์สมัยเขาเรียนที่ Montgomery Bell Academy ในเมืองแนชวิลล์ (Nashville) รัฐเทนเนสซี่ (Tennessee) มาผูกเป็นเรื่องราว
ณ สถาบันแห่งนี้ Schulman ได้พบกับคุณครู Samuel Pickering ผู้ไม่เหมือนใคร เพราะเขาสอนลูกศิษย์ด้วยวิธีที่ไร้กรอบ ไม่ยึดติดกับตำราหรือระบบระเบียบ สนุกกับการสอนให้นักเรียนตั้งคำถามมากกว่าจะเอาแต่หมกมุ่นหาคำตอบ (ที่บางคำตอบก็ไม่ได้ตายตัว)
Samuel Pickering / Cr.uconntalks.uconn.edu
การสอนของเขานั้นไร้กระบวนท่า ปรับแปรตามแต่สถานการณ์จะพาไป ทำให้การเรียนในแต่ละคาบนักเรียนมิอาจคาดเดาได้เลยว่า นาวาแห่งการศึกษาลำนี้จะนำพาพวกเขาไปยังแห่งหนใด
O Captain! My Captain!
ด้วยความประทับใจ ทำให้ Schulman เอาเรื่องมาเขียนเป็นบทหนังครับ พอเขียนเสร็จก็ส่งไปยังสตูดิโอ ซึ่งบทหนังก็ได้รับความสนใจจากหลายๆ คน
เช่น Dustin Hoffman ที่ตั้งใจจะมาแสดงนำในบทคุณครูจอห์น คีตติ้ง แล้วยังหมายมั่นจะกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยตนเองอีกด้วย แต่สุดท้ายพออะไรๆ ไม่ลงตัวก็เลยทำให้เขาต้องอำลาบทไป
ต่อมาคนที่เกือบจะได้กำกับก็คือ Jeff Kanew ที่เล็ง Mel Gibson มารับบทนำ แต่เนื่องจาก Gibson เรียกค่าตัวสูง ทีมงานเลยเปลี่ยนไปเล็ง Liam Neeson มาแสดงแทน
แต่ไปๆ มาๆ คนที่ได้กำกับเรื่องนี้ก็กลายเป็น Peter Weir ที่ตอนนั้นกำลังมีชื่อเสียงจากผลงานอย่าง Witness (1985) และ The Mosquito Coast (1986) ซึ่งแสดงนำโดย Harrison Ford ทั้งคู่
Peter Weir / Cr.fanworld.co
ช่วงนั้น Weir กำลังวางแผนจะกำกับหนังโรแมนติกเรื่อง Green Card อยู่ครับ ซึ่งคนที่เขาอยากจะให้มาแสดงนำก็คือ Gérard Depardieu นักแสดงชาวฝรั่งเศสที่ตอนนั้นเนื้อหอมมากจนคิวไม่ว่างเป็นปีๆ
ทีนี้ระหว่างที่ Weir ต้องรออยู่นั้น Jeffrey Katzenberg (ที่ตอนนั้นคุม Touchstone Pictures อยู่) ก็เสนอให้เขาลองอ่านบทหนังเรื่องนี้ดู
Weir นั่งอ่านบทตอนอยู่บนเครื่องบินขณะกำลังเดินทางไปซิดนี่ย์ และบทที่ว่านี้ก็จับใจเขาอย่างยิ่ง
ในที่สุด Weir ก็ตกลงที่จะกำกับครับ แต่เขาขอปรับเปลี่ยนบทบางส่วน โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นครูคีตติ้งจะต้องเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และร่างกายจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิต
แต่ Weir มองว่าหนังควรโฟกัสไปที่เรื่องของนักเรียนมากกว่า เขาเลยขอตัดส่วนที่เกี่ยวกับโรคลูคิเมียออกไปทั้งหมด
ตัวเลือกผู้ที่จะมารับบทครูคีตติ้งก็มี Bill Murray, Alec Baldwin, Tom Hanks, Mickey Rourke ซึ่งรายหลังไม่ได้มารับบทเพราะเขาอยากให้ Weir เปลี่ยนบทบางส่วน แต่ Weir ไม่ยอมเปลี่ยนครับ
สุดท้ายบทก็ตกเป็นของ Williams ที่ออกตัวว่าอยากแสดงบทนี้อย่างมาก เพราะเมื่ออ่านบทแล้วเขาตระหนักเลยว่าครูคีตติ้งคือคุณครูแบบที่เขาอยากเรียนด้วยมาตลอด
Robin Williams / Cr.agentsofgeek
หนังเริ่มถ่ายทำช่วงฤดูหนาวของปี 1988 โดย Weir วางแผนการถ่ายทำแบบเรียงตามลำดับเวลา กล่าวคือเริ่มถ่ายฉากแรกก่อน แล้วก็ถ่ายตามลำดับไปจนถึงฉากสุดท้าย ซึ่งจะต่างจากหนังหลายๆ เรื่องที่มักถ่ายทำตามความเหมาะสม (ฉากไหนสะดวกถ่ายก่อนก็ถ่าย บางทีฉากแรกสุดของเรื่องไปถ่ายเอาหลังสุดก็มี)
การที่ Weir ทำแบบนี้ก็เพราะมีเหตุผลครับ 2 ประการครับ
ประการแรกคือ เพื่อใช้เวลาในการสร้างสายสัมพันธ์แบบ "คุณครูกับลูกศิษย์" ระหว่างดาราหนุ่มๆ กับ Robin Williams ให้ก่อตัวขึ้นจริงๆ
ประการที่ 2 คือเนื่องจากตามเนื้อเรื่องแล้ว ตัวละครนักเรียนที่ชื่อ นีล (Robert Sean Leonard) จะฆ่าตัวตายเพราะพ่อไม่อนุญาตให้เขาทำตามความฝัน Weir เลยตัดสินใจถ่ายทำไปตามลำดับ ส่วนหนึ่งเพื่อให้เหล่าตัวละครนักเรียนทุกคนได้สนิทกันจริงๆ
พอหลังจากถ่ายฉากนีลฆ่าตัวตายแล้ว Weir ก็บอกให้ Leonard ไม่เข้ามาในกองถ่ายอีกเลย เพื่อสร้างอารมณ์ประหนึ่งว่าทุกคนได้เสียเพื่อนที่ชื่อนีลไปแล้วจริงๆ ซึ่งก็ถือว่าได้ผลครับ เพราะหลายคนอินมากจนต้องหลั่งน้ำตาออกมา
แล้วหนังก็ฉายในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1989 และผลลัพธ์คือหนังประสบความสำเร็จอย่างสวยงามครับ ทำเงินทั่วโลกกว่า 235 ล้านเหรียญ (จากทุนสร้าง 16.4 ล้านเหรียญ)
หนังได้เข้าชิง 4 รางวัลออสการ์ ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดารานำชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คว้ามาได้ 1 รางวัล คือสาขาบทภาพยนตร์ครับ
Peter Weir, Robin Willams / Cr.indiewire
มีเกร็ดน่าสนใจที่ Kurtwood Smith (ผู้ที่แสดงเป็นพ่อของนีล) เคยเล่าเอาไว้ว่า ในรอบฉายปฐมทัศน์เขาสังเกตเห็นครอบครัวหนึ่งที่มีพ่อที่ดูจะเข้มงวดกับลูกของเขามาก (แบบเดียวกับพ่อของนีล) เข้าไปร่วมชมด้วย
พอหนังฉายเสร็จ ทุกคนออกจากโรง Smith ได้เห็นกับตาว่าคุณพ่อคนนั้นร้องไห้ระหว่างเดินทางกลับ... แสดงให้เห็นเลยว่าหนังส่งผลถึงจิตใจผู้ชมอย่างลึกซึ้งทีเดียว
ตัวหนังนั้นจัดว่าดูสนุก เต็มไปด้วยแง่คิด ดาราที่แสดงก็ล้วนน่าจดจำ นอกจาก Williams แล้ว หนังยังบ่มเพาะดารารุ่นเยาว์ (ในวันนั้น) ให้กลายเป็นดาราที่มีชื่อในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือ Ethan Hawke ครับ
สาระของหนังเรื่องนี้น่าสนใจครับ โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษา
ในรอบแรกๆ ที่ดูนั้นผมมองว่าหนังสอนเราให้อย่าบังคับเด็กจนเกินไป อีกทั้งอย่ามัวแต่ให้เด็กเรียนโดยยึดตำราเพียงอย่างเดียว แต่เราควรสอนให้เขารู้จักคิด รู้จักค้นหาตัวตนให้เจอด้วย
ครั้นพอมาดูรอบหลังๆ ผมรู้สึกว่านอกจากหนังจะวิพากษ์ระบบการศึกษาที่มัวแต่พึ่งตำรา และเตือนสติพ่อแม่แล้ว หนังยังมีประเด็นชวนที่คิดลึกซึ้งกว่านั้นครับนั่นคือการวิพากษ์แนวทางการสอนแบบใหม่ของคุณครูคีตติ้งผ่านทางโศกนาฏกรรมของนีลด้วย
Cr.scriptmag
นีลคือลูกที่พ่อแม่คาดหวังอย่างสูงว่าจะให้ไปเรียนต่อหมอ เขาถูกปลูกฝังมาตลอดว่าต้องเรียนดีและต้องเป็นหมอ (เท่านั้น) ซึ่งเขาก็เดินตามเส้นทางนั้นจนกระทั่งได้เจอแรงบันดาลใจอันเปี่ยมพลังจากครูคีตติ้งที่แนะแนวให้เขาค้นหาตัวตนและเดินตามความฝัน
ในที่สุดนีลก็พบว่าตัวเองชอบการแสดง เขาต้องการแรงสนับสนุนจากพ่อแม่ แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามแค่ไหนพ่อก็ไม่อนุญาต
จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะจบชีวิตตนเองลง...
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากหลายเหตุประกอบกันครับ ในทางหนึ่งก็มาจากการที่พ่อของนีลไม่ยอมรับฟังลูก อีกทางก็มาจากกรอบแน่นๆ ที่ฝังหัวนีลมานานนับปี และขณะเดียวกันความรับผิดชอบส่วนหนึ่งก็เป็นของครูคีตติ้งด้วยเช่นกัน
ครูคีตติ้งตั้งใจสอนลูกศิษย์ทุกคนด้วยความปรารถนาดีจากใจ เขาอยากให้ลูกศิษย์ได้เรียนวิชาชีวิตอย่างเต็มที่ และไม่อยากให้พวกเขาต้องติดอยู่แต่กับตำราและองค์ความรู้แบบเก่าๆ จุดนี้ต้องยอมรับว่าครูคีตติ้งมีเจตนาที่ดี
แต่ความจริงประการหนึ่งคือ นักเรียนทุกคนเติบโตมากับกรอบและระบบเดิมๆ ครับ พวกเขายังมีประสบการณ์วิชาชีวิตไม่มาก อันทำให้พวกเขาบางคนไม่สามารถรับมือได้ยามที่ความปรารถนาอันแรงกล้ากลับต้องลงเอยด้วยความผิดหวัง
Cr.weheartit
หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น โรงเรียนเลือกจะเพ่งโทษไปยังครูคีตติ้ง (เหมือนจะบอกว่านี่ไม่ใช่ความผิดของโรงเรียนนะ)
ในขณะที่ครูคีตติ้งยอมรับในทุกบทลงโทษ ไม่ขอแก้ตัวแก้ต่าง ไม่กล่าวอ้างแถลงไขอะไรกับนักเรียน... เขารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างสงบ
จุดนี้ยิ่งทำให้ผมชื่นชมคุณครูคีตติ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก...
บทสรุปแห่งสาระที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ ทุกสิ่งย่อมมีจุดดีและจุดอ่อนครับ อย่างการศึกษาตามตำรานั้นใช่ว่าจะไม่ดี เพราะหนังสือคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สั่งสมมาจากความคิดอ่านของคนหลายยุคสมัย มันคือมรดกทางความรู้ที่คนรุ่นเก่าส่งต่อให้คนรุ่นหลังให้เรานำไปต่อยอด นำไปตรวจสอบ และนำไปปรับปรุงพัฒนานำพาไปสู่สิ่งใหม่ๆ
การศึกษาตำราหาใช่เรื่องผิด แต่หาก "ยึดเอาแต่ตำรา" นั่นต่างหากที่ควรระวัง
ขณะเดียวกันความรู้ก็ไม่ได้มีแค่ในตำรา วิชาชีวิตอีกมากมายหาได้จากประสบการณ์ การลงมือทำ ความผิดพลาด การล้มลุกคลุกคลาน ฯลฯ
ความรู้จากโลกภายนอกมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้จากในตำรา
คงเป็นเรื่องน่าตระหนก หากเด็กคิดเลขได้ แต่ "ลุกหลังจากล้ม" ไม่เป็น...
Cr.forbes
มันต้องหาค่ากลางครับ ต้องหาจุดกึ่งกลางที่พอเหมาะ
เรียนอย่างไรให้รู้ รู้อย่างไรให้รอบ รอบอย่างไรให้รุ่ง
สำหรับผมแล้ว Dead Poets Society คือหนังเปิดโลกอีกเรื่องหนึ่งครับ
ผมเป็นคนรุ่นที่โตมากับการท่องจำ พอได้เจอครูคีตติ้งแล้วตามันโต ใจมันรัว
มันรู้สึกดีที่ได้เห็นว่านอกเหนือจากกรอบที่ครอบเรามานาน ยังมีอะไรอีกหลายอย่างรอให้เราค้นพบ
เมื่อค้นสิ่งอื่นๆ จนพบมากพอแล้ว เราก็จะมองส่วนลึกของตัวเราชัดขึ้นไปด้วย
ทั้งหมดนี้ แด่หนังดีๆ อีกเรื่องที่ควรค่าแก่การชม
แด่ Dead Poets Society ครูครับเราจะสู้เพื่อฝัน ครับ
Cr.thespool
โฆษณา