24 มี.ค. 2020 เวลา 15:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หญิงผู้เป็นอมตะ กับเรื่องราวของ Henrietta Lacks ผู้เป็นเจ้าของตำนานเซลล์อมตะ "HeLa Cells" 😔
แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 70 ปี แต่เซลล์ส่วนหนึ่งของเธอยังคงมีชีวิต เติบโตและแบ่งตัวอยู่ตราบจนทุกวันนี้ 😮
1
Henrietta Lacks เจ้าของ HeLa Cells
Henrietta Lacks หญิงชาวอเมริกัน-แอฟริกัน เกิดในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อปี 1920 ครอบครัวของเธอพื้นเพเคยเป็นทาสชาวแอฟริกันมาก่อน โดย Lacks เกิดจากนายทาสกับแม่ของเธอซึ่งเป็นทาสในฟาร์มนั้นเอง
Lacks เสียแม่ไปตั้งแต่เธอยังเด็กและต้องย้ายไปอาศัยอยู่กับปู่ที่ทำงานในไร่ยาสูบ
Lacks มีลูกคนแรกเมื่อวัยเพียง 14 ปี และยังมีลูกรวมแล้วถึง 5 คนด้วยกัน หลังจากนั้นเธอและครอบครัวได้ย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐแมรี่แลนด์ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
แต่โชคไม่ดี ด้วยวัยเพียง 30 ปี เธอถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกและจากไปอย่างรวดเร็วแค่เพียงไม่ถึงปีของการเข้ารับการรักษา ทิ้งพวกลูก ๆ ของเธอไว้เบื้องหลัง
จบเส้นทางชีวิตของหญิงลูกครึ่งอเมริกัน-แอฟริกันคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีชีวิตโดดเด่นอะไร เฝ้าคอยตามหาชีวิตที่ดีขึ้นหากแต่เรื่องราวไม่ได้จบสวยหรูให้ได้ตราตรึงใจ
แต่จุดจบนี้กลับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำรงอยู่ของส่วนหนึ่งในกายเธอมาจนตราบทุกวันนี้
ในระหว่างที่เธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล Johns Hopkins นั้น แพทย์ได้เก็บตัวอย่างก้อนเนื้อร้ายของเธอมา 2 ชิ้น โดยที่เธอไม่รู้และไม่ได้ให้ความยินยอมในการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมาทำการวิจัย!!
ซึ่งการกระทำแบบนี้ในปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากผิดทั้งจรรยาบรรณแพทย์และอาจจะผิดกฏหมายในบางประเทศ
โดยแพทย์ผู้เก็บชิ้นเนื้อได้ปกปิดตัวตนของเจ้าของตัวอย่างชิ้นเนื้อ โดยลงนามแฝงเป็น Helen Lane ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ HeLa Cells (อักษร 2 ตัวแรกของชื่อเธอ)
ซึ่งเจ้า HeLa Cells นั้นมีความน่าอัศจรรย์ตรงที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยตราบใดที่ยังมีอาหารเพราะเลี้ยง
นั่นก็คือเหล่าแพทย์และนักวิจัยสามารถมีตัวอย่างเนื้อเยื่อมนุษย์เพื่อใช้ในงานวิจัยและทดลองได้แบบไม่จำกัด!!
เหล่า HeLa Cells เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์
ก่อนหน้าที่จะเจอกับ HeLa Cells นั้น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและเนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยงก็มีอายุใช้งานได้เพียงไม่เกินสัปดาห์
แต่กับ HeLa Cells นั้นนักวิจัยแทบจะมีเวลาเป็นอนันต์ในการทดลอง และสามารถทดลองซ้ำกับเซลล์ที่มีลักษณะเดิมซ้ำ ๆ ได้ไม่จำกัดราวกับของวิเศษจากในเทพนิยาย
ผลงานความสำเร็จที่ทำให้ HeLa Cells เป็นที่รู้จักก็คือการใช้ค้นคว้าวัคซีนโปลิโอได้สำเร็จ จนทำให้มนุษย์เราสามารถกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลกได้
หลังจากที่ HeLa Cells เป็นที่รู้จัก ก็ได้ถูกเพาะเลี้ยงแจกจ่ายและขายไปยังห้องแลปต่าง ๆ ทั่วโลกมากมาย สร้างรายได้มากมายมหาศาลให้กับห้องแลปที่เพาะเลี้ยง
HeLa Cells ที่ถูกย้อมสีเพื่อความเหมาะสมในงานที่ศึกษา
HeLa Cells ถูกใช้อย่างกว้างขวางในงานด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงถูกนำขึ้นทดลองในอวกาศเพื่อศึกษาเซลล์มนุษย์ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงด้วย
แม้แต่การค้นคว้ายารักษาอีโบล่าและเอดส์ HeLa Cells ก็ยังถูกใช้ในการวิจัย
HeLa Cells นี้ยังอาจจะช่วยชีวิตสัตว์ทดลองอีกมากมายที่ไม่ต้องสังเวยไปในการทดลองและทดสอบยาต่าง ๆ
** มันช่างสุดยอด แล้วไม่มีผลข้างเคียง?? **
ไม่มีอะไรที่มันจะดีไปได้ซะทุกอย่าง HeLa Cells เองก็เช่นกัน ด้วยความสามารถในการแบ่งตัวอันน่าทึ่งทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อน HeLa Cells ในห้องทดลองต่าง ๆ
คาดกันว่ากว่า 20% ของเนื้อเยื่อที่เพาะในห้องแลปจะมีการปนเปื้อน HeLa Cells
หลายคนอาจสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว HeLa Cells คือเซลล์มะเร็ง?
ภาพ HeLa Cells ที่ถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน
ใช่แล้วครับ เพราะเป็นเซลล์มะเร็งถึงแบ่งตัวได้รวดเร็วอย่างยิ่งยวดนั่นเอง แต่แม้เป็นเซลล์มะเร็ง HeLa Cells ก็ยังใช้เป็นตัวแทนของเซลล์มนุษย์ได้
** ประเด็นด้านศีลธรรมและข้อกฏหมาย **
อย่างที่เล่ามา HeLa Cells ถูกนำมาใช้โดยที่เจ้าของร่างกายไม่ได้รับรู้และให้การยินยอม แต่ด้วยกฏหมายในสมัยนั้นยังไม่ครอบคลุมเรื่องการยินยอมให้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อการวิจัยจากผู้ป่วย
ดังนั้นแพทย์ผู้ที่ทำการเก็บชิ้นเนื้อของเธอมาเพาะเลี้ยงจึงไม่มีความผิดตามกฏหมาย
Hela cells หนึ่งขวดเล็กราคาประมาณ 16,000 บาท แถมฟรี Flash drive 8G!!
ลูกหลานของ Lacks ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางทั่วไปและไม่เคยได้แม้เศษเสี้ยวของผลประโยชน์นับพันล้านที่เหล่าบริษัทยาและห้องแลปต่าง ๆ หาประโยชน์จากตัวอย่างเซลล์ของแม่พวกเขา
รวมถึงข้อมูลพันธุกรรมของเธอถูกนำมาใช้และเผยแพร่ไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์
จนกระทั่งมาภายหลังที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติได้เจรจากับทายาทของ Lacks เพื่อให้ข้อมูลพันธุกรรมนี้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ในงานวิจัยเท่านั้น
กลายเป็นอีกหนึ่งมรดกตกทอดของการกระทำเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในแผ่นดินอเมริกา
ยังไม่รวมถึงการชดเชยความเสียหายให้กับทายาท เพราะการหาผลประโยชน์จากเซลล์ของเธอนั้นมากมายมหาศาล แม้แต่หนังสือหรือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Henrietta Lacks ทายาทของเธอกลับไม่เคยได้อะไรเลย
ตัวอย่างภาพยนต์ เรื่องราวชีวิตของ Henrietta Lacks
กว่า 70 ปีที่ครอบครัวของ Lacks ถูกกระทำ แม้ด้วยข้อกฏหมายที่ไม่สามารถเอาผิดหรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของเธอได้
แต่นั่นก็ทำให้หลายสถาบันการศึกษาเริ่มสนใจประวัติของเธอและให้เกียรติเธอในฐานะผู้มีคุณูปการต่อสถาบัน เช่นโรงพยาบาล Johns Hopkins ได้มีการจัดสัมมนารวมถึงการให้ทุนการศึกษาโดยใช้ชื่อของเธอ
หรือการตั้งชื่อสวนสาธารณะในบัลติมอร์ ซึ่งแม้ไม่อาจทวงคืนความเป็นธรรมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้โลกได้รับรู้ถึงเรื่องราวของ Henrietta Lacks และส่วนหนึ่งของเธอที่ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
หลายพันล้านดวงวิญญานที่วนเวียนอยู่บนผืนปฐพีแห่งนี้ ต่างใช้ชีวิตเพื่อเสาะแสวงหาอะไรบางอย่างและต่างก็แตกดับไปตามกาล หากแต่บางดวงนั้นแม้จะดับสูญไปแล้วแต่ความทรงจำยังคงหลงเหลืออยู่จนวันนี้ 😔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา